5 เทคนิคเสริม Self-Efficacy ให้ลูกรักตามคำแนะนำของนักจิตวิทยา
ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาท่านหนึ่งแนะนำไว้ว่า การที่จะให้ลูกรักของเราประสบความสำเร็จ เราต้องเสริม Self-Efficacy หรือการรับรู้ความสามารถตนเองของลูกให้แข็งแกร่ง เพื่อเป็นรากฐาน ของ Self-esteem หรือความภาคภูมิใจในตนเอง แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ทำก็คือ การปฏิบัติต่อลูกในฐานะของ “ผู้สร้างลูก” ก็คือ กำหนดแผนที่ชีวิตของลูกไปทุกสิ่ง ทั้งการแต่งตัว การเลือกโรงเรียน การเลือกสายการเรียน การเลือกเพื่อน การเลือกคณะ การเลือกมหาวิทยาลัย ไปจนถึงการเลือกอาชีพเลยทีเดียว และภาคภูมิใจมากที่ลูกสามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้ โดยไม่ได้รับรู้เลยว่าลูกมีความสุขหรือไม่ ซึ่งสถิติจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บอกไว้ว่า ในปี 2562 มีวัยรุ่น อายุ 11 - 19 ปี โทรมาขอรับบริการปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต ประมาณ 10,000 สาย และปัญหาสุขภาพจิต ที่พบมากที่สุด คือ ความเครียด/วิตกกังวล คิดเป็น 51.36% เลยทีเดียว แล้วนี่ยังไม่นับรวมไปถึงกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่ได้โทรมาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 อีกนะคะ
โลกในปัจจุบันนี้อยู่ยากจริงอะไรจริงค่ะคุณผู้อ่าน ถ้าเด็กไม่เข้มแข็งจริงอยู่ลำบาก ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับเด็กที่ถูกเลี้ยงมาโดยคุณพ่อคุณแม่ที่เป็น “ผู้สร้างลูก” มักจะมีแนวโน้มยอมตาม (Passive) มี Self-Efficacy น้อย ทำให้มี Self-esteem น้อยไปด้วย และด้วยการที่มี Self-Efficacy ไม่แข็งแรง ก็จะทำให้ลูกของเราไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต แก้ปัญหาชีวิตไม่เป็น ไม่กล้าขอคำปรึกษาจากเรา เพราะเขาเห็นเราเป็น “ผู้ควบคุม” ไม่ใช่ “ผู้ให้ความรัก”
ดังนั้น จะดีกว่าหรือไม่คะ หากเราจะปรับเปลี่ยนตัวเองจากพ่อ แม่ ที่เป็น “ผู้สร้าง” “ผู้ควบคุม” มาเป็นพ่อ แม่ ที่ทำให้ลูกมีความสุขในการใช้ชีวิตจริง ๆ ซึ่ง Julie Lythcott – Haims นักเขียนหนังสือจิตวิทยาครอบครัว ชาวไนจีเรีย ได้บอกไว้ในเวที Ted Talk ว่า “การที่จะให้ลูกประสบความสำเร็จ เราต้องเสริม Self-Efficacy ของลูกให้แข็งแกร่ง เพื่อเป็นรากฐานของ Self-esteem” ด้วย 5 วิธี ดังนี้ค่ะ
1. อย่าจำกัดความสำเร็จของลูกเพียงแค่เรื่องเรียน
จากประสบการณ์ 31 ปี ของดิฉัน ทำให้เห็นว่า “การเรียนไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต” แต่ในการใช้ชีวิตจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีความรู้ และประสบการณ์ค่ะ ดังนั้น ข้อแรกของคำแนะนำในการเสริม Self-Efficacy ตามแบบฉบับผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาครอบครัว ก็คือ สนับสนุนให้ลูกเรียนรู้ และมีประสบการณ์ในการใช้ชีวิต แต่อย่าไปบังคับให้ลูกเรียนในสิ่งที่เรา “อยาก” จะให้ลูกเรียน เด็กทุกคน ต่อให้พ่อ แม่ เดียวกัน ก็มีความชอบ ความสนใจ คนละแบบกันค่ะ และขอให้เปิดใจให้กว้างเกี่ยวกับอาชีพ ในอนาคตของลูก เพราะในศตรวรรษที่ 21 นี้ อาชีพอะไรถ้ามีใจรัก และไม่ทำให้ใครเดือดร้อนก็ดีทั้งนั้นค่ะ ไม่ว่าจะเป็น แรปเปอร์ แดนซ์เซอร์ เชฟ นักร้อง Cover ปลูกบอนไซ และอื่น ๆ อีกมากมาย ล้วนเลี้ยงชีพของลูกเราได้ทั้งนั้นเลยค่ะ เพียงแค่เราสนับสนุนให้เขาเจอทางที่ใช่ และไม่กดดันให้เขาทำงาน ที่เรา “อยาก” ให้ทำ
2.ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง โดยเริ่มจากงานบ้าน
งานวิจัยทางจิตวิทยาจาก Harvard Grant Study พบว่า การสอนให้ลูกทำงานบ้านนั้น มีประโยชน์หลายอย่างในระยะยาว เพราะลูกของเราจะมีการเตรียมตัวให้พร้อมต่อการทำงานในอนาคตได้ฝึกการวางแผน ฝึกการจัดลำดับความสำคัญ ฝึกการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า กล้าคิด กล้าตัดสินใจ ฝึกระเบียบ และที่สำคัญนะคะจะทำให้ลูกของเรามี Self-Efficacy และมี Self-esteem ตามมา แต่การให้ลูกทำงานบ้านนั้น ในช่วงแรกเราต้องเข้าไปช่วยลูกพอสมควรเลยค่ะ แล้วค่อย ๆ ปล่อยให้ลูกรับผิดชอบเป็นเรื่อง ๆ ไป เพราะหากโยนงานบ้านทั้งหมดให้ลูกทำ ลูกจะเทเราแน่นอนค่ะ
