Resilience ทักษะสำคัญ ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
การใช้ชีวิตของเราในช่วงสถานการณ์แบบนี้ สุดแสนจะเป็นเรื่องท้าทาย เพราะนอกจากจะไม่สามารถรู้ว่าสถานการณ์จะจบลงเมื่อไหร่ และยังมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่สามาถรู้ล่วงหน้าได้เลย บ่อยครั้งต้องใช้หลักจิตวิทยา Resilience ในการเตรียมใจรับการเปลี่ยนแปลง เช่น ตัวดิฉันเองเมื่อครึ่งปีที่แล้ว คุณแม่ได้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่หนักหนาพอสมควร จนต้องหยุดแผนชีวิตปกติ มาใช้แผนสำรองเฉพาะหน้าเป็นการด่วน ในตอนนั้นดิฉันต้องนำหลักจิตวิทยา Resilience มาใช้อย่างมากเลยค่ะ จึงจะสามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์โดยที่สภาพจิตใจ ไม่ถูกทำลายมากเกินไป หรือ ในสถานการณ์ปัจจุบันที่แม้ว่ารัฐจะมีมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ที่อนุญาตให้บางธุรกิจ หรือกิจการกลับมาทำการได้ “เกือบ” ปกติแล้วก็ตาม
แต่ก็ยังมีหลายกิจการที่ได้รับผลกระทบหนักมากจนต้องปิดกิจการ เซ้ง หรือขายต่อกิจการกันไป หากย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน คงไม่มีใครคิดหรอกค่ะ ว่าเจ้าสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ อย่างไวรัส จะทำให้ชีวิตของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายมหาศาลขนาดนี้ และจากประสบการณ์ในช่วงอายุ 33 ปี ของดิฉันที่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่แจ้งล่วงหน้ามากมาย เช่น เหตุการณ์ต้มยำกุ้ง สึนามิ โคลนถล่ม น้ำท่วม หรือ COVID – 19 ทำให้ดิฉันเชื่อเหลือเกินว่าชีวิตของเราหากยังไม่สิ้น ก็ยังต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงอีกมากมายอย่างแน่นอน
ด้วยเหตุนี้ หลักจิตวิทยาที่ชื่อว่า Resilience หรือแปลเป็นภาษาไทยสวย ๆ ว่า “การฟื้นสภาพทางใจ” จึงเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นอย่างมาก เนื่องจาก Resilience จะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งทางจิตใจให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่แย่ลง โดย Resilience มีหลักสำคัญอยู่ 3 หลักใหญ่ ๆ ก็คือ
1. การสร้างความมั่นใจในตนเอง (Self - confidence) โดยสามารถทำได้ 4 วิธีได้แก่
วิธีที่ 1 : ฝึกฝนสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ถนัดจนเชี่ยวชาญ เช่น ถ้าทุกคนยังจำ Tom Daley นักกีฬากระโดดน้ำชาวอังกฤษ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก ผู้มีงานอดิเรกโดดเด่นอย่างการถักนิตติ้ง จนภาพที่เขาถักนิตติ้งตอนชนการแข่งขันกลายเป็นภาพจำของเขาไปแล้ว ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าถักนิตติ้งเป็นการฝึกสมาธิ แต่ถักไปถักมาก็รักงานอดิเรกนี้เสียแล้ว และก็แสนจะภูมิใจกับสิ่งที่เขาเชี่ยวชาญทั้งเรื่องกระโดดน้ำ และถักนิตติ้ง เราเองก็ชื่นชมความสามารถของเขาอย่างมากเลยค่ะ
วิธที่ 2 : หมั่นให้กำลังใจตัวเอง การใช้ชีวิตทุกวันนี้เป็นเรื่องยากมากๆ เลย นะคะ เพราะต้องอยู่กับการเปลี่ยนแปลงสารพัดอย่าง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้นแล้วอย่าลืมให้กำลังใจตัวเองเมื่อทำอะไรบางอย่างได้สำเร็จ เพื่อให้มีแรงใจสู้ต่อในวันต่อไปค่ะ
วิธีที่ 3 : ผิดเป็นครู คือการนำข้อผิดพลาดในอดีตมาเป็นบทเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาที่คล้าย ๆ กัน หรือเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเดิมเกิดขึ้นมาอีกค่ะ หรือในกรณีที่เกิดปัญหาใหม่ที่เราไม่เคยเจอ เราก็ยังมีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาอื่นมาก่อนค่ะ
วิธีที่ 4 : พูดคุยกับคนที่สนิทใจ หากเรากำลังพบเจอปัญหา หรือไม่มั่นใจในการใช้ชีวิต ลองพูดคุย ปรึกษาหารือกับคนในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา เพื่อหาแนวทางใหม่ ๆ ปรับเปลี่ยนมุมมองการชีวิตดูนะคะ เชื่อแน่ว่าคุณผู้อ่านจะได้เห็นแนวทางการแก้ปัญหาใหม่ที่ไม่เคยคิดถึง มาก่อน หรือได้เห็นแง่มุมดี ๆ ของชีวิตที่เรามองข้ามไปค่ะ
2. การสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง (Self - esteem) มีวิธีการ ดังนี้
