top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

8 สัญญาณเตือนว่าควรเปลี่ยนงานก่อนหมดใจ และควรเติมไฟก่อน Burnout


ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร แต่ดูเหมือนว่าภาวะหมดไฟ หรือ Burnout ก็ยังเป็นปัญหาสุขภาพจิตอันดับ 1 ของคนทำงาน จากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 ของสภาพัฒน์ หรือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า คนไทยในวันทำงาน 33% ไม่มี Work Life Balance จนงานคุกคามชีวิตส่วนตัว โดยเมื่อสำรวจเจาะลงไปในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า คนทำงานในกรุงเทพฯ 15%  ทำงานมากกว่า 48 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรือ ทำงานวันละ 9 – 10 ชั่วโมง (โดยไม่นับเวลาพักเที่ยง) เลยทีเดียว นั่นจึงทำให้คนทำงานในกรุงเทพฯ มากถึง 70% เกิดภาวะ Burnout และตามมาด้วยภาวะเครียด มีอาการซึมเศร้า ไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต และจากการศึกษางานวิจัยทางจิตวิทยาเกี่ยวกับภาวะ Burnout จากทั่วโลก พบว่า คนทำงานจากทั่วโลกมีภาวะ Burnout มากถึง 50% และก็ยังนำไปสู่ความเสี่ยงในการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงมากกว่าคนที่ไม่มีภาวะหมดไฟ ถึง 7 เท่า อีกทั้งยังทำให้คนที่มีภาวะหมดไฟมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน และหัวหน้างานอีกด้วย


ถึงแม้ว่าใน ICD 11 หรือ International Classification of Diseases 11th ซึ่งก็คือบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ฉบับที่ 11 ได้จัดให้ภาวะหมดไฟเป็นกลุ่มอาการใหม่ที่ ซึ่งเกิดจากความเครียดเรื้อรังจากการทำงาน โดยลักษณะของอาการหมดไฟอาจพบได้ทั้งการแสดงออกทางร่างกาย เช่น ร่างกายเหนื่อยล้า นอนไม่หลับ และอาจพบร่วมกับมีพฤติกรรมก้าวร้าว รวมถึงมีการแสดงออกทางจิตใจ โดยอาจมีการแสดงออกในลักษณะอื่น ๆ อย่างเช่น ความคิดแง่ลบ การมีทัศนคติแง่ลบกับงานที่ทำงาน และการรู้สึกขาดความภูมิใจในตนเอง โดยภาวะหมดไฟใน ICD 11 มีอาการเด่น คือ

1. รู้สึกหมดพลัง 

หมดแรงกาย หมดแรงใจในการทำงาน เบื่อหน่ายในการใช้ชีวิตในวันทำงานกับลูปเดิม ๆ  คือ ตื่น อาบน้ำ เดินทาง ทำงาน พักเที่ยง ทำงาน กลับบ้าน แล้วก็วนไปตื่นนอนใหม่เช่นนี้ซ้ำ ๆ โดยไม่มีความรู้สึกตื่นเต้น หรือสร้างคุณค่าในการใช้ชีวิตแต่อย่างใด

2. ไม่มีใจในการทำงาน มีทัศนคติด้านลบต่องาน 

เกิดความรู้สึกหมดใจกับงาน ไม่ใส่ใจงานเท่าที่ควร มีความอดทนต่อความกดดันต่ำจนทำให้ทะเลาะกับเพื่อนร่วมงาน มีปัญหากับหัวหน้างาน และทำให้เกลียดงานในที่สุด

3. ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง 

เมื่อคนเราหมดไฟ ก็จะหมดแรงในการทำงาน ทำงานด้วยความเฉื่อย ทำงานให้จบไปวัน ๆ โดยไม่ใส่ใจคุณภาพของงาน และไม่มีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน


ทั้งนี้ Miller & Smith ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ได้แบ่งระยะของการเกิดภาวะ Burnout เป็น 5 ระยะ ดังนี้ 

1. ระยะฮันนีมูน (The Honeymoon) 

เป็นช่วงเริ่มต้นในการทำงาน โดยเราจะรู้สึกตื่นเต้น มีความสุข มีไฟในการทำงาน ไม่ว่าอุปสรรคไหนเข้ามาก็พร้อมจะสู้และปรับตัว 

2. ระยะรู้สึกตัว (The Awakening) 

เป็นระยะที่เราเริ่มรู้สึกตัวแล้วว่างานไม่ตอบโจทย์ชีวิต งานเริ่มรบกวนเวลาชีวิตเรา เริ่มมีความเหนื่อยล้า และเบื่อหน่ายกับการทำงาน 

3. ระยะไฟตก (Brownout) 

เป็นระยะที่ไฟในการทำงานกำลังดับมอด ไม่อยากตื่นมางาน ไม่มีความสุขกับการทำงาน ไม่อยากพบปะเพื่อนร่วมงาน 

4. ระยะหมดไฟเต็มที่ (Full scale of burnout) 

หากในระยะไฟตก เราจับสังเกตไม่ได้ และไม่ได้เยียวยาจิตใจ จะก้าวไปสู่ขั้นหมดไฟเต็มที่ทันที โดยผู้ที่มีภาวะ Burnout ในขั้นนี้จะเป็นท้อ สิ้นหวัง หมดหวังในการทำงาน จนไม่มีกะจิตกะใจทำอะไร

5. ระยะฟื้นตัว (The phoenix phenomenon) 

และถ้าหากผู้ที่มีภาวะ Burnout ได้รับการเยียวยา หรือปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้กลับมามีไฟอีกครั้งหนึ่ง ก็จะเข้าสู่ภาวะฟื้นตัว แต่ถ้าหากยังคงไม่มูฟออน ชีวิตยังอยู่ในวังวนเดิมก็อาจกลับเข้าสู่วัฎจักรคนหมดไฟได้อีกครั้งค่ะ


ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ให้ข้อสังเกตไว้ว่า หากคุณมีสัญญาณต่อไปนี้ 4 ข้อขึ้นไป แสดงว่าคุณมีภาวะหมดไฟ ต้องรีบเปลี่ยนงานเพื่อรักษาภาวะ Burnout 

1. รู้สึกว่าไม่โอเคกับระบบขององค์กร

หากคุณยิ่งทำงาน ยิ่งรู้สึกว่ารับไม่ได้ ไม่โอเคกับระบบภายในองค์กรแล้วละก็ นั่นเป็นสัญญาณเริ่มแรกค่ะว่าเราปรับตัวเข้ากับองค์กรลำบากแล้ว และหากฝืนทนต่อไปก็จะยิ่งแย่เข้าไปอีก เพราะเราจะกลายเป็นคนต่อต้านระบบไปในที่สุด

2. เบื่อหน่ายกับการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน

งานเยอะไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาในการทำงานส่วนใหญ่มาจากคน “เยอะ” ทั้งเรื่องเยอะ ใช้อารมณ์ในการทำงาน ตั้งกฎเกณฑ์ต่อกันมากมาย คนทำงานด้วยก็เบื่อหน่ายและหมดความอดทน

3. ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน

หากคุณตื่นขึ้นมาทุกเช้าวันทำงานพร้อมความรู้สึกเบื่อ อยากจะลาทุกวันที่ทำงาน ไม่มีใจจะไปทำงาน นั่นเป็นสัญญาณที่บอกว่าคุณกำลังเข้าสู่ภาวะ Burnout แล้วค่ะ

4. งานตามติดชีวิตคุณไปทุกที่ แม้เข้านอน

เมื่อคุณเริ่มฝันถึงงาน ฝันว่ากำลังแก้งาน ฝันว่าประชุม หรือฝันว่าถูกเจ้านายตำหนิ และเริ่มหลอนเสียงโทรศัพท์ Line ดังก็ต้องเปิดมาดูข้อความเพราะกังวลว่าจะเป็นเรื่องงาน หากมีสัญญาณเช่นนี้แล้ว ใบลาพักผ่อนต้องเข้า ไม่ก็ใบโอนย้าย ใบสมัครงานที่ใหม่ต้องมาแล้วค่ะ

5. มองไม่เห็นอนาคตในการทำงาน

หากคุณทำงานอย่างล่องลอย ไม่มีเป้าหมาย ทำงานไปวัน ๆ โดยมองไม่เห็นการเติบโต มองไม่เห็นอนาคตที่สดใสในการทำงาน การเปลี่ยนงานน่าจะเป็นทางออกที่ดีอีกทางหนึ่งนะคะ

6. Work ไร้ Balance

โดยปกติแล้วชั่วโมงการทำงานที่นักจิตวิทยาองค์กรได้ศึกษามาว่ามีความเหมาะสม คือ 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ถ้าคุณต้องทำงานเป็นบ้าเป็นหลัง เป็นเดอะแบกของทีม ทำงานจนลืมวันหยุดแล้วละก็พักด่วนค่ะ

7. รู้สึกว่าค่าตอบแทนไม่คุ้มค่า

หากคุณทำงานแสนสาหัส แต่เงินเดือนแสนเบา หรือคุณมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน แต่เงินเดือนยังผ่อนจักรยานไม่ได้ แบบนี้แล้วการเปลี่ยนงานใหม่ที่ให้ค่าตอบแทนสมน้ำสมเนื้อน่าจะดีกับชีวิตคุณในระยะยาวนะคะ เชื่อเถอะค่ะว่าคุณมีคุณค่ามากพอที่จะหางานดี ๆ เงินดี ๆ ได้ไม่ยาก

8. อยากลาออกตลอดเวลา

และถ้าจิตใจมันร่ำร้องว่า “พอแล้ว” “ไม่ไหวแล้ว” อยากจะลาออกแล้ว ขออนุญาตแนะนำนิดหนึ่งนะคะว่า ก่อนจะเขียนใบลาออกขอให้คุณเปลี่ยนงานใหม่ หรือหาที่หาทางที่จะไม่ทำให้ตัวคุณเดือดร้อนให้ได้ก่อนแล้วค่อยลาออก เพราะถ้าลาออกโดยไม่มีงานใหม่ คุณจะเคว้งคว้าง และจะมีปัญหาการเงินตามมา


เพื่อให้จิตใจเราได้ฟื้นฟูจากสภาวะหมดไฟสู่ระยะฟื้นตัวใหม่อีกครั้ง การสังเกตสัญญาณหมดไฟจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากค่ะ เพราะถ้าเรารู้ตัวไวว่าเรากับที่ทำงานกำลังเป็น Toxic Relationship เราก็จะได้หาที่หาทางใหม่ที่เหมาะสมกับเรา เพื่อให้เรามีไฟในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไปค่ะ

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong


 

บทความแนะนำ : 


อ้างอิง : 1. Shopee. (8 กรกฎาคม 2565). สัญญาณเตือนว่าควรเปลี่ยนงาน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2567 จาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=5859783014064944&set=a.903212326388729

2. กรุงเทพธุรกิจ. (27 พฤษภาคม 2567). คนไทยเจ็บป่วย มีปัญหาสุขภาพจิต 10 ล้านคน ทุกวัยเครียด ซึมเศร้าพุ่ง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2567 จาก https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1128702#google_vignette

3. วราภรณ์ เลิศวิลัย คณะแพทยศาสตร์. (2563). ภาวะหมดไฟในการท ภาวะหมดไฟในการทำงานและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของนักเทคนิคการแพทย์ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.


 

จันทมา  ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้ 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page