top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

จิตวิทยาการหย่าร้าง : 3 ระยะทำใจ จบเส้นทางรักอย่างไรให้ OK

ว่าด้วยเรื่องของการ “หย่าร้าง” ไม่ว่าใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับชีวิตคู่ของตัวเอง ถูกไหมคะ ซึ่งแน่นอนค่ะว่าในทางจิตวิทยา การหย่าร้างนั้นส่งผลอย่างแรงต่อความรู้สึก ต่อความมั่นใจ และต่อการใช้ชีวิตอย่างแรงเลยค่ะ แล้วถ้าคู่ไหนมีลูกด้วยแล้ว ผลกระทบที่ว่าก็จะส่งไปยังลูก ๆ อีกต่างหาก และโดยส่วนใหญ่แล้ว ตามที่เราได้เห็นข่าวมา หรือเห็นคนรอบตัวที่ผ่านการหย่าร้างมา มักจะจบไม่สวย ใช่ไหมคะ ไม่ว่าจะเป็นการตามทำร้ายกัน การขึ้นศาลเพื่อแย่งสิทธิในการเลี้ยงดูลูก การตกลงเรื่องทรัพย์สิน และภาระหนี้สินที่ไม่ลงตัว ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้คู่รักที่กลายเป็นคู่ร้างส่วนใหญ่จะมองหน้ากันไม่ติด ความสัมพันธ์แตกร้าวจนไม่อยากใช้อากาศหายใจร่วมกันเลยละค่ะ


Wedding Rings

ถึงแม้ว่าการหย่าร้างจะทำให้เกิดปัญหาชีวิตตามมาอย่างมากมาย แต่เมื่อเทียบกับการที่ต้องทนใช้ชีวิตอยู่กับคนเคยรัก ที่นอกจากจะไม่รักกันแล้ว ยังเกลียดกันเข้าไส้ อีกฝ่ายทำอะไรก็ขวางหูขวางตา แค่ได้ยินเสียง ได้ยินชื่อก็หงุดหงิดใจ เจอหน้ากันทีไรก็ทะเลาะกันให้ลูกเห็นแล้วละก็ การหย่าร้าง น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าค่ะ


ดังนั้นแล้ว เพื่อให้การหย่าร้างเป็นไปด้วยดีและรักษาสภาพจิตใจของทุกฝ่ายมากที่สุด จึงขอนำเสนอข้อเสนอแนะของนักจิตวิทยามาให้อ่านกันค่ะ


โดยวิธีการก็ได้แบ่งออกเป็น 3 ระยะตามนี้เลยค่ะ


ระยะที่ 1 ก่อนหย่าร้าง


1. เปิดใจพูดคุย และปรับความรู้สึก

การพูดคุยอย่างจริงใจและพูดทุกความรู้สึกที่มีในสถานการณ์นี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายกลับมาคืนดีนะคะ แต่เพื่อเป็นการปรับความเข้าใจ เคลียร์สิ่งที่ค้างคาใจ ให้แยกทางกันไปแบบไม่มีอะไรติดค้าง ทั้งสองฝ่ายจะได้ไม่เกิดความสงสัยว่า “ฉันผิดอะไร?” หรือ “ใครเป็นคนผิด?” แต่ให้เกิดความเข้าใจว่า แม้ว่าเราจะไม่ได้รักกันแล้ว แต่เรายังสามารถพูดคุยตามประสาคนรู้จักกันได้ค่ะ


2. บอกกล่าวให้คนในครอบครัวรับรู้สถานการณ์

สิ่งสำคัญที่ควรทำก่อนหารหย่าร้างที่นักจิตวิทยาเน้นย้ำว่าควรทำเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ การบอกกล่าวสถานการณ์ให้กับลูก และ พ่อ แม่ ของแต่ละฝ่ายรับรู้และเข้าใจค่ะ เพราะมีหลายเคสที่กลายเป็นโรคเครียด โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือโรคทางจิตเวช เพราะว่าครอบครัวแตกแยกกระทันหัน แบบที่เขาไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ ดังนั้น การพูดคุยเรื่องจริงว่า พ่อ – แม่ (ในกรณีที่บอกลูก) หรือ ลูก (ในกรณีที่บอกพ่อ – แม่) กำลังจะหย่าร้างกัน จึงเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางให้คนในบ้านได้ค่ะ เพราะเขาจะได้เตรียมตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังจากการหย่าร้างของ พ่อ – แม่ หรือของลูกได้


