จะเลี้ยงดูบุตรหลานอย่างไรให้โตไปเป็นคนที่รู้จักเห็นใจคนอื่น
จากประเด็นข่าวดังหลาย ๆ ข่าว โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน เป็นประเด็นที่ค่อนข้างสะท้อนถึงภาพของการขาดความเห็นใจคนอื่น เช่น ทำที่จอดรถกินพื้นที่ส่วนกลาง จอดรถหน้าบ้านของคนอื่น ตากผ้าที่รั้วบ้านของคนอื่น ประกอบธุรกิจขายอาหารแล้วกลิ่นไปรบกวนเพื่อนบ้าน ฯลฯ หลาย ๆ ครั้งก็จะมีการตั้งคำถามจากชาวเน็ตว่าบุคคลเหล่านี้เติบโตมาอย่างไรถึงได้กล้าแสดงพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งผู้เขียนคิดว่าปัจจัยที่ทำให้แต่ละคนเติบโตขึ้นมาขาดความเห็นอกเห็นใจคนอื่นหรือขาดจิตสำนึกต่อส่วนรวมนั้นคงแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว ดังนั้นมันจึงน่าจะง่ายกว่าหากพ่อแม่ผู้ปกครองหันมาโฟกัสที่วิธีการเลี้ยงดูบุตรหลานของตนเองให้โตไปเป็นคนที่รู้จักเห็นใจคนอื่น เพราะมันเป็นส่วนที่สามารถควบคุมได้และสามารถทำได้เลยโดยเริ่มต้นที่ตัวเองตั้งแต่วันนี้ ได้แก่
1. ทำความเข้าใจถึงสาเหตุของการเป็นคนไม่เห็นอกเห็นใจคนอื่น
หากคุณเริ่มจับสัญญาณได้ว่าบุตรหลานของตนเองเริ่มแสดงพฤติกรรมที่สะท้อนถึงการเป็นคนไม่เห็นอกเห็นใจคนอื่น คุณอาจจะลองสำรวจย้อนกลับไปเพื่อค้นหาสาเหตุของปัญหาพฤติกรรมที่คุณสังเกตเห็น และลองตั้งสมมุติฐานขึ้นมา เช่น กฎที่คุณใช้ในการตกลงกับบุตรหลานมันจริงจังหรือหละหลวมไม่ชัดเจน มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นกับเด็กหรือไม่ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับเพื่อนที่โรงเรียนมีปัญหาไหม เวลาที่ลูกเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ มักจะทะเลาะกันหรือเปล่า โดยที่ยังไม่ต้องไปวิตกกังวลกับเหตุการณ์ในอนาคตแต่ให้หมั่นสังเกตพฤติกรรมในปัจจุบันของบุตรหลานเพื่อที่จะได้เข้าไปช่วยเหลือแก้ไขได้ทัน ก่อนที่บุตรหลานจะติดนิสัยไม่เห็นอกเห็นใจคนอื่น
2. ฝึกให้บุตรหลานเรียนรู้ที่จะทำตามข้อตกลง
ในการที่จะฝึกให้บุตรหลานมีพฤติกรรมที่เหมาะสมและเข้าใจว่าอะไรคือผิดชอบชั่วดี คุณควรเริ่มจากการทำข้อตกลงร่วมกันว่าพฤติกรรมอะไรบ้างที่จะไม่เป็นที่ยอมรับในบ้านหลังนี้ ซึ่งเรียกว่า “No Tolerance Policy” เช่น บ้านนี้ไม่ยอมรับความรุนแรงหรือการใช้กำลังต่อกัน ฝึกให้บุตรหลานรู้จักแบ่งปัน สอนว่าพฤติกรรมแบบไหนที่สะท้อนการมีนิสัยเห็นแก่ตัวและช่วยสอนให้บุตรหลานรู้ว่าหากมีพฤติกรรมเห็นแก่ตัวจะทำให้เกิดอะไรขึ้นตามมา
3. สอนให้บุตรหลานมี “Empathy”
ก่อนที่เด็กจะสามารถเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นหรือสำนวนภาษาอังกฤษเรียกว่า “put themselves in other’s shoes” เด็กจะต้องรู้จักและเข้าใจความหมายของสีหน้าท่าทางที่คนอื่นแสดงออกมา ซึ่งการที่เด็กจะสามารถตีความอารมณ์ความรู้สึกจากสีหน้าท่าทางได้นั้น ผู้ใหญ่ในบ้านจะต้องสอนให้เด็กรู้จักสังเกตใส่ใจและช่วยให้เด็กแยกแยะสีหน้าแห่งความสุข/ความทุกข์ได้ หรือคุณอาจจะใช้วิธีเล่นบทบาทสมมุติกับบุตรหลาน เช่น ลองให้เด็กสวมบทบาทว่าหากเป็นคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบหนึ่ง เด็กจะทำยังไงหรือจะรู้สึกแบบไหน เพื่อให้เด็กสามารถพัฒนา Empathy ขึ้นมาได้
