8 เทคนิคจิตวิทยา เลี้ยงลูกอย่างไร (ไม่) ให้เป็นแบบ “สืบสันดาน”
ในช่วงนี้ซีรีส์ Netflix ที่มาแรงในประเทศไทยและในระดับโลก ต้องยกให้เรื่อง “สืบสันดาน” ที่มีทั้งความดุเดือน และจิกกัดสังคมได้อย่างเจ็บแสบ โดยซีรีส์สืบสันดานจะนำเราไปสำรวจจิตใจของสมาชิกในครอบครัวเทวสถิตย์ไพศาล ตระกูลมหาเศรษฐีธุรกิจเพชรอันดับ 1 ของเอเชีย ซึ่งประกอบไปด้วย เจ้าสัวรุ่งโรจน์ หัวหน้าครอบครัวผู้เข้มงวด และโหดร้าย ต้นแบบของ “สืบสันดาน” ภูพัฒน์ ลูกชายคนโต มาวิน ลูกชายคนเล็ก พัดชา ภรรยาของภูพัฒน์ อารยา ภรรยาของมาวิน คีตา ลูกสาวของภูพัฒน์และพัดชา และชัตเตอร์ ลูกชายของมาวินและอารยา
ตลอดการเดินทางของ “สืบสันดาน” เราจะรู้สึกอึดอัด คับข้องใจ และเห็นใจตัวละครบรรดาคนรับใช้ที่ถูกทารุณกรรม ทำร้ายจิตใจ และสาเหตุของความโหดร้ายนั้นก็บ่มเพาะมาตั้งแต่รุ่นปู่ (เจ้าสัวรุ่งโรจน์) ที่ส่งต่อสันดานโหดไปสู่รุ่นพ่อ (ภูพัฒน์ และมาวิน) และถูกส่งไปยังรุ่นลูก (คีตา และชัตเตอร์)
ด้วยเหตุนี้จึงขอสะท้อนเทคนิคจิตวิทยาจากซีรีส์ “สืบสันดาน” เป็นเทคนิคเลี้ยงลูก เพื่อที่จะเลี้ยงลูกอย่างไร (ไม่) ให้เป็นแบบ “สืบสันดาน” มาฝากกัน 8 เทคนิค ดังนี้ค่ะ
1. เลี้ยงลูกอย่างเท่าเทียม
ถึงแม้ว่าพ่อ แม่โดยส่วนใหญ่ที่มีลูกมากกว่า 1 คน จะบอกกับลูก ๆ ว่า “พ่อ แม่รักลูกเท่ากัน” ซึ่งในทางจิตวิทยาแล้วเราไม่สามารถรักใครได้อย่างเท่าเทียมกันค่ะ เพราะความรักเป็นนามธรรม ไม่สามารถวัดได้ ประเมินค่าไม่ได้ แต่รับรู้และรู้สึกถึงความเข้มข้นของความรักผ่านการแสดงออกได้
ดังนั้น พ่อ แม่ ที่มีลูกมากกว่า 1 คน จึงต้องแสดงออกถึงความรักที่มีต่อลูกแต่ละคนอย่างเท่าเทียมกัน เช่น หากซื้อของให้ ก็ต้องซื้อให้ทุกคน หากพาไปเที่ยว ก็ต้องพาไปทุกคน เป็นต้น เพื่อไม่ให้ลูกเกิดความรู้สึกด้อยค่าตนเอง น้อยใจพ่อ แม่ และอิจฉาพี่ น้องค่ะ
2. เลี้ยงลูกด้วยความยุติธรรม
เทคนิคเลี้ยงลูกข้อที่ 2 ที่แนะนำต่อพ่อ แม่ที่มีลูกมากกว่า 1 คน ก็คือ เลี้ยงลูกด้วยความยุติธรรมค่ะ โดยความยุติธรรมต่างจากความเท่าเทียมตรงที่ ความเท่าเทียม คือ การให้ลูกทุกคนเท่ากัน แต่ความยุติธรรม คือ การที่ลูกได้รับบางสิ่งบางอย่างจากเราอย่างสมเหตุสมผล เช่น หากลูกคนโตไม่เก่งภาษา และต้องการจะพัฒนาทักษะด้านภาษา ก็ควรส่งเสริมลูกด้านภาษา
หรือหากลูกคนเล็กเจ็บป่วย พ่อ แม่ ก็ต้องทุ่มเวลาในการดูแลลูกคนเล็กในช่วงเวลานั้นมากกว่าลูกคนอื่น เป็นต้น ซึ่งความยุติธรรมนี้จะช่วยให้พ่อ แม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของลูกแต่ละคนได้ตรงตามความต้องการของลูก และยังทำให้พ่อ แม่อย่างเราเข้าใจธรรมชาติ หรือความชอบ – ไม่ชอบของลูกแต่ละคนได้อีกด้วย
3. ใส่ใจความรู้สึกของลูก
