5 ผลกระทบระยะยาวของการมีความสัมพันธ์กับคนโรคจิต (Psychopath)
เมื่อพูดถึงคำว่า “โรคจิต” หลายๆ คนอาจนึกถึงคนที่มีบุคลิกภาพภายนอกดูเย็นชา ไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งรอบข้าง ไม่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และถึงแม้ว่าบุคคลเหล่านั้นจะมีลักษณะนิสัยที่ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่คนโรคจิตก็ยังแสดงท่าทีที่มีเสน่ห์และไม่อาจต้านทานได้ เช่น พูดคุยเก่ง มีอารมณ์ขัน และมีคารมดี จึงทำให้ใครหลายคนอาจตกหลุมรักโรคจิตได้อย่างง่ายดาย ดังเช่นตัวละครที่ชื่อว่า เดวิด พระเอกในภาพยนตร์เรื่อง Fear (1996) ที่มองภายนอกดูเป็นหนุ่มหล่อพูดจาดี เป็นสุภาพบุรุษแสนดี ให้เกียรตินางเอกและยอมทำเพื่อนางเอกได้ทุกอย่าง ทำให้นางเอกหลงรักเขาตั้งแต่แรกเห็น จนได้คบกันเป็นแฟนโดยที่นางเอกไม่รู้เลยว่าความจริงแล้วเบื้องลึกเบื้องหลังของเดวิดนั้นมีด้านมืดอยู่มาก
Psychopath หรือที่เราเรียกกันว่าคนโรคจิต เป็นภาวะที่บุคคลมีลักษณะเฉพาะคือขาดความเห็นอกเห็นใจ เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง ไม่แสดงออกทางอารมณ์และไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี โดยไซโคพาธจัดเป็นความผิดปกติที่อยู่ในกลุ่มบุคลิกภาพต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder: ASPD)
Psychopath มีลักษณะอย่างไร
Psychopath เป็นความผิดปกติที่สามารถวินิจฉัยได้โดยใช้แบบทดสอบ Hare Psychopathy 20 ข้อ ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นในปี 1970 โดย Robert Hare นักวิจัยชาวแคนาดา โดยแต่ละข้อจะมีเกณฑ์การให้คะแนน คือ ไม่ใช่ = 0 คะแนน , ค่อนข้างใช่ = 1 คะแนน , และ แน่นอน = 2 คะแนน สำหรับโรคจิตทางคลินิกคือผู้ที่ได้ 30 คะแนนขึ้นไป โดยฆาตกรต่อเนื่องที่มีชื่อว่า Ted Bundy ได้คะแนนสำหรับการวินิจฉัย 39 คะแนน
ผู้ที่เข้าข่ายเป็นโรคจิต มีลักษณะดังต่อไปนี้
มีความโลดโผน และมีเสน่ห์แบบผิวเผิน
ประเมินตัวเองสูงเกินจริง หรือมีอีโก้สูง
ต้องการการกระตุ้นที่มากกว่าปกติ และมีแนวโน้มที่จะเบื่อง่าย
โกหกเก่ง โกหกตลอดเวลา
มีไหวพริบและเจ้าเล่ห์ ชอบบงการ
ขาดความสำนึกผิดหรือไม่รู้สึกผิด
มีการตอบสนองทางด้านอารมณ์แบบผิวเผิน
ใจแข็ง ขาดความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น
ชอบใช้ชีวิตแบบกาฝาก หลอกคนอื่นเพื่อผลประโยชน์
ถูกควบคุมพฤติกรรมที่ไม่ดี
มีเพศสัมพันธ์เป็นครั้งคราวบ่อยครั้งกับหลายคนโดยไม่เลือกคู่นอน
มีปัญหาด้านพฤติกรรมเบื้องต้น
ขาดเป้าหมายระยะยาวที่สามารถทำให้เป็นจริงได้
อารมณ์ฉุนเฉียว หุนหันพลันแล่น
ขาดความรับผิดชอบ
ไม่รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง
รักษาใครไว้ไม่นาน มีชีวิตคู่แบบสั้น ๆ หรือเปลี่ยนคู่บ่อย
มีประวัติการก่ออาชญากรรมในวัยเด็ก
เคยติดทัณฑ์บนหรือโดนควบคุมความประพฤติ
เก่งในด้านการก่ออาชญากรรม
แม้จะมีการประเมินว่ามีโรคจิตอยู่เพียงร้อยละ 1 ของประชากรทั่วไป ซึ่งพบในเพศชายและร้อยละ 0.3 - 0.7 ของเพศหญิง แต่บุคคลอาจแสดงลักษณะที่เกี่ยวข้องกับโรคจิตในระดับสูงโดยที่ไม่เข้าข่ายเป็นโรคจิตก็เป็นได้ ดังนั้นแล้วการวินิจฉัยว่าบุคคลใดเข้าข่ายเป็นโรคจิตหรือไม่ ควรดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจะดีที่สุด
Psychopath เกิดขึ้นเมื่อไหร่ และเกิดจากอะไร
บุคคลอาจแสดงลักษณะเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโรคจิตเภทในระยะเริ่มต้น ซึ่งเรียกว่า “ลักษณะที่จิตใจแข็งและไม่แสดงอารมณ์” ตั้งแต่วัยเด็กช่วงก่อนอายุ 10 ปี และอาจได้รับการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ เช่น ความผิดปกติของพฤติกรรม อย่างไรก็ตาม การแสดงอาการทางจิตในวัยเด็กไม่ได้หมายความว่าคน ๆ นั้นจะต้องกลายเป็นโรคจิตในวัยผู้ใหญ่