4. ชี้ให้เห็นว่าอะไรคือพฤติกรรมของคนที่ไม่เห็นแก่ตัว
วิธีที่ดีที่สุดในการกำจัดพฤติกรรมเห็นแก่ตัวก็คือการชี้ให้เห็นพฤติกรรมที่เป็นไปในทางตรงกันข้าม โดยคุณสามารถชี้ให้บุตรหลานของคุณรู้จักและเข้าใจว่าอะไรคือพฤติกรรมของคนที่ไม่เห็นแก่ตัวในทันทีที่เขาทำพฤติกรรมนั้นขึ้นมา รวมถึงกล่าวชื่นชมโดยทันทีที่คุณเห็นและบอกกับเขาว่าเพราะอะไรคุณถึงชอบให้เขาแสดงพฤติกรรมแบบนั้น เช่น เขาทำให้คนอื่นรู้สึกดียังไงบ้าง เวลาที่เขาแสดงพฤติกรรมแบบนั้นกับคนอื่น ซึ่งมันจะเป็นการเสริมแรงให้บุตรหลานอยากแสดงพฤติกรรมแบบนั้นซ้ำอีกเรื่อย ๆ
5. กำหนดขอบเขต
เด็กที่เห็นแก่ตัวมักเป็นเด็กที่ไม่เข้าใจขอบเขตของตัวเอง โดยอาจจะเกิดจากผู้เลี้ยงดูตามใจหรือไม่เคยบอกเด็กว่าอะไรที่ไม่ควรทำบ้าง ซึ่งก็คือไม่ได้กำหนดขอบเขตให้เด็กนั่นเอง และหลีกเลี่ยงการตามใจหรือให้ในสิ่งที่เด็กต้องการเวลาที่เด็กโวยวายอาละวาด (tantrums) แต่ให้แสดงท่าทีที่หนักแน่นและพูดกับเด็กด้วยน้ำเสียงที่นิ่งสงบว่าเขาจะไม่ได้สิ่งที่ต้องการทุกครั้งไปโดยเฉพาะเวลาที่เขาโวยวายอาละวาด และอย่าลืมบอกใหทุกคนในครอบครัวทำในทิศทางเดียวกัน ไม่ควรเลี้ยงดูเด็กแบบขัดกัน เช่น พ่อแม่กำหนดขอบเขตแต่ปู่ย่าตายายแอบตามใจ
6. เป็น “Role Model” ให้บุตรหลาน
ตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน เด็กมักเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่เขาใกล้ชิดและมักใช้เวลาด้วยมากที่สุด ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดในการฝึกลูกให้เป็นคนที่รู้จักเห็นใจคนอื่นก็คือเป็นคนแบบนั้นให้เขาเห็น
7. ใช้วิธีให้รางวัล
คุณสามารถให้รางวัลบุตรหลานของคุณได้ทันทีที่เขาแสดงพฤติกรรมที่สะท้อนว่าเขามีความเห็นใจคนอื่น โดยอาจจะใช้วิธีกล่าวชื่นชม กอด หรือแสดงท่าทางในเชิงบวก เช่น มองเขาด้วยแววตาชื่นชม เพื่อช่วยกระตุ้นให้เขารู้สึกดีทุกครั้งที่แสดงพฤติกรรมแบบนั้นและอยากจะทำอีกบ่อย ๆ
อย่างไรก็ตาม เทคนิคข้างต้นเป็นเพียงเทคนิคเชิงทฤษฎีที่คุณสามารถนำมาปรับใช้กับบุตรหลานของตัวเองเพื่อให้เขารู้จักเห็นใจคนอื่น แต่ในทางปฏิบัติแล้วการเห็นใจคนอื่นเป็นสิ่งที่ต้องมาจากข้างใน ดังนั้น ปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้การนำเทคนิคต่าง ๆ ที่มีคนแนะนำไว้ในอินเตอร์เน็ตมาใช้ ก็คือการให้ความรักความอบอุ่นบุตรหลานอย่างเพียงพอ การมีเวลาคุณภาพร่วมกัน รวมไปถึงการเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่บุตรหลาน หากคุณตระหนักว่าตนเองเป็นคนหนึ่งมีมีปัญหาด้านอารมณ์พฤติกรรม ซึ่งจะเป็นอุปสรรคใหญ่ในการเลี้ยงดูบุตรหลานอย่างเหมาะสม คุณอาจลองปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนที่ตัวเองก่อน
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง:
[1] Selfishness in Children – Tips to Raise an Altruistic Child. Retrieved from. https://parenting.firstcry.com/articles/selfishness-in-children-tips-to-raise-a-selfless-child/
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นนักเขียนของ ISTRONG และเป็นทาสแมว
Comments