SAKAMOTO DAYS กับ 6 แนวคิดการใช้ชีวิตด้วยหลักจิตวิทยา Empathy
- Chanthama Changsalak
- 1 hour ago
- 1 min read

SAKAMOTO DAYS เป็นเอนิเมชั่นที่สร้างจากมังงะขายดีของญี่ปุ่น เรื่องล่าสุดของ Netflix ที่ถูกพูดถึงพอสมควรในโลกออนไลน์ โดย SAKAMOTO DAYS เป็นเรื่องราวของทาโร่ ซาคาโมโต อดีตนักฆ่าในตำนาน ที่ปัจจุบันผันตัวมาเป็นพ่อบ้านใจกล้า ผู้รักภรรยาเหนืออื่นใด
เป็นคุณลุงหุ่นหมีมีหนวดใส่แว่นผู้แสนจะใจดี แต่ก็ยังถูกตามรังควานจากบรรดานักฆ่าคนอื่น ๆ เพราะเขามีค่าหัวสูงถึง 1,000 ล้านเยน เขาจึงต้องต่อสู้กับบรรดานักฆ่าเหล่านั้น เพื่อปกป้องครอบครัวและชีวิตอันสุดแสนจะธรรมดาที่มีความสุขของเขา ภายใต้กฎเหล็กของภรรยา ที่ว่า “ห้ามฆ่าใคร”
SAKAMOTO DAYS เป็นเอนิเมชั่นที่ให้ความรู้สึกเหมือนรับชมเอนิเมชั่น Spy & Family คือ เป็นเอนิเมชั่นครอบครัวที่เต็มไปด้วยความตลก แต่ก็แฝงด้วยข้อคิดในการใช้ชีวิต โดย Spy & Family ให้ข้อคิดในเรื่องของ “ครอบครัว” ทางด้าน SAKAMOTO DAYS ให้ข้อคิดในแง่ “คุณค่าของชีวิต” บทความจิตวิทยานี้จึงขอนำเสนอ 6 หลักปรัชญาการใช้ชีวิตด้วยหลักจิตวิทยา Empathy จากเอนิเมชั่น SAKAMOTO DAYS ดังนี้ค่ะ
ทุกชีวิตมีคุณค่า
อาโออิ ซากาโมโตะ ภรรยาสุดที่รักของซาคาโมโต ผู้เปลี่ยนเขาให้มีความเป็นมนุษย์ ที่มีหัวจิตหัวใจ และออกคำสั่งเด็ดขาดห้ามเขาทำลายชีวิตใครอีก ด้วยเหตุผลที่ว่า “ทุกคนย่อมเป็นที่รักของใครสักคนหนึ่งเสมอ” อาโออิ ชี้ให้ซาคาโมโตเห็นว่า เธอยังเป็นที่รักของเขา ถ้าเธอเป็นอะไรไป ซาคาโมโตคงเสียใจมาก
คนอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าเขาจะไม่ใช่คนดีในสายตาเรา แต่ทุกคนย่อมมีครอบครัว มีคนที่รัก มีสิ่งที่รัก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ซาคาโมโตเห็นคุณค่าของทุกชีวิต แม้จะมีการปะทะกับศัตรู ก็เลี่ยงจุดตาย ไม่ทำร้ายใครถึงชีวิต
ปฏิบัติต่อผู้อื่นโดยคิดถึง “ใจเขา ใจเรา”
แม้ว่าซาคาโมโตจะเป็นคนพูดน้อย ต่อยหนัก แต่ก็เข้าถึงความรู้สึกของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความซาบซึ้งในความเสียสละตนเองของ ชิน อาซาคุระ นักฆ่าผู้อ่านใจคนอื่นได้ และอดีตลูกน้องเก่าของซาคาโมโต ผู้ถูกส่งมาจัดการเขา แต่เปลี่ยนใจมาช่วยเขาปกป้องครอบครัว
ซาคาโมโตผู้ร้างวงการมานาน จึงออกตัวร่วมต่อสู้กับชิน และช่วนชินมาทำงานที่ร้านของเขา หรือในกรณีของ ลู เสี่ยวถัง ทายาทตระกูลมาเฟีย ที่ถูกมือสังหารตามล่า ทั้ง ๆ ที่ซาคาโมโตไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย แต่ด้วยความเห็นอกเห็นใจลู จึงชวนชินมาปกป้องลู และชวนลูมาทำงานด้วยที่ร้านอีกคน
ซึ่งการคิดถึง “ใจเขา ใจเรา” ของซาคาโมโต ถือเป็น Emotional Empathy ตามหลักจิตวิทยา กล่าวคือ มีความเข้าอกเข้าใจทางอารมณ์ รับรู้และรู้สึกถึงอารมณ์ของผู้อื่น ซึ่งช่วยให้เราสามารถเชื่อมโยงกับผู้อื่นในระดับอารมณ์ได้ลึกซึ้งมากขึ้น
แม้ศัตรูอยู่ในความเดือดร้อน ก็ต้องให้ความช่วยเหลือ
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า ซาคาโมโตไม่ฆ่าศัตรู และใช้ชีวิตที่สุดแสนจะธรรมดาของตนเองอย่างสงบสุข โดยต่างคนต่างอยู่กับศัตรูทั้งหลาย แต่ถ้าศัตรูของเขาเดือดร้อน เช่น ชิน ซึ่งในครั้งแรกถูกส่งมาจัดการซาคาโมโต แม้จะถูกซาคาโมโตซัดจนสลบไป
แต่ซาคาโมโต ภรรยา และลูกสาว ก็ช่วยกันดูแลรักษาชินจนหายดี อีกทั้งยังชวนทานข้าวอย่างเป็นมิตรและอบอุ่น พร้อมทั้งบอกชินว่า “แล้วมาหาใหม่นะ” จนชินเปลี่ยนใจ และหันมาปกป้องชีวิตธรรมดาของซาคาโมโต จนชินโดนตามล่าเสียเอง
