4 เคล็ด (ไม่) ลับในการรักษาความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่สมาธิสั้น
เชื่อว่าหลายท่านอาจเคยประสบปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ที่มีลักษณะเป็นผู้ใหญ่สมาธิสั้นมาพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการถูกผิดนัดซ้ำแล้วซ้ำอีก การถูกลืม การไม่ได้รับการใส่ใจ จนเกิดความสงสัยว่า ...เราสำคัญสำหรับเขาไหมนะ?...
ในบทความนี้ผู้เขียนจึงมาชวนทุกท่านให้มองในมุมใหม่ค่ะ ว่าพฤติกรรมของคนใกล้ชิดเราที่ว่ามาเหล่านั้น ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ แต่เกิดจากอาการของโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD) นั่นเอง
หลายท่านคิดว่าโรคสมาธิสั้นเกิดขึ้นได้เฉพาะวัยเด็ก แต่ในความเป็นจริงแล้วโรคสมาธิสั้น เริ่มต้นในช่วงวัยเด็กและอยู่ยาวไปจนโตเลยละค่ะ สำหรับคุณพ่อคุณแม่บางท่านที่เริ่มเห็นว่าลูกเข้าข่ายเป็นโรคสมาธิสั้นในช่วงวัยเด็ก ก็มักจะพามารักษากับนักจิตวิทยา/นักจิตบำบัด แต่พอผู้ป่วยเริ่มโตขึ้น และหลายคนเริ่มมีการแสดงพฤติกรรมที่นิ่งมากขึ้น สามารถดูแลตัวเองได้มากขึ้น ก็หยุดการรักษากับนักจิตวิทยา/นักจิตบำบัด จึงทำให้อาการหลายอย่างคงอยู่และมาเป็นปัญหาทางด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้างแทน กับอีกกรณีหนึ่งคือ เป็นโรคสมาธิสั้นตั้งแต่เด็กแต่คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ไม่ได้พามารักษากับนักจิตวิทยา/นักจิตบำบัด เพราะเข้าใจว่าลูกหลานซนตามวัยเดี๋ยวก็หาย ผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่อโตขึ้นก็จะมีปัญหาหลายด้าน รวมไปถึงด้านความสัมพันธ์ กับคนรอบข้างด้วย
ทีนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนใกล้ชิดเราเป็นโรคสมาธิสั้น ขออธิบายแบบนี้ค่ะ
โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ก็คล้ายกับวัยเด็ก คือ มี 2 กลุ่มอาการ ได้แก่ สมาธิสั้นแบบอยู่ไม่นิ่ง และสมาธิสั้นแบบนิ่ง โดยมีรายละเอียดตามนี้ค่ะ
1.โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่แบบไม่นิ่ง (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD)
ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นชนิดนี้ จะสังเกตได้ง่ายๆ คือ จุดเดือดต่ำ หัวร้อนง่าย หาเรื่องเก่ง ปากไว มักทำก่อนคิด ขาดการวางแผน มีความสามารถในการควบคุมตัวเองต่ำ ทำอะไรได้ไม่นานก็ล้มเลิก เปลี่ยนใจเร็ว โลเล ลังเล ก้าวร้าว โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักมีความสัมพันธ์กับเรา ๆ ในฐานะพี่น้อง หรือลูก ๆ ค่ะ เพราะด้วยความที่มีอาการของโรคชัดเจน ปัญหาด้านความสัมพันธ์ที่เรา ๆ ต้องเจอ ก็คือ ใจร้อนมาก อยากได้อะไรต้องได้เดี๋ยวนี้ รอไม่เป็น หากไปทานข้าวร่วมกัน ตัวเองทานเสร็จแล้วก็จะกลับเลยไม่รอคนอื่น หัวร้อน พร้อมปะทะเสมอ ทำให้เราต้องคอยเป็นกันชนไม่ให้มีเรื่องบ้าง หรือไม่ก็แก้ต่างกับคนที่เขาจะมีเรื่องจนเราถูกโกรธเสียเอง นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาใช้เงินเกินตัว ออกจากงานบ่อย เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนสร้างความหนักใจให้กับคนใกล้ชิดอย่างมาก
2. โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่แบบนิ่ง (Attention Deficit Disorder : ADD)
ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นชนิดนี้ ดีกว่าแบบแรกตรงไม่ใช่สายปะทะค่ะ เพราะฉะนั้น อัตราการมีเรื่องจะน้อยนิดมาก แต่อาการอย่างอื่นก็ทำให้พวกเขามีปัญหาในชีวิตไม่ต่างกัน นั่นก็คือ วางแผนไม่เป็น จัดลำดับความสำคัญไม่เป็น ไม่รู้ว่าควรทำอะไรก่อน-หลัง ขี้ลืม ทำของหายบ่อย ลืมวันสำคัญ ลืมนัด ใส่ใจน้อย ทำอะไรมักไม่ละเอียดรอบคอบ สมาธิสั้น มักทำอะไรอย่างเดิมได้ไม่นาน และส่วนใหญ่แล้วมักติดเกม ติดมือถือ เพราะถ้าอยู่เฉย ๆ พวกเขาจะเบื่อมากจนสามารถหลับได้แม้ในห้องประชุมก็ตาม แต่คนเหล่านี้ โชคดีตรงที่ถ้าไม่ได้ใช้ชีวิตด้วยกัน 24 ชั่วโมง จะดูไม่ออกเลยว่ามีอาการของโรคสมาธิสั้น เพราะพวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติธรรมดาเลย
ผู้ใหญ่สมาธิสั้นลักษณะนี้ จะพบบ่อยในรูปแบบความสัมพันธ์ของสามี - ภรรยา พ่อ - แม่ และปัญหาความสัมพันธ์ก็ยังอยู่ในระดับพอรับได้สำหรับคนใกล้ชิด แต่มักจะเกิดปัญหาทันทีเมื่อมีลูกค่ะ เพราะเมื่อมีลูกความคาดหวังของอีกฝ่ายจะเพิ่มขึ้นว่าต้องช่วยกันเลี้ยงลูกนะ คุณต้องใส่ใจมากขึ้นนะ ประกอบกับความเครียดที่พุ่งสูงขึ้นด้วย ทำให้อะไรที่เคยรับได้ก็รับไม่ได้แล้ว และด้วยความที่พฤติกรรมด้านบนเกิดมาจาก “โรค” จึงทำให้ผู้ใหญ่ที่เป็นสมาธิสั้น ปรับตัวให้สมกับความคาดหวังของสามี - ภรรยา ได้ช้ามาก และเกิดปัญหาในความสัมพันธ์ตามมาค่ะ
บทความแนะนำ “14 อาการของผู้ใหญ่ที่สมาธิสั้น”
ดังนั้นแล้ว เพื่อลดปัญหาและรักษาความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่สมาธิสั้น ทั้งด้วยเหตุที่เลือกไม่ได้ (พี่ - น้อง พ่อ - ลูก แม่ - ลูก) และเลือกที่จะเขาเข้ามาในชีวิตเอง (สามี - ภรรยา พ่อ - แม่) ผู้เขียนจึงขออนุญาตแนะนำ 4 เคล็ด (ไม่) ลับในการรักษาความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่สมาธิสั้น โดยทั้ง 4 เคล็บ (ไม่) ลับนั้น มีรายละเอียด ดังนี้ค่ะ
1.เข้าใจในธรรมชาติของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่มันเป็นปัญหาในความสัมพันธ์ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจจองเขา แต่มันเป็นธรรมชาติของโรค เมื่อเราเข้าใจแล้วเราจะลดความคาดหวังในตัวเขาลง และเมื่อลดความคาดหวังได้ การอยู่ร่วมกันแบบไม่คาดหวังย่อมไม่กดดัน และมีความสุขมากกว่าแน่นอนค่ะ
2.อดทน
ในเมื่อมันเป็นโรคเรื้อรังและต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการรักษา ดังนั้นการรักษาความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่สมาธิสั้น ก็คือ การอดทนในพฤติกรรมที่ทำให้เราไม่สบายใจในบางครั้ง ทำให้เราหงุดหงิดใจในบางที หากอดทนต่อสิ่งเหล่านี้ได้ ความสัมพันธ์ก็ดีขึ้นได้ค่ะ
3.พยายามช่วยเหลือเท่าที่ทำได้
การช่วยเหลือนี้ต้องอยู่ในขอบเขตที่เขายอมรับได้ด้วยนะคะ เพราะหสากเราล้ำเส้นเกินไปก็จะยิ่งไปกระตุ้นความหัวร้อน ความใจร้อนของเขาไปอีก ทำให้เขาปฏิเสธความช่วยเหลือจากเราได้ โดยวิธีการช่วยเหลือก็คือ การอุดรอยโหว่จากพฤติกรรมของเขา เช่น หากเขาขี้ลืมมาก ๆ ก็หาวิธีเตือน หากเขาใจร้อนมาก ๆ ก็หาวิธีสงบเขา เป็นต้นค่ะ
4.มองหาข้อดีในตัวเขา
ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ ผู้ใหญ่สมาธิสั้นก็เช่นกันค่ะ ในความใจร้อนพร้อมปะทะของเขา ก็ทำให้เราในฐานะคนใกล้ชิดมีบอดี้การ์ดประจำตัวไปด้วย หรือในความขี้ลืมของเขา ก็ทำให้เราได้ฝึกความจำไปด้วย เพราะเราต้องทำหน้าที่จำแทนเขา แล้วการที่เราเห็นข้อดีเช่นนี้ก็ทำให้ความสัมพันธ์แนบแน่นมากขึ้นด้วย
คุณผู้อ่านคะ ไม่มีใครที่อยากป่วย แล้วยิ่งเป็นโรคทางจิตเวช อย่างโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ด้วยแล้ว ยิ่งไม่มีใครอยากป่วยเลยค่ะ ดังนั้นแล้ว 4 เคล็ด (ไม่) ลับข้างต้น คงพอช่วยทำให้คุณผู้อ่านเข้าใจพวกเขามากขึ้นนะคะ เพราะนอกจากเราที่เป็นผู้ใกล้ชิดกับเขาแล้ว น้อยคนค่ะที่จะยอมรับและมาผูกสัมพันธ์จริงจังกับพวกเขาได้ หากคุณผู้อ่านสนใจเรื่องโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่เพิ่มเติม สามารถติดตามอ่านได้ที่บทความ “ทำงานไม่เคยเสร็จทัน คุณเข้าข่ายสมาธิสั้นรึเปล่า” โดยคุณ Ungkana Kerttongmee ได้นะคะ แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ
____________________________________________________
iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง
สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)
และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop
รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
Contact : https://www.istrong.co/service
____________________________________________________
Comentários