ฤดูกาลมีผลต่อสุขภาพจิตจริงหรือไม่? ร้อนหัวไหม้ เสียใจตอนฝนตก
ถึงแม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาจะได้ประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แต่ความร้อนจริงและความร้อนที่รู้สึกในหลาย ๆ พื้นที่ก็ยังคงทำลายสุขภาพจิตของเรา เพราะความที่อุณหภูมิใกล้ 40 องศา ทำให้เรารู้สึกเหมือนว่าอยู่ในเตาอบ และทำให้หลายคนเกิดอาการหัวร้อน จนปรากฏอยู่ในข่าวบ่อย ๆ และนั้นก็ทำให้เกิดความสงสัยว่าอุณหภูมิมีผลต่อความรู้สึกของเราจริงหรือไม่? และฤดูกาลส่งผลต่อสุขภาพจิตของเราอย่างไร? ในบทความจิตวิทยานี้หาคำตอบมาให้เรียบร้อยแล้วค่ะ
ปัญหาสุขภาพจิตที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ หรือการเปลี่ยนฤดูกาลที่คนไทยคุ้นหูกันมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล หรือ Seasonal Affective Depression เรียกสั้น ๆ ว่า SAD อาการโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลก็คือ ผู้ป่วยจะมีอาการซึมเศร้าเมื่อเปลี่ยนฤดูกาล ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงเข้าฤดูหนาว (winter blues) เพราะบรรยากาศรอบตัวที่ดูแห้งแล้ง อุณหภูมิลดลง แต่คนไทยหลายคนมักจะเกิดโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน เพราะบรรยากาศไม่สดใส ขมุกขมัว ฝนตกตลอดเวลายิ่งพาให้หดหู่ แต่ก็มีบางบ้างคนที่มีอาการซึมเศร้าเมื่อเข้าฤดูร้อน เพราะร่างกายปรับตัวไม่ทัน จึงรู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่อ ไม่อยากจะทำอะไร
เมื่อไปค้นงานวิจัยเชิงจิตวิทยาที่เกี่ยวข้อง ก็พบว่ามีผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลในเชิงของความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนอุณหภูมิกับสุขภาพจิตไว้มากมายเลยค่ะ ดังเช่น การศึกษาในประเทศอังกฤษและเวลส์ ระหว่างปี ค.ศ. 1993 - 2003 (10 ปี) พบว่า เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในทุก ๆ 1°C จะส่งผลต่อความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายของประชากรที่เพิ่มขึ้นถึง 3.8% ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาของประเทศฟินแลนด์ ที่พบว่า เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในทุก ๆ 1°C จะส่งผลให้เกิดเหตุอาชญากรรมทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 1.7% และเช่นเดียวกับงานวิจัยทางจิตวิทยาของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่พบว่า าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดการทำร้ายร่างกายในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านครั้งเลยทีเดียว นอกจากนี้ผลการศึกษาจากสถาบันสังคมวิทยาของเยอรมนี เมื่อปี ค.ศ. 2013 ยังพบว่า ผู้ที่ทำแบบสำรวจในวันที่มีแสงแดดจัดเป็นพิเศษ ระบุว่า พึงพอใจในชีวิต มากกว่าผู้ที่ตอบแบบสอบถามในวันที่มีสภาพอากาศที่ไม่มีแสงแดด
แล้วเพราะเหตุใดสภาพอากาศ อุณหภูมิ หรือฤดูการจึงมีผลต่อสุขภาพจิตของเราเช่นนั้น จิตวิทยามีคำตอบค่ะ จากบทความของ Tecsia Evans นักจิตวิทยาคลินิกในซานฟรานซิสโก อธิบายไว้ว่า เนื่องจากร่างกายของคนเรามีฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ชื่อคุ้นหูเราดี คือ “เซโรโทนิน (Serotonin)” ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาทและสมอง ที่ส่งผลต่อกระบวนการคิด พฤติกรรม และอารมณ์ โดยเจ้าเซโรโทนินนี้จะหลั่งออกมามากขึ้นเมื่อคนเราได้รับคาร์โบไฮเดรตหรือแสงแดด และจะลดลงเมื่อไม่มีแสงแดดหรืออยู่ในช่วงฤดูหนาวที่กลางวันมีระยะเวลายาวนานกว่ากลางคืน นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าการขาดแสงแดดยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ที่อาศัยในประเทศที่มีฤดูหนาวยาวนาน รวมถึงคนที่ย้ายจากประเทศในแถบศูนย์สูตร (ร้อนจัด แสงแดดจ้า) ไปอยู่ที่ประเทศแถบหนาว (หนาวจัด ไม่ค่อยมีแสงแดด) จนทำให้เกิดโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลขึ้นมานั่นเอง
นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยายังได้แนะนำวิธีรับมือต่อโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล หรือปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ หรือฤดูกาล ไว้ดังนี้ค่ะ
1. อย่าปล่อยให้ตัวเองอยู่เฉย ๆ
การนอนอืดอยู่บนเตียงเป็นการพักผ่อนที่ดีก็จริง ถ้าทำในระยะเวลาที่พอเหมาะ เช่น 5 นาทีก่อนลุกขึ้นมาใช้ชีวิตตอนเช้า หรือ 15 นาทีก่อนนอน แต่ถ้าเรานอนอยู่บนเตียงทั้งวันไม่ลุกไปไหน แทนที่เราจะชาร์ตแบตชีวิต จะกลายเป็นทำแบตเสื่อมไปแทน เพราะนั่นทำให้เราหมดพลัง หมดแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิต เพราะฉะนั้นการหากิจกรรมที่ชื่นชอบทำ เช่น เดินเล่น ทำสวน เล่นกับลูก เล่นกับสัตว์เลี้ยง จะช่วยให้ร่างกายกระปี้กระเปร่าได้มากเลยค่ะ
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ถึงแม้ว่าตารางชีวิตของเราในแต่ละวันจะแน่นขนัด แต่ก็ขอให้หาเวลาสำหรับการออกกำลังกาย อย่างน้อย 30 นาที/วัน สัก 3 วัน/สัปดาห์ เพราะมีข้อมูลจากงานวิจัยของประเทศอังกฤษ พบว่า การออกกำลังกายเป็นประจำอย่างต่อเนื่องช่วยเรื่องอาการซึมเศร้าได้ เนื่องจากจะช่วยเรื่องการรักษาสมดุลของสารสื่อประสาท หรือฮอร์โมนในร่างกายนั่นเอง
3. อยู่กับครอบครัวให้มากขึ้น หรือออกไปพบปะเพื่อนฝูงบ้าง
ในวันที่ฟ้าครึ้ม ฝนตกหนัก พายุเข้า หรืออากาศหนาวจัด ๆ การทำกิจกรรมกับคนที่เรารัก ไม่ว่าจะครอบครัว เพื่อนสนิท หรือสัตว์เลี้ยง ก็ช่วยให้เรามีชีวิตชีวามากขึ้นได้ค่ะ เช่นเดียวกันในวันที่ร้อนอบอ้าว หรือร้อนจัด ๆ การไปทำกิจกรรมเย็น ๆ ร่วมกับคนที่เรารัก เช่น ไปสวนน้ำ เล่นน้ำ หรือดูซีรี่ย์ในห้องแอร์ ก็ช่วยให้เราหายหงุดหงิด หายอ่อนเพลียได้ดีค่ะ
4. พักผ่อนให้เพียงพอ
ในวันที่เรานอนไม่ดี หลับไม่สนิท หรือทำงานหนักจนไม่ได้พักผ่อน เราจะความอดทนต่ำ หัวร้อนง่าย และไม่ค่อยมีสติในการใช้ชีวิตใช่ไหมคะ ดังนั้นจึงขอแนะนำให้คุณพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานของที่มีประโยชน์ รักษาสมดุลในการใช้ชีวิต แล้วสุขภาพจิตเราจะแข็งแรง สภาพจิตใจเราจะสดใสมากขึ้นค่ะ
5. ฝึกผ่อนคลายความเครียดด้วยเทคนิคต่าง ๆ
ในวันที่ร้อนจนหงุดหงิด หรือฝนตกจนเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย หรือหนาวจนไม่อยากทำอะไร ในช่วงเวลานั้นความเครียดต่าง ๆ จะทำงานได้ดีค่ะ ดังนั้นการใกลดความเครียดจะช่วยดูแลสุขภาพจิตของเราได้มาก ไม่ว่าจะเป็นการฝึกสมาธิ การฝึกหายใจ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การใช้จินตนาการ การบอกเล่าเรื่องราวหนักใจให้ใครบางคนฟัง จะช่วยลดความเครียดของเราลงไปได้มากทีเดียว
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าฤดูกาลมีผลต่อสุขภาพจิตจริง และส่งผลอย่างรุนแรงเสียด้วย เพราะฉะนั้นแล้วหากเราเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายของเรา รู้ทันสาเหตุของโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล เราก็สามารถรับมือและรักษาสุขภาพจิตของเราให้แข็งแรงได้ค่ะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง :
1. Natetida Bunnag. (2021, 10 พฤศจิกายน). ยิ่งอุณหภูมิโลกร้อนขึ้น ปัญหาสุขภาพจิตและการใช้ความรุนแรงจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2566 จาก https://www.sdgmove.com/2021/11/10/warmer-global-worsen-mental-health-and-violence-problems/
2. PPTVHD. (2565, 14 ตุลาคม). รู้จักภาวะ SAD ซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลก่อนเข้าหน้าหนาว. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2566 จาก https://www.pptvhd36.com/health/how-to/2101
3. นภสร ทองหล่อ. (2565, 12 มิถุนายน). ไขข้อสงสัย "สภาพอากาศ" มีผลต่ออารมณ์อย่างไร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2566 จาก https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1009511
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก อดีตนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comentários