ทำไมการพูดประชดประชันจิกกัดถึงทำลายความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
ในความสัมพันธ์รูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบสามีภรรยา พ่อแม่ลูก เพื่อน เพื่อนร่วมงาน แฟน ฯลฯ มักจะพบว่ามีบางคนที่ติดนิสัยชอบพูดประชดประชันจิกกัด (sarcasm) แล้วมีการรับรู้ตัวเองว่าเป็นคนติดตลกชอบพูดขำ ๆ โดยไม่ทันคิดว่าคนฟังไม่ได้รู้สึกตลกไปกับคำพูดเหล่านั้นเลย ซึ่งการพูดเสียดสีประชดประชันนั้นเป็นการสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพและมักจะก่อให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ขึ้นตามมา โดยนักเขียนที่มีชื่อว่า Shaunti Feldhahn ได้กล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้การใช้อารมณ์ขันแบบจิกกัดกลายเป็นสิ่งที่ทำลายความสัมพันธ์ ดังนี้
1. ผู้คนจะไม่เชื่อใจคุณอีกต่อไป ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เล่าเรื่องสำคัญให้ใครสักคนฟัง แต่อีกฝ่ายกลับทำเหมือนว่าเรื่องที่เล่าไปมันเป็นเรื่องตลกหรือวกกลับเอาเรื่องนั้นมาล้อเลียนจิกกัด มันก็จะทำให้รู้สึกว่าไม่อยากจะเล่าอะไรให้กับคน ๆ นี้ฟังอีกต่อไปเพราะเล่าไปอีกฝ่ายก็เหมือนจะไม่แคร์ และมันจะทำให้ผู้คนรู้สึกอยากจะอยู่ให้ห่างจากคนที่เป็นแบบนี้
2. คุณจะกลายเป็นคนใจร้าย คนที่พูดอาจจะแค่คิดว่าการเสียดสีประชดประชันมันเป็นแค่มุกตลก และบางครั้งทั้งสองฝ่ายก็ต่างทำต่อกันคือประชดมาก็ประชดกลับชิงไหวชิงพริบกัน แต่การเสียดสีประชดประชันมันจะค่อย ๆ ทำให้มองไม่เห็นความหมายที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่ในคำพูด ทำให้ละเลยความรู้สึกของอีกฝ่ายและกลายเป็นคนติดนิสัยชอบพูดเสียดสีประชดประชันไปแบบไม่คิด
3. คุณจะไม่ได้รับความคิดเห็นที่จริงใจ ถ้าคุณกลายเป็นคนที่ขึ้นชื่อเรื่องชอบพูดเสียดสีประชดประชันหรือชอบเล่นมุกแบบจิกกัด คนอื่นก็จะพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเข้าใกล้คุณรวมถึงแสดงความคิดเห็นตักเตือนคุณ เพราะยิ่งพวกเขาห่างจากคุณได้มากเท่าไหร่ก็จะยิ่งปลอดภัยจากการถูกคุณประชดประชันจิกกัดมากเท่านั้น
4. ความสนิทกันจะลดลง ยิ่งสนิทกันยิ่งกล้าเผยความเปราะบางออกมาให้กันและกันเห็นได้ แต่ถ้าคนรอบข้างของคุณไม่สามารถที่จะเผยความเปราะบางออกมาให้คุณเห็นได้เพราะว่าไม่อยากจะโดนคุณเสียดสีจิกกัด และไม่อยากให้เรื่องที่เป็นความอ่อนไหวเปราะบางของตัวเองกลายเป็นเรื่องตลกขบขัน พวกเขาก็จะพยายามสนิทกับคุณให้น้อยลงและมีกำแพงกับคุณมากขึ้น
5. การมีอารมณ์ขันแบบจิกกัดประชดประชันมีแต่จะทำให้รู้สึกไปในทางลบมากกว่าทางบวก เพราะมันจะทำให้คนฟังรู้สึกว่าตัวเองโดนเหยียดหยามไม่ให้เกียรติ และในที่สุดมันก็จะทำให้รู้สึกเป็นการยากที่จะมองคนที่ชอบจิกกัดประชดประชันในแง่ดี
6. การประชดประชันเสียดสีทำให้เกิดบรรยากาศที่ไม่ดีขึ้นมา การประชัดประชันเสียดสีมันสามารถแพร่ต่อกันได้ เมื่อต่างคนต่างพูดประชดประชันเสียดสีใส่กันมันจึงทำให้เกิดบรรยากาศที่ไม่ดีขึ้นมา
การใช้อารมณ์ขันแบบจิกกัดนั้นมักจะมีลักษณะเด่นก็คือคำพูดและภาษากายมันไม่ไปด้วยกัน เช่น พูดเหมือนจะชมว่า “ดีมาก” แต่ภาษากายและน้ำเสียงมันกลับไปได้ชวนให้รู้สึกว่ากำลังถูกชมอยู่ ทำให้คนฟังรับรู้ได้ว่านี่ไม่ใช่การชม และในหลายครั้งที่คำที่พูดออกมานั้นช่างสุภาพเหลือเกินแต่กลับทำให้คนฟังรู้สึกว่ามันคือการแสดงออกที่หยาบคาย
