top of page

Resilience ทักษะสำคัญ ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง

Updated: Feb 19




การใช้ชีวิตของเราในช่วงสถานการณ์แบบนี้ สุดแสนจะเป็นเรื่องท้าทาย เพราะนอกจากจะไม่สามารถรู้ว่าสถานการณ์จะจบลงเมื่อไหร่ และยังมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่สามาถรู้ล่วงหน้าได้เลย บ่อยครั้งต้องใช้หลักจิตวิทยา Resilience ในการเตรียมใจรับการเปลี่ยนแปลง เช่น ตัวดิฉันเองเมื่อครึ่งปีที่แล้ว คุณแม่ได้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่หนักหนาพอสมควร จนต้องหยุดแผนชีวิตปกติ มาใช้แผนสำรองเฉพาะหน้าเป็นการด่วน ในตอนนั้นดิฉันต้องนำหลักจิตวิทยา Resilience มาใช้อย่างมากเลยค่ะ จึงจะสามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์โดยที่สภาพจิตใจ ไม่ถูกทำลายมากเกินไป หรือ ในสถานการณ์ปัจจุบันที่แม้ว่ารัฐจะมีมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ที่อนุญาตให้บางธุรกิจ หรือกิจการกลับมาทำการได้ “เกือบ” ปกติแล้วก็ตาม


แต่ก็ยังมีหลายกิจการที่ได้รับผลกระทบหนักมากจนต้องปิดกิจการ เซ้ง หรือขายต่อกิจการกันไป หากย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน คงไม่มีใครคิดหรอกค่ะ ว่าเจ้าสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ อย่างไวรัส จะทำให้ชีวิตของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายมหาศาลขนาดนี้ และจากประสบการณ์ในช่วงอายุ 33 ปี ของดิฉันที่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่แจ้งล่วงหน้ามากมาย เช่น เหตุการณ์ต้มยำกุ้ง สึนามิ โคลนถล่ม น้ำท่วม หรือ COVID – 19 ทำให้ดิฉันเชื่อเหลือเกินว่าชีวิตของเราหากยังไม่สิ้น ก็ยังต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงอีกมากมายอย่างแน่นอน


ด้วยเหตุนี้ หลักจิตวิทยาที่ชื่อว่า Resilience หรือแปลเป็นภาษาไทยสวย ๆ ว่า “การฟื้นสภาพทางใจ” จึงเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นอย่างมาก เนื่องจาก Resilience จะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งทางจิตใจให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่แย่ลง โดย Resilience มีหลักสำคัญอยู่ 3 หลักใหญ่ ๆ ก็คือ

1. การสร้างความมั่นใจในตนเอง (Self - confidence) โดยสามารถทำได้ 4 วิธีได้แก่


  • วิธีที่ 1 : ฝึกฝนสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ถนัดจนเชี่ยวชาญ เช่น ถ้าทุกคนยังจำ Tom Daley นักกีฬากระโดดน้ำชาวอังกฤษ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก ผู้มีงานอดิเรกโดดเด่นอย่างการถักนิตติ้ง จนภาพที่เขาถักนิตติ้งตอนชนการแข่งขันกลายเป็นภาพจำของเขาไปแล้ว ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าถักนิตติ้งเป็นการฝึกสมาธิ แต่ถักไปถักมาก็รักงานอดิเรกนี้เสียแล้ว และก็แสนจะภูมิใจกับสิ่งที่เขาเชี่ยวชาญทั้งเรื่องกระโดดน้ำ และถักนิตติ้ง เราเองก็ชื่นชมความสามารถของเขาอย่างมากเลยค่ะ

  • วิธที่ 2 : หมั่นให้กำลังใจตัวเอง การใช้ชีวิตทุกวันนี้เป็นเรื่องยากมากๆ เลย นะคะ เพราะต้องอยู่กับการเปลี่ยนแปลงสารพัดอย่าง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้นแล้วอย่าลืมให้กำลังใจตัวเองเมื่อทำอะไรบางอย่างได้สำเร็จ เพื่อให้มีแรงใจสู้ต่อในวันต่อไปค่ะ


