top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

รู้จักพลังของ ‘Resilience’ ภัยพิบัติที่ฆ่ามนุษย์ไม่ได้ มันจะทำให้มนุษย์แกร่งขึ้น


ในระยะหลังมานี้สังเกตว่าโลกเรามีความเปลี่ยนแปลงไปมากโดยเฉพาะในด้านสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติเริ่มมีมากขึ้นแถมยังรุนแรงกว่าเดิม เช่น น้ำท่วมหนักสุดในรอบร้อยปีของเชียงใหม่ คลื่นความร้อนและไฟป่าในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ หรือน้ำท่วมทะเลทรายซาฮาร่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประสบภัย แต่มันยังส่งผลต่อสภาพจิตใจของคนทั่วโลกและทำให้เกิดความกังวลต่อสภาพภูมิอากาศ โดย Lise Van Susteren จิตแพทย์ ได้บัญญัติคำที่ใช้เรียกความรู้สึกกลัวของผู้คนว่าจะเกิดภัยพิบัติทั้งที่มันยังมาไม่ถึงว่า “pretraumatic stress disorder” (ตรงข้ามกับ post-traumatic stress disorder or PTSD) อย่างไรก็ตาม มนุษย์หลายคนจะมีความพิเศษแบบที่เรียกว่า “อะไรที่ฆ่าพวกเขาไม่ตาย มันจะทำให้พวกเขาแกร่งขึ้น” ซึ่งประโยคนี้อธิบายได้ด้วยกลไกการเกิดความยืดหยุ่นทางใจจากภัยพิบัติ ดังนี้


ความหมายของความยืดหยุ่นทางใจจากภัยพิบัติ (disaster resilience)

จากนิยามของ Department for International Development (DFID) ของประเทศอังกฤษ ระบุว่า ความยืดหยุ่นทางใจจากภัยพิบัติคือความสามารถของประเทศ ชุมชน หรือครัวเรือน ในการรักษาหรือปรับเปลี่ยนมาตรฐานในการใช้ชีวิตเพื่อรับแรงกระแทกและความเครียดที่เกิดจากภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว ความขัดแย้งที่รุนแรง โดยไม่ส่งผลระยะยาว ในขณะที่ สำนักงานลดความเสี่ยงภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNISDR) ให้นิยามว่าเป็นความสามารถของระบบ ชุมชน หรือสังคม ในการเผชิญกับภัยอันตรายและการปรับตัวด้วยการต้านทานหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาความปกติสุขและโครงสร้างของสังคมให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ซึ่งหากอ่านแล้วก็อาจจะงง ๆ หน่อย ผู้เขียนจึงขอสรุปเป็นภาษาบ้าน ๆ ว่ามันคือความสามารถของทั้งชุมชนที่จะฝ่าวิกฤตไปด้วยกันโดยไม่ได้รับผลกระทบระยะยาวจากภัยพิบัติ นอกจากนี้ Helena Bakic และ Dean Ajdukovic ได้ทำการศึกษาในประชากรสองกลุ่มได้แก่ กลุ่มผู้ประสบภัยน้ำท่วมรุนแรงในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ 223 คน และกลุ่มผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแต่ไม่ถูกน้ำท่วม 224 คน โดยใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยา โดยสรุปผลการศึกษาในครั้งนี้ได้ว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสามารถใช้ทรัพยากรที่ตัวเองมีร่วมกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและการสนับสนุนทางสังคมในการฟื้นฟูและปรับตัวหลังเผชิญภัยพิบัติได้ มาตรการความช่วยเหลือหลังประสบภัยพิบัติจึงควรมุ่งเน้นไปในด้านการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน 


How to สร้างความยืดหยุ่นทางใจ (Resilience)

จากข้อมูลของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (APA) การสร้างความยืดหยุ่นทางใจก็เหมือนกับการสร้างกล้ามเนื้อ โดยวิธีในการสร้างความยืดหยุ่นทางใจ ได้แก่

1. สร้างการเชื่อมโยงกับคนอื่น 

- ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับกลุ่มคนที่มี Empathy มีความเข้าใจคนอื่น และทำให้คุณไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเวลาที่ต้องเผชิญกับเรื่องราวเลวร้าย ให้ความสำคัญกับคนที่คุณไว้ใจได้และมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งคนเหล่านี้จะให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกของคุณ แม้ว่าในบางครั้งคนที่เผชิญกับความเจ็บปวดมักจะอยากแยกตัวออกจากผู้คน แต่สิ่งที่จะช่วยได้มากก็คือการเปิดใจรับความช่วยเหลือจากคนที่รักและแคร์คุณ