วิธีการรับมือแบบ “stay cool” เมื่อต้องเจอกับคำพูดประชดประชันจิกกัด
จากบทความของ Ellen Hendriksen ได้พูดถึงวิธีการรับมือกับคำพูดประชดประชันจิกกัดแบบใจร่ม ๆ เอาไว้ 3 วิธี ได้แก่
1. ตอบกลับตามความเป็นจริง คำพูดประชดประชันจิกกัดมักจะมาในรูปแบบของมุกตลกที่แฝงด้วยการดูถูกหรือความหมั่นไส้ วิธีการรับมือก็คือตอบกลับตามความเป็นจริงและทำให้มันเป็น “มุกแป้ก” ที่คุณไม่ได้รู้สึกตลกด้วยเลย
2. เมินคำพูดประชดประชันจิกกัดไป (ด้วยจิตใจที่เมตตา) บางคนอาจจะเป็นคนที่พยายามกดคนอื่นลงเพราะว่าตัวเองไม่มีความสุข และอาจจะอยากให้คนอื่นหยาบโลนเหมือนตัวเอง วิธีการรับมือคือมองคนเหล่านี้ด้วยจิตใจที่เมตตาแล้วมูฟออนไปเลย
3. เตือนเขาไปตรง ๆ คำพูดประชัดประชันจิกกัดนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย บางคนก็พูดออกมาโดยที่ไม่รู้ตัว และบางคนก็มีอารมณ์ขันแบบจิกกัดได้ทั้งกับคนอื่นและกับตัวเองซึ่งคุณก็อาจจะปล่อยพวกเขาไปก็ได้ แต่ถ้าหากคน ๆ นั้นเป็นคนที่คุณรักและคุณรับรู้ได้ว่าพวกเขาเป็นคนติดตลกเกินขอบเขตโดยไม่รู้ตัว การสะท้อนให้พวกเขารู้ตัวแบบตรงไปตรงมาแต่นุ่มนวลก็จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย
ผู้เขียนเชื่อว่าไม่มีใครบนโลกนี้ที่ชอบฟังคำพูดประชัดประชันจิกกัดโดยเฉพาะถ้าคนที่พูดเป็นคนใกล้ชิด เพราะจากที่เคยรับฟังเรื่องราวของหลายคนที่มาเล่าให้ฟังก็พบว่าคำพูดประชดประชันจิกกัดนั้นทำร้ายจิตใจเป็นอย่างมาก ซึ่งตรงกับที่กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่าเมื่อคุยกับใครแล้วอีกฝ่ายใช้คำพูดประชดประชันจิกกัดหรือทำให้เรื่องที่เล่าออกไปมันเป็นเรื่องตลกขบขันก็เริ่มรู้สึกอยากจะถอยตัวออกจากความสัมพันธ์ ไม่อยากสนิทสนมหรืออยู่ใกล้คน ๆ นั้นอีกต่อไป ดังนั้น ผู้เขียนอยากสนับสนุนให้ทุกคนมีสติก่อนที่จะสื่อสาร เลือกใช้คำพูดที่ไม่ทำร้ายจิตใจกันและกัน ฝึกใช้คำพูดที่ถนอมน้ำใจกันและกันเพื่อรักษาความสัมพันธ์ให้ราบรื่นยืนยาว
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง:
[1] Why Sarcasm Can Seriously Damage a Relationship. Retrieved from https://www.psychologytoday.com/intl/blog/fulfillment-at-any-age/202404/keep-the-sarcasm-in-check-to-keep-your-relationship-alive?utm_source=FacebookPost&utm_medium=FBPost&utm_campaign=FBPost&fbclid=IwZXh0bgNhZW0CMTEAAR04JVPWSzbyt4l8HRXr5IUYA1HXQ20BKwuLFze-g1DeqWe243WnIJZOwng_aem_AaRwlQRA29royaNW5AMhorZDFGAq09duqUxH6uOYEGai3nbYP10KoDziwyTmd-ZL-8vJj8fdG2QEgzNF4rczXL8B
[2] 6 Reasons Sarcasm Kills Relationships. Retrieved from https://homeword.com/jims-blog/6-reasons-sarcasm-kills-relationships-2/
[3] 3 Ways to Stay Cool in the Face of Sarcasm. Retrieved from. https://www.psychologytoday.com/intl/blog/how-to-be-yourself/201609/3-ways-to-stay-cool-in-the-face-of-sarcasm
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
Comments