  • วิธีที่ 3 : ผิดเป็นครู คือการนำข้อผิดพลาดในอดีตมาเป็นบทเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาที่คล้าย ๆ กัน หรือเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเดิมเกิดขึ้นมาอีกค่ะ หรือในกรณีที่เกิดปัญหาใหม่ที่เราไม่เคยเจอ เราก็ยังมีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาอื่นมาก่อนค่ะ

  • วิธีที่ 4 : พูดคุยกับคนที่สนิทใจ หากเรากำลังพบเจอปัญหา หรือไม่มั่นใจในการใช้ชีวิต ลองพูดคุย ปรึกษาหารือกับคนในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา เพื่อหาแนวทางใหม่ ๆ ปรับเปลี่ยนมุมมองการชีวิตดูนะคะ เชื่อแน่ว่าคุณผู้อ่านจะได้เห็นแนวทางการแก้ปัญหาใหม่ที่ไม่เคยคิดถึง มาก่อน หรือได้เห็นแง่มุมดี ๆ ของชีวิตที่เรามองข้ามไปค่ะ

2. การสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง (Self - esteem) มีวิธีการ ดังนี้


  • วิธีที่ 1 รู้ทันความคิดและความรู้สึกของตนเอง การรู้ทันความคิดและความรู้สึกของตนเอง ก็คือ การมีสติรู้ตัวว่าตอนนี้เราคิดต่อสถานการณ์ที่เราเจออย่างไร มีความรู้สึกต่อสถานการณ์นั้น ๆ อย่างไร เมื่อเรารู้ทันความคิดและความรู้สึกของเรา เราจะสามารถควบคุมการแสดงออกได้อย่างเหมาะสมค่ะ


  • วิธีที่ 2 ให้เกียรติตัวเองและผู้อื่น เช่น การรับฟังพูดอื่นโดยไม่พูดแทรก การไม่ด่วนตัดสินคนอื่น การเคารพความเชื่อและการตัดสินใจของผู้อื่น พอ ๆ กับเคารพความเชื่อและการตัดสินใจของเราเอง เป็นต้นค่ะ


  • วิธีที่ 3 มองหาต้นแบบที่ดี เพื่อนำมาเป็นแรงบันดาลใจ (Inspiration) ในการดำเนินชีวิตทั้งคนใกล้ตัวอย่างเช่น พ่อ แม่ พี่ เพื่อนสนิท หรือนักกีฬาที่เราชื่นชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาพาราลิมปิก ที่เพิ่งปิดการแข่งขันไป เป็นแหล่งบ่มเพาะแรงบันดาลใจที่ดีเลยค่ะ


  • วิธีที่ 4 ใส่ใจผู้อื่น วิธีใส่ใจง่าย ๆ แต่แสนประทับใจ ก็คือ การจำชื่อเพื่อนร่วมงาน ชื่อคนที่เราประสานงานได้ถูกต้อง หรือจะสร้างความประทับใจไปอีก ก็เพิ่มการจดจำวันสำคัญของคนรอบตัวเราค่ะ เช่น วันเกิด วันครบรอบ และแสดงความยินดี ชื่นชมพวกเขาอย่างจริงใจ เราก็สามารถสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง (Self - esteem) ได้แล้วค่ะ

3. การมีแนวคิดเกี่ยวกับตนเอง (Self - concept) ในทางที่ดี โดยวิธีดังต่อไปนี้


  • วิธีที่ 1 ปิดระบบพฤติกรรมอัตโนมัติของเรา พฤติกรรมอัตโนมัติ หรือศัพท์ที่รู้จักกัน ก็คือ Autopilot ในทางจิตวิทยา หมายถึง การมีพฤติกรรมเดิม ซ้ำ ๆ จึงลงมือทำโดยไม่ต้องคิด เช่น เดินทางด้วยวิธีเดิม ๆ ทำงานเดิม ๆ ซ้ำ ๆ จนเป็นกิจวัตร และทำเหมือนเครื่องจักร คือ ไม่ได้ผ่านการคิด หรือใส่ใจ ดังนั้นหากเรามีการเปลี่ยนแปลงโดยปิดพฤติกรรมอัตโนมัติ มาใส่ใจในรายละเอียดของงานมากขึ้น ถึงแม้จะทำงานได้ช้าลง แต่งานจะมีคุณภาพมากขึ้นค่ะ