-  เข้าร่วมกลุ่ม นอกเหนือไปจากการพบปะผู้คนแบบตัวต่อตัวแล้ว การเข้าร่วมกลุ่ม เช่น กลุ่มคนที่มีศรัทธาความเชื่อเดียวกัน กลุ่มช่วยเหลือสังคม จะช่วยให้คุณรู้สึกมีความหวังและมีความสุข


2. สร้างเสริมสุขภาพให้กับตัวเอง

- ดูแลร่างกาย เลือก lifestyle ที่ดีต่อสุขภาพ เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ออกกำลังกาย เนื่องจากร่างกายและจิตใจมีความสัมพันธ์กัน เมื่อร่างกายแข็งแรง จิตใจก็จะรับมือกับความเครียดได้มากขึ้น

- ฝึก mindfulness ด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น เขียนบันทึกอารมณ์ เล่นโยคะ ฝึกสมาธิ ฝึกให้ตัวเองอยู่ในมุมมองทางบวกด้วยการฝึกขอบคุณและพยายามย้อนนึกถึงเรื่องดี ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวคุณ 

- หลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพ แม้บางทีคุณอาจจะอยากกลบความรู้สึกทางลบของตัวเองด้วยการดื่มเหล้าหรือใช้สารเสพติด แต่การทำแบบนั้นมันก็เหมือนกับการแปะผ้าพันแผลลงบนแผลลึก (ซึ่งวิธีที่ถูกต้องคืออาจจะต้องเย็บแผล) สิ่งที่คุณควรทำก็คือการทำให้คุณสามารถรับมือกับความเครียดได้มากขึ้นแทนที่จะหาอะไรมากลบความทุกข์ของตัวเอง


3. ค้นหาเป้าหมาย

- ช่วยเหลือผู้อื่น เช่น สมัครเป็นจิตอาสา การช่วยเหลือผู้อื่นจะช่วยให้คุณรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าซึ่งมันจะ empower ให้คุณมีความยืนหยุ่นทางใจ

- คิดไปข้างหน้า รับรู้และยอมรับอารมณ์ของตัวเองในช่วงที่เจอกับความยากลำบาก ถามตัวเอง เช่น “จะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ยังไงบ้าง” “ถ้าปัญหามันเยอะเกินไป จะแบ่งปัญหาให้เป็นเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ จัดการไปทีละเรื่องได้มั้ย” 


4. คิดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ 

- มองสถานการณ์ตามจริง

- ยอมรับการเปลี่ยนแปลง

- มองโลกแบบมีความหวัง

- เรียนรู้จากอดีต 


5. มองหาความช่วยเหลือ

การรับความช่วยเหลือจากคนอื่นเป็นอีกทางหนึ่งในการสร้าง resilience นอกจากนั้น หากคุณได้ลองทำทุกอย่างที่แนะนำในข้างต้นแล้วมันก็ยังไม่ดีขึ้นมา คุณก็สามารถใช้ตัวช่วยเป็นการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตได้เช่นกันค่ะ 


โดยสรุปแล้ว ไม่ว่าภัยพิบัติหรือเหตุการณ์เลวร้ายใด ๆ จะเกิดขึ้นในชีวิต สิ่งสำคัญมากที่สุดก็การทำให้ผู้ที่ประสบภัยหรือมีความเจ็บปวดทุกข์ใจจากเหตุการณ์เลวร้ายไม่ได้กำลังเผชิญมันอยู่อย่างโดดเดี่ยว รวมถึงตัวผู้ประสบภัยเองก็ควรที่จะเรียนรู้ว่าตัวเองสามารถรับความช่วยเหลือจากคนอื่นได้ ในขณะเดียวกันสังคมก็ควรจะมีบริการหรือมาตรการที่ให้การสนับสนุนทางสังคม และมากไปกว่านั้นก็คือการมองเห็นคุณค่าความสามารถของตัวเองโดยอาจจะทำผ่านกิจกรรมจิตอาสาเพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าโลกนี้ยังมีความหวัง ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือเหตุการณ์เลวร้ายทุกคนนะคะ

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

Keyword: Resilience, ภัยพิบัติ


บทความที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

[3] Building your resilience. Retrieved from https://www.apa.org/topics/resilience/building-your-resilience

[4] Resilience after natural disasters: the process of harnessing resources in communities differentially exposed to a flood. Retrieved from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8725694/

 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


Comentários


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page