Resilient Leadership คุณลักษณะสำคัญของผู้นำแบบสู้ไม่ถอยแม้บทชีวิตจะหนักหนา
การเป็นผู้นำหรือหัวหน้าโดยตำแหน่งนั้นไม่ว่าใครก็เป็นได้หากได้รับการแต่งตั้ง แต่คนที่จะก้าวเข้ามาเป็นสุดยอดผู้นำหรือหัวหน้าที่ลูกน้องรักนั้นจำเป็นต้องอาศัยคุณลักษณะเฉพาะตัวซึ่งไม่ได้ติดตัวมากันทุกคน อย่างไรก็ตาม คนที่จะมาเป็นผู้นำก็ควรจะมีคุณลักษณะที่คนอื่นไม่มีเพราะหากเป็นคนที่ธรรมดาเหมือนคนอื่นทั่วไปก็คงเป็นที่สงสัยว่าเหตุใดจึงถูกเลือกให้ขึ้นมาเป็นผู้นำ
ดังนั้น ผู้นำจึงควรพัฒนาตนเองให้มีคุณลักษณะพิเศษโดยเฉพาะความยิดหยุ่นทนทานต่อปัญหาและความเครียดกดดัน เนื่องจากโดยสถานะทางตำแหน่งแล้ว ผู้นำควรเป็นบุคคลที่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กร รวมถึงต้องเป็นคนที่วางแนวทางในการแก้ไขรับมือกับปัญหาโดยไม่เสียเวลาไปกับการกล่าวโทษคนอื่นหรือปฏิเสธความรับผิดชอบของตนเอง ซึ่งผู้นำที่จะเป็นเช่นนั้นได้จำเป็นต้องฝึกฝนพัฒนาตนเองให้มี “Resilient Leadership” ซึ่งประกอบด้วย
1. Physical resilience
แม้จะอยู่ในตำแหน่งผู้นำก็จะต้องไม่ลืมว่าพื้นฐานของประสิทธิภาพการทำงานก็คือสุขภาพที่แข็งแรง คนที่เจ็บป่วยหรือสุขภาพไม่สมบูรณ์มักมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ดังนั้น คนที่เป็นผู้นำหรือหัวหน้าก็ควรดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้มีความแข็งแรงและฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บได้ไว
2. Mental resilience
บทชีวิตแม้จะหนักหนา แต่ผู้นำที่มี resilience ก็จะยังคงความสามารถในด้านการคิด (cognitive) เช่น คิดรอบคอบ หาทางออกอย่างรัดกุม มีสติ และสามารถหาทางออกจากปัญหาด้วยวิธีที่สร้างสรรค์
3. Emotional resilience
แทนที่จะตอบสนองต่อสถานการณ์ไม่คาดฝันอย่างอัตโนมัติ ผู้นำที่มี resilience จะพยายามทำความเข้าใจอารมณ์ความต้องการของตนเองเพื่อที่จะควบคุมอารมณ์ของตนเองและเลือกวิธีตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ
4. Social resilience
ผู้นำที่มี resilience จะสามารถสะท้อนศักยภาพของคนในองค์กรเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการทำงาน รวมถึงเอื้อให้ทุกคนสามารถข้ามผ่านมรสุมปัญหาไปได้
แนวทางในการพัฒนาตนเองให้เกิด Resilient Leadership
1. หมั่นออกกำลังกายดูแลรักษาสุขภาพอยู่เสมอ เพราะการออกกำลังกายเป็นประจำนอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยลดความเครียดได้อีกด้วย
2. นอนหลับให้เพียงพอ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการนอนหลับในแต่ละคืนคือ 7-8 ชั่วโมง การนอนหลับให้เพียงพอจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ในทางตรงข้าม การอดนอนจะส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้าระหว่างวัน และการอดนอนบ่อย ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพใยระยะยาวอีกด้วย
3. ฝึกสติเพื่อให้มี self-awareness อยู่เสมอ
4. หมั่นท้าทายสมมุติฐานของตัวเอง เพราะในบางครั้งความคิดของคนเราก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังเผชิญกับอุปสรรคปัญหาก็อาจมีความคิดที่ทำให้รู้สึกห่อเหี่ยวท้อแท้เกิดขึ้นได้ จึงควรท้าทายความคิดของตัวเองด้วยว่าสิ่งที่ ‘คิดแว๊บ’ ขึ้นมานั้นมันตรงกับความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน
5. มองเห็นสิ่งดี ๆ และลิ้มรสความสุข แม้สมองของคนเรามักจะมีความคิดลบเกิดขึ้นบ่อย ๆ หรือมีสิ่งที่เรียกว่า “negativity bias” แต่วิธีการคิดนั้นเป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้ ซึ่งการฝึกให้ตัวเองมีความสามารถในการมองเห็นสิ่งดี ๆ ในแต่ละวันและมีความสุขกับชีวิตในแต่ละวันได้แม้มันอาจจะมีเรื่องเครียด ๆ เกิดขึ้น ก็จะช่วยให้สามารถปรับตัวยืดหยุ่นกับบทชีวิตที่หนักหนาได้มากขึ้น
6. ฝึกการขอบคุณ (gratitude) โดยการขอบคุณในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลเท่านั้น แต่หมายถึงการทำให้ตัวเองรับรู้ได้ว่ามันมีสิ่งที่ดีเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นมาจากบุคคล เหตุการณ์ สรรพสิ่งต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งตัวเอง เมื่อรับรู้ถึงสิ่งดี ๆ แล้วก็ขอบคุณที่มีสิ่งดี ๆ ดังกล่าวเกิดขึ้นกับตัวเอง
7. สร้างเครือข่ายทางสังคม ตำแหน่งผู้นำมักจะต้องพบเจอกับผู้คนที่หลากหลาย และจำเป็นจะต้องพาองค์กรไปสู่เป้าหมายไม่ว่าจะในทางธุรกิจหรือเป้าหมายด้านอื่น ๆ การมีเครือข่ายทางสังคมจะช่วยให้ได้รับการสนับสนุนที่เอื้อให้ผู้นำสามารถพาองค์กรไปสู่เป้าหมายได้ง่ายขึ้น
8. ฝึกใช้ประสาทสัมผัสของตัวเองเพื่อให้สามารถสื่อสารกับคนอื่นผ่านภาษากายได้ดียิ่งขึ้น บุคคลที่ไม่ได้ฝึกใช้ประสาทสัมผัสของตัวเองมักมีการสื่อสารผิดพลาดเพราะเลือกใช้ภาษากายที่ไม่เหมาะสมและทำให้เกิดการเข้าใจกันผิด ซึ่งการคลอเคลียกับสัตว์เลี้ยงก็เป็นหนึ่งในวิธีการฝึกใช้ประสาทสัมผัสด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การฝึกให้ตัวเองเป็นคนที่ยืดหยุ่นทนทานต่อความเครียดและอุปสรรคท้าทายเพื่อให้เกิด Resilient Leadership นั้น ไม่จำเป็นต้องรอให้ตัวเองได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำหรือหัวหน้า แต่คุณสามารถฝึกให้ตัวเองมีคุณลักษณะดังกล่าวได้ตั้งแต่ตอนนี้ เพราะผู้นำนั้นไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานะที่มีตำแหน่งเสมอไป แต่ผู้นำอาจหมายถึงผู้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่องค์กร ผู้นำในการสร้างกระแสใหม่ ๆ ที่ช่วยให้องค์กรไปสู่ความก้าวหน้า ผู้นำความคิดสร้างสรรค์มาใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่คนที่มีตำแหน่งผู้นำจริง ๆ อาจจะทำไม่ได้ หรืออย่างน้อยก็เป็นผู้นำพาให้ตนเองสามารถฟันฝ่าอุปสรรคปัญหาในช่วงเวลาที่บทชีวิตมันหนักหนา ซึ่งหากคุณสามารถข้ามผ่านปัญหาไปได้ คุณจะพบว่าตัวเองแข็งแกร่งมากกว่าที่คุณคิด
หากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่
หรือหากคุณต้องการพัฒนาภาวะผู้นำ สู่การเป็นผู้นำที่ใช้ "หัวใจ" ทาง iSTRONG ก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอนาคตของผู้นำ จึงได้ออกแบบ "คอร์ส Heart-to-Heart Leadership" ที่จะพัฒนาให้คุณเป็น "ผู้นำ" ที่ใช้ "หัวใจ" อย่างแท้จริง
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง:
1. 8 Steps to More Resilient Leadership. https://www.ccl.org/articles/leading-effectively-articles/8-steps-help-become-resilient/
บทความที่เกี่ยวข้อง
1. Resilience ทักษะสำคัญ ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง. https://www.istrong.co/single-post/resilience-is-an-essential-skill-for-coping-with-change
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ ISTRONG
Comments