top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

นักจิตวิทยาแนะนำ เลี้ยงลูกอย่างไรให้ปลอดภัยจากการถูกคุกคามทางเพศ




จากข่าวร้อน ประเด็นฮอตในช่วงนี้ เรื่องการคุกคามทางเพศเด็กโดยคนในครอบครัว ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงในโลกออนไลน์อย่างมากว่า ที่คนในบ้านทำนั้น “เป็นการแสดงความรัก” หรือ “คุกคามทางเพศเด็ก” ซึ่งในฐานะที่ดิฉันเองก็เป็นแม่ของลูกสาววัยกำลังน่ารักคนหนึ่ง ก็ค่อนข้างกังวลกับเรื่องคุกคามทางเพศเด็กจากคนในครอยครัวพอสมควรเลยค่ะ เพราะคุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครองหลาย ๆ ท่าน มักจะมองว่าลูก หลานของเรานั้นเป็นเด็กน้อยอยู่เสมอ จึงมักจะแสดงความเอ็นดูโดยการหอม จุ๊บ ๆ กอด หรือสัมผัสร่างกายเด็กในระดับที่ “ลึกซึ้ง” จนบางครั้งลืมไปว่าลูก หลานของเราโตขึ้นทุกวัน และมักจะลืมนึกถึงความรู้สึกของเด็ก ว่าเขาพอใจ หรือยินยอมกับการสัมผัสนั้นหรือไม่ และเมื่อไปดูสถิติเด็กที่ถูกคุกคามทางเพศ ที่เก็บข้อมูลโดยมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี จังหวัดปทุมธานี พบว่า ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2563 – 25 ธันวาคม 2563 มีเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ ทั้งสิ้น 10,147 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ถูกกระทำจากคนในครอบครัวถึง 241 ราย และที่น่าตกใจก็คือ เป็นเด็กแรกเกิดถึง 5 ขวบ จำนวน 28 ราย และเด็ก 5 – 10 ขวบ ถึง 98 รายทีเดียวค่ะ ด้วยความห่วงใยจากดิฉันเองในบทความจิตวิทยานี้ ดิฉันจึงขออนุญาตนำขอเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ในการ “เลี้ยงลูกอย่างไรให้ปลอดภัยจากการถูกคุกคามทางเพศ” มาฝากกันค่ะ


พฤติกรรมแบบใดที่เข้าข่ายคุกคามทางเพศเด็ก


ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ได้ให้ข้อเสนอเสนอแนะว่าพฤติกรรมที่เข้าข่ายคุกคามทางเพศเด็ก มีดังนี้

  1. การเปิดร่างกายในส่วนลับให้เด็กดู เช่น อาบน้ำร่วมกับเด็กที่มีวัยอาบน้ำเองได้แล้ว ถอดเสื้อผ้า ต่อหน้าเด็ก เป็นต้น ไม่ว่าผู้ใหญ่คนนั้นจะเป็นเพศใดก็ตาม การโชว์ร่างกายในส่วนลับให้เด็กเห็นจะทำให้เด็กเข้าใจว่า เขาสามารถเปิดเผยร่างกายในส่วนลับของเขาให้ใครดูก็ได้ รวมถึงขาดความระมัดระวังตัวต่อการถูกคุกคามทางเพศอีกด้วยค่ะ เพราะเห็นจนชิน จนคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ทำ

  2. การให้เด็กดูสื่อลามก อนาจาร โดยไม่ให้ความรู้ที่เหมาะสม หรือเด็กอยู่ในวัยที่ไม่เหมาะสมที่จะรับสื่อนั้น ในข้อนี้ก็ชัดเจนโดยไม่ต้องอธิบายต่อกันเลยนะคะ ว่าทำไมพฤติกรรมนี้ถึงเป็นการคุกคามทางเพศเด็ก เพราะเด็กยังอยู่ในวัยที่แยกแยะไม่ออกว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ การให้เด็กดูสื่อที่ยังไม่ถึงวัยควรจะดู จะเป็นการเร่งให้เด็กอยากรู้ อยากลองเรื่องเพศ และเมื่อเด็กลองไปแล้วก็จะมีผลลัพธ์ทางลบตามมาอีกมากมาย เช่น ท้องไม่พึงประสงค์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้นค่ะ

  3. การมีกิจกรรมทางเพศต่อหน้าเด็ก ซึ่งจะทำด้วยตัวคนเดียว หรือมีผู้ประกอบการร่วมก็ตามก็จะให้ผลไม่ต่างจากข้อที่ 2 เลยค่ะ

  4. การสัมผัสร่างกายเด็ก โดยที่เด็กไม่ยินยอม หรือเกินขอบเขต ไม่ว่าจะกอด จูบ ลูบ คลำ หรือ การสัมผัสอื่นใดก็ตามที่เด็กไม่ยินยอม หรือเกินเลยกับเด็ก ถือเป็นการคุกคามทางเพศ และสร้างบาดแผลในใจให้กับเด็ก ๆ ได้ทั้งนั้นเลยค่ะ