ฉากที่รู้สึกว่าคนในบ้านขาดความรัก และขาดการใส่ใจกันมากที่สุด คือ ฉากที่ชัตเตอร์ขอกอดพ่อ ซึ่งตัวละครรู้สึกว่าการขอกอดพ่อ เป็นเรื่องยากและไม่คุ้นเคย ซึ่งในฉากนั้นมาวินก็สวมกอดลูก แม้ว่าจะครู่เดียว แต่ชัตเตอร์ก็ดูมีความสุข และแน่นอนค่ะว่าความสุขอยู่ได้แค่ชั่วอึดใจเท่านั้น หลังจากนั้นก็ทะเลาะกันใหญ่โต และหยาบคาย ใจร้ายใส่กัน จนนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรง
ดังนั้นแล้วหากเราใส่ใจลูก ให้เวลาคุณภาพกับลูก แสดงความรักต่อลูก สอบถามความรู้สึกของลูกอย่างสม่ำเสมอ เราจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในใจให้แก่ลูก ลูกจะมีความเข้มแข็ง สามารถเผชิญปัญหาได้อย่างสุดสตรอง เพราะลูกรู้เสมอว่าเราคือ Safe Zone ของลูกเสมอ ไม่ว่าจะเจอเรื่องหนักหนาแค่ไหน พ่อ แม่จะเคียงข้างเขาเสมอ
4. ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก
ซีรีส์เรื่อง “สืบสันดาน” เป็นซีรีส์เรื่องหนึ่งที่เลือกชื่อเรื่องได้เหมาะสม เพราะความโหดร้ายในบ้าน เริ่มต้นมาจากเจ้าสัวรุ่งโรจน์ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เพราะเจ้าสัวทั้งดูถูกคนรับใช้ ทำร้ายร่างกายคนรับใช้ ใช้คำรุนแรง หยาบคายกับลูก จนทำให้ลูกซึมซับความรุนแรง และเรียนรู้แบบผิด ๆ ว่าการเหยียดหยามหรือทำร้ายคนที่มีฐานะต่ำกว่า หรือคนที่ด้อยกว่านั้นเป็นเรื่องปกติ
แล้วทั้งภูพัฒน์ และมาวิน ซึ่งได้รับการสืบสันดาน ก็ส่งต่อสันดานนั้นไปยังคีตา และชัตเตอร์ ที่โหดร้ายกับคนรับใช้พอ ๆ กัน ดังนั้นแล้วถ้าเราต้องการให้ลูกเป็นคนดี ไม่เป็น Toxic People เราก็ต้องเป็นคนดี เป็นคนน่ารัก เป็นคนในแบบที่อยากให้ลูกเป็นเสียก่อนค่ะ
5. สนับสนุนให้ลูกดูแลกันและกัน
สิ่งที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมในสืบสันดาน เป็นผลมาจากการสนับสนุนให้ลูก “แข่งขันกัน” ของเจ้าสัว ทำให้ทั้งภูพัฒน์และมาวิน มองพี่ – น้อง เป็นคู่แข่ง จึงแก่งแย่งชิงดีกันมาตลอด ตั้งแต่แข่งกันเป็นคนโปรดของพ่อ แข่งกันยึดครองบริษัท แข่งกันมีอำนาจในบ้าน โดยไม่สนวิธีการ และไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของอีกฝ่าย
จนเลิดเถิดรุนแรงแบบสุดโต่งไปเลย ดังนั้นแล้ว ถ้าเราไม่อยากให้ลูก ๆ ของเราทำร้ายกันแบบในซีรีส์ เราก็ต้องสนับสนุนให้เขารักกัน ให้เขาช่วยเหลือกัน ไม่เปรียบเทียบลูกกับลูก ไม่เปรียบเทียบลูกกับคนอื่น เพราะลูกแต่ละคนมีจุดเด่นและธรรมชาติต่างกัน
6. ใช้คำพูดเชิงบวกกับลูก