  • วิธีที่ 2 ลดอคติต่อบุคคลและสถานการณ์ลง ในวิธีการนี้ ขออนุญาตยกตัวอย่างถึงการวิจารณ์กันอย่างดุเดือดในโลกโซเชียลถึงผลการแข่งกรีฑาโอลิมปิก 2020 ของคุณคีริน ตันติเวทย์ ที่พอเห็นอันดับการเข้าเส้นชัยก็มีอคติเสียแล้ว ทั้ง ๆ ที่กว่าที่คุณคีริน จะมาแข่งในเวทีโอลิมปิกได้นั้น บอกเลยค่ะว่าผ่านหลายด่าน และแต่ละด่านเลือดตาแทบกระเด็น หากสามารถลดอคติลง ก็จะมองเห็นถึงความพยายาม และความมุ่งมั่นของคุณคีริน ที่ไม่แพ้นักแข่งชาติใดเลย


  • วิธีที่ 3 เรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตัวเองและผู้อื่น ในการสร้าง Resilience นอกจากจะอาศัย การเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเองแล้ว เรายังสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดของผู้อื่นได้ด้วยค่ะ แต่ต้องเป็นการเรียนรู้ที่ปราศจากการตัดสิน หรือโยนบาป ตำหนิว่าความผิดพลาดเกิดจากตัวเขา เพราะเชื่อเถอะค่ะ ไม่มีใครตั้งใจที่จะให้เกิดความผิดพลาดขึ้นมา


คุณสายสุนีย์ จ๊ะนะ เป็นบุคคลตัวอย่างที่ดีเยี่ยมในการใช้หลักจิตวิทยา Resilience ยืนหยัดต่อสู่กับการเปลี่ยนแปลงของชีวิตจนประสบความสำเร็จ เพราะคุณสายสุนีย์ไม่ได้พิการแต่กำเนิด แต่เธอประสบอุบัติเหตุอย่างรุนแรงเมื่ออายุ 17 ปี และเธอใช้หลัก Resilience ทั้งการสร้างความมั่นใจในตนเอง (Self - confidence) การสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง (Self - esteem) และการมีแนวคิดเกี่ยวกับตนเอง (Self - concept) ในทางที่ดี โดยคุณสายสุนีย์ได้ฝึกเล่นกีฬาจากศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการหยาดฝน จังหวัดเชียงใหม่ โดยเริ่มจากวีลแชร์บาสเกตบอล ก่อนจะได้โอกาสลองเล่นกีฬาวีลแชร์ฟันดาบ และมาไกลจนได้รับเหรียญทองแดงในพาราลิมปิก โตเกียว 2020 ที่เพิ่งปิดฉากลงไปนี่เอง


ถึงแม้ชีวิตจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า แต่การฝึกหลักจิตวิทยา Resilience ให้จิตใจเข้มแข็ง ก็เป็นวิธีการรับมือที่ดีทางหนึ่งค่ะ iSTRONG เป็นกำลังใจ เป็นฝ่ายสนับสนุนข้อมูล และพร้อมเป็นที่ปรึกษาให้ทุกท่านได้เสมอนะคะ

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

บทความแนะนำ



อ้างอิง

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 2 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต


iSTRONG ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต Solutions ด้านสุขภาพจิต ให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง รวมถึงบทความจิตวิทยา

© 2016-2025 Actualiz Co.,Ltd. All rights reserved.

contact@istrong.co                     Call 02-0268949

  • Facebook Social Icon
  • YouTube Social  Icon
  • Instagram
  • Twitter
bottom of page