3.ให้ความรักแก่ลูกแบบจริงใจ
งานวิจัยทางจิตวิทยาจาก Harvard Grant Study พบว่า ความสุขในชีวิต แปรผันตรงกับการได้รับความรัก นั่นก็คือ ยิ่งลูกของเราได้รับความรักมากเท่าไร เขาก็จะมีความสุขในการใช้ชีวิตมากขึ้นเท่านั้นค่ะ แต่ต้องเป็นความรักแบบไม่มีเงื่อนไขนะคะคุณผู้อ่าน ไม่ใช่แบบว่าลูกสอบเข้าโรงเรียนนี้ก่อนพ่อ แม่ถึงจะแสดงความรัก เพราะถ้าเป็นแบบนั้น ลูกจะเกิดความรู้สึกว่า “ฉันต้องทำตามความคาดหวังของพ่อ แม่ ให้ได้ก่อน พ่อ แม่ ถึงจะรัก” หากลูกมีความคิดแบบนั้นขึ้นมา เมื่อลูกไม่สามารถทำตามความคาดหวังของเราได้ จะทำให้ลูกเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า หรือต่อต้านพ่อ แม่ สูงมากค่ะ เพราะลูกไม่มีทั้ง Self-Efficacy และ Self-esteem
4.ใส่ใจให้ถูกจุด
โดยใส่ใจเรื่องผลการเรียนให้น้อยลง แต่ใส่ใจเรื่องความรู้สึกของลูกให้มากขึ้น ด้วยวิธีการง่าย ๆ เลยค่ะ ถามลูกบ้างว่าเรียนเป็นอย่างไร? มีปัญหาอะไรที่โรงเรียนหรือเปล่า? เข้ากับเพื่อนได้ดีไหม?
มีความสุขในการใช้ชีวิตไหม? ต้องการให้พ่อ แม่ เสริมอะไรให้บ้าง? การแสดงความใส่ใจ รับฟังสุข-ทุกข์ของลูกเพียงเท่านี้ เราก็สามารถเปลี่ยนบทบาทเราในสายตาลูก จาก “ผู้สร้าง” เป็น “ผู้ให้ความรัก” และยังสามารถส่งเสริม Self-Efficacy ของลูกให้เข้มแข็ง และมี Self-esteem ที่เหมาะสมได้แล้วค่ะ
5.ลดการควบคุม เพิ่มคำแนะนำ และปรับบทบาทให้เป็นที่ปรึกษากับลูก
คุณผู้อ่านคงเคยเกิดความรู้สึก “รำคาญ” และ “หงุดหงิด” กับพ่อ แม่ ของเราเองที่ต่อให้เราอายุมากขึ้นเท่าไร ท่านก็ยังคงเห็นเราเป็นเด็กน้อยที่ต้องคอยสั่ง คอยจ้ำจี้จ้ำไชไปเสียทุกเรื่องไหมคะ หากคุณผู้อ่านไม่ชอบความรู้สึกข้างต้น ก็ขออย่าได้ไปปฏิบัติกับลูกของเราประหนึ่งว่าหยุดอายุเขาไว้ที่ 5 ขวบ เลยค่ะ เราเป็นคนให้กำเนิดเขาก็จริง แต่ชีวิตเป็นของลูกเอง เพราะฉะนั้น เราไม่ใช่คนที่คอยไปควบคุมว่าลูกจะเดินไปทางไหน เราทำได้เพียงเป็นเพื่อนร่วมทาง เป็นคนแนะนำ ให้คำปรึกษา และ อยู่เคียงข้างในวันที่เขาต้องการค่ะ
บทความแนะนำ “10 วิธีช่วยให้คนที่คุณรักพัฒนา self-esteem” และ “4 เทคนิคการเลี้ยงลูกให้มี self-esteem สูง”
ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว Self-Efficacy และ Self-esteem เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขค่ะ ซึ่งคุณผู้อ่านที่เป็นคุณพ่อ คุณแม่ หรือต้องการแนะนำวิธีการ ที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาแนะนำ ทั้ง 5 วิธี ไปบอกต่อกับคุณพ่อ คุณแม่ ก็ยินดีเลยนะคะ เพราะความสุข ของเด็ก ๆ ในวันนี้ จะทำชีวิตเขาประสบความสำเร็จในวันหน้าได้ค่ะ
และหากคุณพ่อ คุณแม่ท่านใด ที่อยากพัฒนาทักษะที่ปรึกษา ทักษะสำคัญสำหรับพ่อแม่ยุคใหม่ เพิ่มความสามารถในการสร้างความไว้วางใจกันและกันในครอบครัว โดยเฉพาะพ่อแม่กับลูกวัยรุ่น มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ทักษะการให้คำปรึกษากับไอสตรองนะคะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง : 1. Julie Lythcott-Haims. November 2015. How to raise successful kids — without over-parenting. (Online). From : https://www.ted.com
2. nationtv. 10 กุมภาพันธ์ 2563. กรมสุขภาพจิต เผยวัยรุ่นไทยปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต ปี 62 พบ "ปัญหาเครียด" มากสุด. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2563 จาก https://www.nationtv.tv
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก
บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช.
และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี
ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี
Comments