Psychopath เกิดจากลักษณะทางจิตที่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากลักษณะพันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีลักษณะอาการของไซโคพาธ อาจส่งต่อลักษณะนี้ไปยังสมาชิกคนอื่นในครอบครัวได้โดยมีการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ได้สังเกตเห็นสัญญาณของการทำงานที่ผิดปกติของสมองส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น Amygdala ในผู้ที่มีลักษณะเป็นโรคจิต รวมถึงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม การอบรมเลี้ยงดู และประสบการณ์ที่เลวร้ายในวัยเด็ก เช่น การถูกทอดทิ้ง การถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ การใช้ความรุนแรงในครอบครัว พ่อแม่หย่าร้าง พบเห็นการก่ออาชญกรรมจากคนในครอบครัวหรือคนในชุมชน รวมถึงการคบเพื่อนที่มีพฤติกรรมรุนแรง ถือเป็นปัจจัยภายนอกที่มีส่วนในการส่งผลให้เด็กมีบุคลิกภาพแบบไซโคพาธได้
ผลกระทบที่ตามมาของการมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับโรคจิตเป็นอย่างไร
จากการศึกษาโดย Adelle Forth นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Carleton ในแคนาดา เขาและทีมวิจัยได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมจำนวน 457 คนที่เคยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับโรคจิตก่อนหรือระหว่างเข้าร่วมการศึกษา ซึ่งมีเพศชาย 10.5 % และเพศหญิง 89.5 % โดยระยะเวลาของความสัมพันธ์ดังกล่าวมีตั้งแต่หลายเดือนไปจนถึงมากกว่า 20 ปี ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 2-5 ปี ผู้เข้าร่วมได้รับการสัมภาษณ์เกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขาและทำแบบสอบถามทางจิตวิทยา รวมถึงแบบประเมินเกี่ยวกับโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD) และภาวะซึมเศร้า
Forth และทีมวิจัยพบว่าการศึกษานี้เผยให้เห็น 5 ประเด็นหลักที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบระยะยาวของการมีความสัมพันธ์ที่เป็นพิษกับโรคจิต ดังต่อไปนี้
1. ผลกระทบทางอารมณ์ (Emotional Consequences)
การศึกษาพบว่าผลกระทบทางอารมณ์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีผลกระทบมากที่สุด ผู้เข้าร่วมรายงานความรู้สึกตามระดับของความโกรธ รวมถึงความหงุดหงิด ความคับข้องใจ ความเกลียดชังของตนเองและความเกลียดชังผู้หญิง จากการสัมภาษณ์มีหนึ่งในผู้เข้าร่วมกล่าวว่า “สักพักหลังจากคบกัน ฉันโกรธมากที่ถูกเขาหลอกได้ขนาดนั้น” อีกทั้งความวิตกกังวล ความกลัว ความตื่นตระหนก และความหวาดระแวงเป็นความรู้สึกที่มักถูกอ้างถึงบ่อยครั้ง เช่นเดียวกับภาวะซึมเศร้า และความคิดที่พยายามจะฆ่าตัวตาย ซึ่งหนึ่งในผู้เข้าร่วมได้กล่าวไว้ว่า “ฉันอยู่ในจุดต่ำสุดชีวิต มันเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวดที่สุดเท่าที่ฉันเคยทนมา เป็นครั้งแรกที่ฉันคิดฆ่าตัวตายเพราะชีวิตเจ็บปวดเกินกว่าจะรับมือได้”
2. ผลกระทบทางชีวภาพ (Biological Consequences)
การศึกษาพบว่าผู้เข้าร่วมประสบกับปัญหาทางด้านร่างกายเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร แผลพุพอง และปวดศีรษะ รวมถึงเหยื่อบางรายกล่าวว่าได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย เช่น ซี่โครงหัก โดยได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ฉันมีน้ำหนักลดลงมาก ฉันจะปิดปากทันทีเมื่อฉันพยายามจะกิน ผมของฉันร่วงและเป็นสีเทา เล็บของฉันจะไม่ยาวขึ้น รวมถึงมีอาการขาดน้ำอีกด้วย” อีกทั้งยังกล่าวถึงปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หอบหืด หลอดลมอักเสบ โรคต่อมไร้ท่อและระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น เบาหวาน ไทรอยด์ต่ำ และโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยเหยื่อรายหนึ่งกล่าวว่า “ตอนนี้ฉันเชื่อว่าโรคข้ออักเสบ ปัญหาลำไส้ เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเครียดในการใช้ชีวิต 14 ปี กับโรคจิต การจัดการในชีวิตประจำวันกับเขาดูเหมือนจะดูดพลังงานของฉันไปอย่างมาก”
3. การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม (Behavioral Changes)
มีรายงานถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการนอนหลับและการรับประทานอาหาร เช่น การนอน ไม่หลับ การขาดการดูแลตนเอง การใช้สารเสพติด การสูบบุหรี่ และการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมทางสังคม โดยผู้เข้าร่วมหลายคนกล่าวว่าพวกเขามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมน้อยลงมาก ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า “ผมต้องรับมือกับภาวะซึมเศร้าเกือบตลอดเวลาหลังจากที่ผมได้เลิกลากับผู้หญิงคนนี้ไป ผมจะไม่ออกไปในที่สาธารณะนานเกินไป ผมชอบการอยู่บ้านและอยู่คนเดียว รวมถึงไม่ได้ออกไปสังสรรค์ที่ไหนเลยหากเทียบกับเมื่อก่อน”
4. การเปลี่ยนแปลงทางปัญญา (Cognitive Changes)
จากการศึกษาพบว่ามีความสอดคล้องกับอาการ PTSD ผู้เข้าร่วมมีการอ้างถึงเหตุการณ์ย้อนหลัง การแยกตัวออกจากสังคม การสูญเสียสมาธิ และมีปัญหาในการจดจำ โดยได้กล่าวว่า “ฉันไม่มีสมาธิและเกือบจะตกงานเพราะเจ้านายสังเกตเห็นว่าฉันลืมสิ่งต่าง ๆ และทำผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง”
5. ผลกระทบทางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Consequences)
การมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคจิตได้ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลของเหยื่อในวงกว้างมากขึ้น หลายคนสูญเสียความไว้วางใจในผู้อื่น ปกปิดข้อมูลส่วนบุคคล และกลัวว่าจะถูกหักหลังหรือถูกทอดทิ้ง ผู้เข้าร่วมที่มีความสัมพันธ์กับโรคจิตยังมีปัญหาในการไว้วางใจการตัดสินทางสังคม นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความรู้สึกสูญเสียและความโดดเดี่ยวอีกด้วย ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งกล่าวว่า “ฉันรู้สึกว่างเปล่าและโดดเดี่ยวตลอดเวลา เหมือนฉันสูญเสียทุกสิ่งในชีวิตไปเพราะฉันงี่เง่าและตกหลุมรักคนโรคจิต ฉันมีความหวังเพียงเล็กน้อยที่จะสามารถหาใครซักคนหรือใครก็ตามที่จะเข้าใจฉันหรือต้องการเดทกับฉัน”
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษานี้ที่พบว่าแม้จะมีผลกระทบมากมายจากการมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับคนโรคจิต แต่ก็มีข้อบ่งชี้อื่น ๆ ที่พบว่าผู้เข้าร่วมมีประสบการณ์การที่เติบโตขึ้นหลังถูกกระทบกระเทือนจิตใจ โดยกล่าวถึงประเด็นของการฟื้นคืนกลับ (Resilience) และการกลายเป็นคนที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งอาจเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการศึกษาในอนาคตได้
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง:
Vinita Mehta Ph.D., Ed.M. 2022. 5 Long-Term Effects of a Relationship With a Psychopath. Retrieved from. https://www.psychologytoday.com/us/blog/head-games/202212/when-your-romantic-partner-is-a-psychopath-5-core-themes
Psychopathy. Retrieved from. https://www.psychologytoday.com/us/basics/psychopathy
เรียบเรียงโดย
บัวบูชา นาคลักษณ์ (นกยูง) นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Comments