และซาคาโมโตก็ได้ยื่นมือมาช่วยอีกครั้งจนชินปลอดภัย ซึ่งนั่นคือ Compassionate Empathy ตามหลักจิตวิทยา คือ มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและลงมือให้ความช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความทุกข์
เปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร ด้วยการสื่อสารอย่างสันติ
ซาคาโมโตผู้พูดน้อย แต่ก็สามารถเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตรด้วยการสื่อสารอย่างสันติ หรือในทางจิตวิทยา เรียก Nonviolent Communication คือ การสื่อสารที่เน้นการเข้าใจซึ่งกันและกัน ผ่าน 4 องค์ประกอบ ได้แก่ การสังเกตคู่สนทนา การระบุความรู้สึกของตนเองและคู่สนทนา การระบุความต้องการอย่างตรงไปตรงมา และการร้องขออย่างสร้างสรรค์
โดยซาคาโมโต จะพูดคุยกับศัตรูเก่าด้วยท่าทีสงบ สุขุม และรับฟังให้ลึกถึงความรู้สึกของคู่สนทนา รวมถึงสื่อสารความรู้สึกของตนเองอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งการสื่อสารอย่างสันตินี้จะช่วยลดความขัดแย้งและช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ของเรากับคู่สนทนาได้เป็นอย่างดี
เข้าใจเหตุผลในการใช้ชีวิตของผู้อื่น
แม้ซาคาโมโต จะเลิกเป็นนักฆ่าแล้วหันมาใช้ชีวิตธรรมดาด้วยการเป็นหัวหน้าครอบครัวผู้ใจดี และประกอบอาชีพเปิดร้านขายของชำเล็ก ๆ แต่เขาก็ไม่เคยไปบังคับให้เพื่อนนักฆ่าคนอื่น ๆ เลิกทำอาชีพนั้นแล้วมาใช้ชีวิตตามที่ตัวเองทำ
เพราะเขามี Cognitive Empathy คือ เข้าใจเหตุผลในการใช้ชีวิตของผู้อื่น เข้าใจมุมมอง ความคิด และความรู้สึกของผู้อื่นโดยไม่ตัดสิน และสามารถเป็นมิตรกับทุกคนได้ ถึงแม้ว่าซาคาโมโตจะไม่สามารถเปลี่ยนนักฆ่าทุกคนให้กลับมาทำงานสุจริตแบบเขาได้ แต่อย่างน้อยเขาก็สามารถเปลี่ยนชิน ลู และมือสังหารบางคนให้กลับมาเป็นคนดีได้
อย่าปล่อยให้ความผิดพลาดในอดีตมากำหนดอนาคต
อาโออิ หญิงสาวผู้เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อโลกของซาคาโมโต จากมืดมน เป็นสดใส และเป็นแรงบันดาลใจให้ซาคาโมโตเดินทางเข้าสู่ด้านสว่างที่สงบสุข เธอรู้อดีตของเขาดี และไม่เคยโทษสิ่งที่เขาทำในอดีต แต่เธอคอยย้ำเตือนให้เขาให้ความสำคัญกับปัจจุบันและอนาคตเสมอ
นั่นจึงมีส่วนทำให้ซาคาโมโตมี Self-Empathy หรือความเมตตาต่อตนเองสูง โดยเขาไม่ปล่อยให้ความผิดพลาดในอดีตมากำหนดอนาคต ไม่ปล่อยตัวเองให้จมอยู่กับอดีต เพราะเขาเข้าใจแล้วว่าเรากลับไปแก้ไขอดีตไม่ได้ แต่เราสามารถทำปัจจุบันให้ดี เพื่อสร้างอนาคตที่เราต้องการได้
SAKAMOTO DAYS ไม่ได้เป็นแค่เอนิเมชั่นเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังแฝงด้วยข้อคิดในการใช้ชีวิตด้วยหลักจิตวิทยา Empathy ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงตนเอง ดังที่ซาคาโมโตเปลี่ยนตัวเองจากมือสังหาร มาเป็นคุณพ่อผู้แสนอบอุ่น สามีผู้แสนดี
รวมถึงนำมาใช้ในการเข้าใจมุมมองของผู้อื่น การให้โอกาส การมองข้ามอดีต รวมถึงการมีเมตตาต่อผู้อื่น เพื่อการใช้ชีวิตที่แสนธรรมดาอย่างสงบสุขอย่างยืนยาว และหากคุณสนใจพัฒนาทักษะ Empathy หรือทักษะด้านจิตวิทยาจาก iSTRONG สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ คอร์สนักให้คำปรึกษาระดับ Fundamental
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ
ประวัติผู้เขียน
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้