วิธีที่ 1 รู้ทันความคิดและความรู้สึกของตนเอง การรู้ทันความคิดและความรู้สึกของตนเอง ก็คือ การมีสติรู้ตัวว่าตอนนี้เราคิดต่อสถานการณ์ที่เราเจออย่างไร มีความรู้สึกต่อสถานการณ์นั้น ๆ อย่างไร เมื่อเรารู้ทันความคิดและความรู้สึกของเรา เราจะสามารถควบคุมการแสดงออกได้อย่างเหมาะสมค่ะ
วิธีที่ 2 ให้เกียรติตัวเองและผู้อื่น เช่น การรับฟังพูดอื่นโดยไม่พูดแทรก การไม่ด่วนตัดสินคนอื่น การเคารพความเชื่อและการตัดสินใจของผู้อื่น พอ ๆ กับเคารพความเชื่อและการตัดสินใจของเราเอง เป็นต้นค่ะ
วิธีที่ 3 มองหาต้นแบบที่ดี เพื่อนำมาเป็นแรงบันดาลใจ (Inspiration) ในการดำเนินชีวิตทั้งคนใกล้ตัวอย่างเช่น พ่อ แม่ พี่ เพื่อนสนิท หรือนักกีฬาที่เราชื่นชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาพาราลิมปิก ที่เพิ่งปิดการแข่งขันไป เป็นแหล่งบ่มเพาะแรงบันดาลใจที่ดีเลยค่ะ
วิธีที่ 4 ใส่ใจผู้อื่น วิธีใส่ใจง่าย ๆ แต่แสนประทับใจ ก็คือ การจำชื่อเพื่อนร่วมงาน ชื่อคนที่เราประสานงานได้ถูกต้อง หรือจะสร้างความประทับใจไปอีก ก็เพิ่มการจดจำวันสำคัญของคนรอบตัวเราค่ะ เช่น วันเกิด วันครบรอบ และแสดงความยินดี ชื่นชมพวกเขาอย่างจริงใจ เราก็สามารถสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง (Self - esteem) ได้แล้วค่ะ
3. การมีแนวคิดเกี่ยวกับตนเอง (Self - concept) ในทางที่ดี โดยวิธีดังต่อไปนี้
วิธีที่ 1 ปิดระบบพฤติกรรมอัตโนมัติของเรา พฤติกรรมอัตโนมัติ หรือศัพท์ที่รู้จักกัน ก็คือ Autopilot ในทางจิตวิทยา หมายถึง การมีพฤติกรรมเดิม ซ้ำ ๆ จึงลงมือทำโดยไม่ต้องคิด เช่น เดินทางด้วยวิธีเดิม ๆ ทำงานเดิม ๆ ซ้ำ ๆ จนเป็นกิจวัตร และทำเหมือนเครื่องจักร คือ ไม่ได้ผ่านการคิด หรือใส่ใจ ดังนั้นหากเรามีการเปลี่ยนแปลงโดยปิดพฤติกรรมอัตโนมัติ มาใส่ใจในรายละเอียดของงานมากขึ้น ถึงแม้จะทำงานได้ช้าลง แต่งานจะมีคุณภาพมากขึ้นค่ะ
วิธีที่ 2 ลดอคติต่อบุคคลและสถานการณ์ลง ในวิธีการนี้ ขออนุญาตยกตัวอย่างถึงการวิจารณ์กันอย่างดุเดือดในโลกโซเชียลถึงผลการแข่งกรีฑาโอลิมปิก 2020 ของคุณคีริน ตันติเวทย์ ที่พอเห็นอันดับการเข้าเส้นชัยก็มีอคติเสียแล้ว ทั้ง ๆ ที่กว่าที่คุณคีริน จะมาแข่งในเวทีโอลิมปิกได้นั้น บอกเลยค่ะว่าผ่านหลายด่าน และแต่ละด่านเลือดตาแทบกระเด็น หากสามารถลดอคติลง ก็จะมองเห็นถึงความพยายาม และความมุ่งมั่นของคุณคีริน ที่ไม่แพ้นักแข่งชาติใดเลย
วิธีที่ 3 เรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตัวเองและผู้อื่น ในการสร้าง Resilience นอกจากจะอาศัย การเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเองแล้ว เรายังสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดของผู้อื่นได้ด้วยค่ะ แต่ต้องเป็นการเรียนรู้ที่ปราศจากการตัดสิน หรือโยนบาป ตำหนิว่าความผิดพลาดเกิดจากตัวเขา เพราะเชื่อเถอะค่ะ ไม่มีใครตั้งใจที่จะให้เกิดความผิดพลาดขึ้นมา
คุณสายสุนีย์ จ๊ะนะ เป็นบุคคลตัวอย่างที่ดีเยี่ยมในการใช้หลักจิตวิทยา Resilience ยืนหยัดต่อสู่กับการเปลี่ยนแปลงของชีวิตจนประสบความสำเร็จ เพราะคุณสายสุนีย์ไม่ได้พิการแต่กำเนิด แต่เธอประสบอุบัติเหตุอย่างรุนแรงเมื่ออายุ 17 ปี และเธอใช้หลัก Resilience ทั้งการสร้างความมั่นใจในตนเอง (Self - confidence) การสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง (Self - esteem) และการมีแนวคิดเกี่ยวกับตนเอง (Self - concept) ในทางที่ดี โดยคุณสายสุนีย์ได้ฝึกเล่นกีฬาจากศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการหยาดฝน จังหวัดเชียงใหม่ โดยเริ่มจากวีลแชร์บาสเกตบอล ก่อนจะได้โอกาสลองเล่นกีฬาวีลแชร์ฟันดาบ และมาไกลจนได้รับเหรียญทองแดงในพาราลิมปิก โตเกียว 2020 ที่เพิ่งปิดฉากลงไปนี่เอง
ถึงแม้ชีวิตจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า แต่การฝึกหลักจิตวิทยา Resilience ให้จิตใจเข้มแข็ง ก็เป็นวิธีการรับมือที่ดีทางหนึ่งค่ะ iSTRONG เป็นกำลังใจ เป็นฝ่ายสนับสนุนข้อมูล และพร้อมเป็นที่ปรึกษาให้ทุกท่านได้เสมอนะคะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ
อ้างอิง
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก
บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 2 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต
Comments