การใช้คำพูดเชิงบวกเป็นเทคนิคเลี้ยงลูกที่สำคัญอย่างมาก เพราะเมื่อเราพูดจากับเขาดี ด้วยถ้อยคำสุภาพ และสร้างความรู้สึกทางบวก ลูกของเราจะมีการมองโลกในทางบวก มีทัศนคติต่อโลกและผู้คนในมุมบวก นั่นจะส่งเสริมให้เขามี Self – Esteem ที่เข้มแข็ง มีความยืดหยุ่นทางจิตใจสูง สามารถรักษาระดับสุขภาพจิตของเขาเองได้ไม่ว่าเขาจะเผชิญฏับความเครียดและแรงกดดันมหาศาล และลูกของเรายังสามารถส่งต่อพลังบวกให้กับผู้อื่นได้อีกเรื่อย ๆ
7. สอนให้ลูกให้เกียรติ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่รวมกันเป็นสังคม และมีชนชั้น แต่ไม่ว่าใครจะอยู่ในชนชั้นไหนก็มีความสำคัญกับการขับเคลื่อนสังคมทั้งนั้น และทุกคนที่มีปฏิสัมพันธ์กันย่อมมีอิทธิพลต่อกันมากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่ความใกล้ชิด และชนชั้น ดังนั้นไม่ว่าเราจะอยู่ในชนชั้นไหนก็ตามการให้เกียรติคนอื่น
และการสอนลูกให้เกียรติคนอื่น รวมถึงมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญมาก เพราะเราต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น ยังคงต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น ดังนั้นการสร้างมิตรจึงประเสริฐกว่าสร้างศัตรูค่ะ
8. สนับสนุนให้ลูกค้นหาตนเอง และเดินตามความฝัน
และมาถึงเทคนิคจิตวิทยาในการเลี้ยงลูกข้อสุดท้ายจากซีรีส์สืบสันดาน ก็คือ สนับสนุนให้ลูกค้นหาตนเอง และเดินตามความฝันค่ะ เพราะตามทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการแล้ว มนุษย์ทุกคนมีความปรารถนาในการค้นหาตัวตนของเราเอง
เพราะการที่เรารู้จักตนเองเท่ากับว่าเราค้นพบความหมายของการมีชีวิต ค้นพบความฝัน และควรให้ลูกเดินตามความฝันของเขา เราให้กำเนิดลูก เลี้ยงดูลูก แต่ไม่ใช่เจ้าของชีวิตลูก ชีวิตเป็นของลูก เรามีหน้าที่แค่อยู่เคียงข้างและสนับสนุนเขาค่ะ
ตัวละครภูพัฒน์ ที่แสดงโดยคุณชาย ชาตโยดม หิรัญยัษฐิติ ได้กล่าวไว้ว่า “บริษัทเป็นความฝันของพ่อ ไม่ใช่ของผม ความต้องการของผมมีแค่ต้องการออกไปใช้ชีวิตของตนเอง” นั่นแสดงให้เห็นถึงความอึดอัด คับข้องใจที่ต้องทนอยู่ในเส้นทางที่พ่อเลือกให้มาตลอดชีวิต ด้วยเหตุนี้พ่อแม่ อย่างเราจึงไม่ควรกักขังลูกไว้ด้วยสิ่งที่เราเลือกให้ เพราะสิ่งนั้นเป็นความต้องการของเรา ไม่ใช่ของลูกค่ะ
หากคุณต้องการพัฒนาทักษะด้านจิตวิทยา เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์และในชีวิตประจำวัน สามารถดูคอร์สเรียนจาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง :
[1] 18 HR Skills Every HR Professional Needs [2024 Guide]. Retrieved from https://www.aihr.com/blog/hr-skills/
[2] คน Gen Z ในที่ทำงาน: วิธีทำให้คนเหล่านี้มีความสุขอยู่เสมอ. Retrieved from https://th-th.workplace.com/blog/gen-z-in-the-workplace
ผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก
บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments