คิดว่าตัวเองตกเป็น "เหยื่อ" ทุกสถานการณ์ หนึ่งปัญหาของคน Self Esteem ต่ำ
หนึ่งในอาการของคนที่ Self-Esteem ต่ำ มักจะชอบโทษคนอื่นกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของตัวเอง เนื่องจากพวกเขามีความเชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเขาอยู่นอกเหนือการจัดการ และมาจากปัจจัยภายนอก (External locus of control) ตัวอย่างเช่น หากเขาเรียนแล้วได้เกรดไม่ดี ก็จะโทษว่าเป็นเพราะครู หรือข้อสอบที่ไม่ดี เป็นต้น ซึ่งการปล่อยให้แนวคิดการใช้ชีวิตของตัวเองขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ภายนอก ส่งผลให้พวกเขาเป็นคนที่ไม่กระตือรือร้นที่จะลงมือทำเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่พวกเขาต้องการในชีวิต ใช้ชีวิตในแบบที่ให้คนอื่นชอบ ยอมรับ มักไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่กล้าปฏิเสธคนอื่น ทำให้บ่อยครั้งที่จะโดยคนอื่นเอาเปรียบ การไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆ ส่งผลให้พวกเขาไม่มีความสุขกับชีวิตของตัวเอง เกิดภาวะ Self-Esteem ต่ำ และภาวะวิตกกังวล (Anxiety) ได้
ในชีวิตของคนเรามีทั้งเรื่องราวที่ดี และเรื่องราวที่ไม่ดี (ที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น) เกิดขึ้นกับเราได้เสมอ และเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะรู้สึกเศร้าใจ หรือรู้สึกตกเป็นเหยื่อต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบางครั้ง หรือชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามคนที่มี Self-Esteem สูง จะมีหลักความคิดว่าเขาจะรับผิดชอบกับชีวิตของตัวเอง (Internal locus of control) เรื่องราวที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียงการตัดสินใจที่ไม่ดี ที่พวกเขาสามารถมีทางเลือกในการตัดสินใจแบบอื่น และจัดการกับผลลัพธ์ที่ตามมาได้ หรือแม้แต่เรื่องราวที่เกิดกับพวกเขาแบบนอกเหนือการควบคุม พวกเขาก็สามารถเลือกที่จะปรับมุมมองของตัวเองกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะทำให้พวกเขาเติบโต มากกว่าคร่ำครวญโทษโชคชะตาและไม่จัดการอะไรกับชีวิตของตัวเองเลย ที่สำคัญพวกเขารู้ดีว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้ทำลายคุณค่าในตัวของพวกเขา แต่เป็นเพียงแค่เหตุการณ์ชั่วคราวที่เกิดขึ้น และพวกเขาก็จะผ่านมันไปได้
แพรเชื่อว่า หลายๆ คนคงจะเจอคนใกล้ตัวที่มีปัญหา Self-Esteem ต่ำ มักมีเรื่องราวโชคร้ายที่เกิดขึ้นกับเขามาเล่าให้ฟังอยู่เสมอ ทำให้เรารู้สึกว่าตัวของเขาเองน่าสงสาร เป็นเสมือน "เหยื่อ" ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้มีปัญหาทางสุขภาพจิต ซึ่งในทางจิตวิทยาเรียกว่า “Victim Mentality” หรือคนที่มีความคิดที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นเหยื่อต่อโชคชะตา และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเขามาจากคนอื่นแทบทั้งสิ้น
คนประเภท Victim Mentality จะรู้สึกว่า สิ่งแย่ๆ มักเกิดขึ้นกับชีวิตของเขา มีความคิดในแง่ลบ เขาไม่สามารถจัดการหรือควบคุมกับสถานการณ์หรือชีวิตของตัวเองได้เลย และคนอื่นควรที่จะต้องเห็นใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา แต่อันที่จริงแล้ว คนกลุ่ม Self-Esteem ต่ำนี้ มีความกลัวและหลีกเลี่ยงที่จะรับผิดชอบต่อชีวิตของตนเองและคนอื่น การรู้สึกว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อต่อสถานการณ์ทำให้พวกเขาคิดว่า พวกเขาไม่ต้องจัดการทำอะไรเลย
สิ่งที่คนประเภท Victim Mentality ต้องการได้รับ ก็คือ
1) การได้รับความสนใจ
2) รู้สึกมีคุณค่า (เมื่อได้รับความสนอกสนใจจากคนอื่น)
3) อำนาจ (ที่จะให้คนอื่นทำบางอย่างให้เพราะสงสาร)
และในบางครั้งเราอาจพบคนที่มีความสัมพันธ์กับคนประเภท Victim Mentality ถูกทำร้ายด้วยคำพูด หรือการกระทำ แต่เมื่อเราตอบโต้กลับ เขาก็มักจะแสดงตัวเองว่าเป็นเหยื่อและน่าสงสาร ให้ผู้ทำร้ายรู้สึกผิด เป็นต้น
Victim Mentality มีสาเหตุมาจากหลายอย่าง โดยเฉพาะการเลี้ยงดูและชีวิตในวัยเด็ก (อ่านบทความ “โดนแกล้งตั้งแต่เด็ก จะมีผลอย่างไรกับการเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต" ) เช่น
เรียนรู้จากคนในครอบครัว ตัวอย่างเช่น มีพ่อหรือแม่ที่มักจะบ่นถึงความโชคร้าย หรือคนอื่นทำให้ตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ทำให้คนอื่นในครอบครัวต้องคอยดูแลเขา เพราะความรัก ทำให้เรามีพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะการทำแบบนั้นจะทำให้เรารู้สึกได้รับความสนใจ และ มีคนทำสิ่งต่างๆ ให้ เป็นต้น
อยู่ในครอบครัวที่ตัวเองต้องเป็นคนที่ดูแลใครบางคนที่ไร้ความสามารถ ตัวอย่างเช่น มีพ่อหรือแม่ที่ไม่สบายที่เราต้องดูแล หรือ ต้องพึ่งพาเราในการที่ครอบครัวจะมีความสุขหรือทุกข์ การอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ที่เด็กทุกคนต้องการความรักจากพ่อแม่ ทำให้พวกเขารู้สึกว่าต้องทำแบบไม่มีทางเลือก และทำให้เติบโตเป็นคนที่มีความคิดแบบ victim mentality ได้
พวกเขาเรียนรู้ที่จะใช้ Victim Mentality ในการเอาชีวิตรอด คนกลุ่มนี้ ต้องการความรัก และความสนใจในวัยเด็ก และทางที่พวกเขาจะเรียกร้องสิ่งนี้ได้คือ การทำตัวให้น่าสงสาร เพื่อให้ได้รับความรัก ความสนใจ และการปกป้องจากคนที่ดูแลพวกเขา
กลุ่มคนที่เติบโตในครอบครัวที่ทำร้ายพวกเขา ตัวอย่างเช่น เด็กที่ถูกใช้ความรุนแรง ข่มขืน คนเหล่านี้จะโตมาโดยมี Self esteem ต่ำ และรู้สึกว่าโลกใบนี้มันโหดร้ายและไม่ปลอดภัยกับพวกเขา
วิธีในการรับมือกับคนประเภท Victim Mentality
เราทุกคนควรที่จะรับผิดชอบกับชีวิตของตัวเอง ไม่มีใครที่จะช่วยทำให้ชีวิตของคนอื่นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ ถ้าคนเหล่านั้นไม่พร้อมที่จะช่วยเหลือตัวเองก่อน แพรได้อ่านบทความจิตวิทยา เกี่ยวกับวิธีในการรับมือคนประเภท victim mentality และคิดว่ามีประโยชน์มาก ซึ่งอยากนำมาแบ่งปันค่ะ
1.เมื่อคนนั้นเป็นเพื่อน หรือ ญาติ
เมื่อคนประเภท victim mentality เริ่มบ่นกับปัญหาชีวิตเดิมๆ ให้เรายิ้มและพูดกับเขาอย่างสุภาพและอ่อนโยนว่า “มิตรภาพของเราสำคัญนะ แต่การบ่นเกี่ยวกับปัญหาเดิมๆ ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น ฉันสามารถฟังสิ่งที่เธออยากจะคุยได้สัก 5 นาทีเท่านั้น เว้นเสียแต่ว่า เราจะมาหาทางออกกับปัญหากัน”
2.เมื่อคนนั้นเป็นเพื่อนร่วมงาน
เราสามารถใช้คำพูดดังต่อไปนี้ “ฉันรู้สึกเสียใจนะที่เรื่องนี้เกิดขึ้นกับคุณ ฉันเอาใจช่วยให้ทุกอย่างคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นนะ ฉันต้องไปทำงานแล้ว พอดีฉันจะต้องส่งงานด่วน เข้าใจฉันนะ”
ยิ่งเรามีปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มนี้น้อยเท่าไรยิ่งดี
3.กับตัวเอง
ถ้ารู้สึกว่าเรากำลังเป็นคนที่มีความคิดแบบ victim mentality และต้องการที่จะรักษามัน ให้เราคิดถึงความโชคดีของชีวิตของเราเมื่อเทียบกับคนอีกหลายๆ คนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่แย่กว่าอีกเป็นจำนวนมาก และพยายามเผชิญหน้ากับความรู้สึกโกรธ เศร้าใจ อับอาย และความกลัวที่เกิดขึ้น และตระหนักว่า victim mentality สามารถหายได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะกำลังเผชิญกับคนที่มีปัญหาเรื่อง Self-Esteem ต่ำ หรือคิดว่าตัวเองกำลังประสบปัญหานั้น การเรียนรู้ที่จะเข้าใจความคิด และความรู้สึกของตัวเองและคนอื่น เป็นเรื่องที่สำคัญ การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เช่นนักจิตวิทยา ที่จะทำให้เรารู้สึกปลอดภัย ไม่ตัดสิน เพื่อหาที่มาที่ไปของปัญหา และจัดการกับมันก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีมากๆ นะคะ
iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง
สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)
และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop
รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
Contact : https://www.istrong.co/service
Comments