วิธีสังเกตเด็กที่ถูกคุกคามทางเพศ

สำหรับวิธีการสังเกตเด็กที่ถูกคุกคามทางเพศนั้น ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้ให้ข้อสังเกตไว้ดังนี้ค่ะ

  1. เด็กมีรอยฟกช้ำตามร่างกาย มีรอยแผลสด รอยแผลเป็นหลายแห่งในร่างกาย

  2. เด็กมีท่าทีหวาดกลัว ตกใจง่าย วิตกกังวล รู้สึกไม่ปลอดภัย และไม่ไว้วางใจใคร แม้แต่คนในบ้านก็ตาม เด็กจึงมักมีพฤติกรรมแยกตัว โดดเดี่ยว มีปัญหาในการเข้าสังคม หรืออยู่กับเพื่อน

  3. เด็กบางคนมีพฤติกรรมก้าวร้าว หยาบคาย ทำร้ายร่างกายตนเอง หรือผู้อื่นบ่อยครั้ง

  4. มีอาการซึม เศร้า เหม่อลอย ขาดสมาธิ

  5. กลัวการกลับบ้าน มักหนีออกจากบ้านบ่อยครั้ง หรือเมื่อไปโรงเรียนแล้วไม่ยอมกลับบ้าน

  6. หวาดกลัวบางคนในบ้านอย่างเห็นได้ชัด โดยเด็กจะหลบหน้าคน ๆ นั้น หรือหลบสายตา ไม่ยอมเผชิญหากับบุคคลที่เด็กกลัว

  7. มีปัญหาในการนอน นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท ฝันร้าย อาจมีอาการละเมอ หรือปัสสาวะ รดที่นอนร่วมด้วย

  8. รับประทานอาหารน้อยลง เบื่ออาหาร แม้แต่อาหารที่ชอบก็รับประทานได้น้อยลง จึงทำให้เด็กน้ำหนักลด ซูบผอม

  9. มีความสนใจเรื่องเพศเกินกว่าวัย หรือพยายามยั่วยวนผู้อื่นอย่างเห็นได้ชัด

เลี้ยงลูกอย่างไรให้ปลอดภัยจากการถูกคุกคามทางเพศ


สำหรับการป้องกันการคุกคามทางเพศต่อลูก หลานที่เรารัก และการสอนให้เด็ก ๆ ป้องกันตัวเองจากการถูกคุกคามทางเพศนั้น ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้แนะนำเอาไว้ดังนี้ค่ะ

  1. ระมัดระวังการแสดงความรัก หรือการแสดงพฤติกรรมต่อเด็ก โดยเฉพาะพฤติกรรมตามที่ได้แนะนำไปในข้างต้น เพื่อไม่ให้คุกคามเด็ก หรือทำให้เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย

  2. หมั่นคอยถามความรู้สึกเด็ก ๆ อยู่เสมอว่ายังโอเคกับการแสดงออกของคนในบ้านหรือไม่ มีสิ่งกังวลใจ หรือความไม่สบายใจใด ๆ หรือไม่

  3. หมั่นสังเกตพฤติกรรมเด็กว่ามีพฤติกรรมใดเข้าข่ายข้อสังเกตที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาแนะนำไว้ในข้อด้านบนหรือไม่

  4. ให้ความรู้เรื่องเพศต่อเด็กอย่างถูกต้อง โดยใช้สื่อ หรือวิธีการที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก

  5. หากพบว่าเด็กถูกคุกคามทางเพศ รีบให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กเป็นอันดับแรกค่ะ

ถ้าหากพบเด็กถูกคุกคามทางเพศ หรือต้องการขอความช่วยเหลือ คำปรึกษาในเรื่องดังกล่าว ก็มีหลากหลายช่องทางที่สามารถรับความช่วยเหลือได้ค่ะ เช่น สายด่วน 191 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งทั้งสองเบอร์สามารถ ขอความช่วยเหลือได้ 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการเลยค่ะ หรือพาเด็กขอรับความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลใกล้บ้านก็ได้เช่นกันนะคะ หากเป็นโรงพยาบาลที่มีผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาอยู่ด้วยก็จะสามารถช่วยเหลือคุณผู้อ่านได้ตรงประเด็นมากขึ้นค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :


อ้างอิง :

[1] ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์. 27 ตุลาคม 2564. การล่วงละเมิดเด็ก : สถิติน่าห่วง วิธีแก้ปัญหา ช่องทางขอความช่วยเหลือ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 27 ตุลาคม 2564 จาก https://www.prachachat.net/general/news-789933

[2] มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก. 23 มีนาคม 2564. ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก เรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องป้องกัน!!. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 27 ตุลาคม 2564 จาก https://www.thaichildrights.org/articles/childsexualabuse/

[3] กรมอนามัย. 1 มิถุนายน 2563. วิธีสังเกตการถูกล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 27 ตุลาคม 2564 จาก https://multimedia.anamai.moph.go.th/infographics/sexual-harassment3/

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 2 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page