3. วางแผนชีวิตหลังการหย่าร้างร่วมกัน

ถึงแม้ว่าการหย่าร้างจะทำให้คนสองคนเลิกเป็นคนรักกันแล้ว แต่ไม่ได้ทำให้ความเป็น พ่อ – แม่ หรือความเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงร่วมกันเปลี่ยนแปลงไปนะคะ เพราะฉะนั้น นักจิตวิทยาจึงแนะนำว่า ให้อดีตคู่รักที่กำลังจะหย่าร้างกันต้องมีการวางแผนร่วมกัน ทั้งเรื่องการจัดการทรัพย์สิน การแบ่งภาระหนี้สิน การแบ่งหน้าที่ดูแลลูก การแบ่งหน้าที่ดูแลสัตว์เลี้ยง และข้อตกลงในเรื่องที่ยังต้องทำร่วมกันหลังการหย่าร้างค่ะ



Couple Talking

ระยะที่ 2 ร้างลาอย่างเป็นทางการ


1. ตั้งสติก่อนสตาร์ทชีวิตใหม่

ถึงแม้ว่าจะมีการเตรียมตัวเตรียมใจในการหย่าร้างมานานแค่ไหน แต่เมื่อถึงเวลาจริงทุกคนล้วนเกิดความรู้สึกเสียใจค่ะ และโดยส่วนใหญ่ถึงขั้นเสียหลักเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งที่ช่วยเหลือเราได้มากในสถานการณ์เช่นนี้ ก็คือ “สติ” ตั้งสติ แล้ววางแผนชีวิตให้ดีว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร รวมถึงจะจัดการอารมณ์และความรู้สึกของเราอย่างไร


2. พยายามใช้เวลาอยู่กับคนที่รักเราให้มากขึ้น

ถึงแม้เราจะออกมาจากสถานะคู่รัก แต่เรายังมีลูก ยังมีพ่อ มีแม่ มีเพื่อนสนิท และมีสัตว์เลี้ยง ที่รักเราแบบเกิน 100 อยู่นะคะ การใช้เวลาอยู่กับคนที่เรารักมากกว่าการจมอยู่กับความคิด จมอยู่กับความรู้สึกผิด จมอยู่กับความรู้สึกเศร้า ก็เป็นทางหนึ่งที่นักจิตวิทยาแนะนำว่าควรทำ เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าได้ค่ะ


3. เลือกที่จะฟัง เลือกที่จะมอง และเลือกที่จะใช้ชีวิต

ทุกการเปลี่ยนแปลงของชีวิตเรา จะมีคนที่ใส่ใจเราแบบตามติดสิงอยู่ในสังคมออนไลน์ค่ะ ไม่ว่าจะเป็น Line บ้าง Facebook บ้าง ซึ่งคนเหล่านี้ก็จะมาในรูปแบบคนที่ใส่ใจ ถามไถ่แม้ในเรื่องไม่ควรถาม เช่น “อ้าว! ทำไมถึงหย่าละ?” “ผู้ชายมีคนใหม่เหรอคะ?” หรือ “เค้าบอกว่าพี่ไม่ดีตรงไหนเหรอจ๊ะ?” ซึ่งแต่ละคำถามถ้าเราไปใส่ใจก็จะสร้างความปวดใจค่ะ เพราะฉะนั้นต้องปิดหู ปิดตา ปิดปากบ้าง แล้วชีวิตจะมีความสุขขึ้นเยอะ



Single Again

ระยะที่ 3 เป็นโสดอีกครั้ง


ถ้าสามารถรักษาจิตใจให้ผ่านพ้นระยะที่ 1 และ 2 มาได้แล้ว ในระยะที่ 3 ก็สบายแล้วค่ะ เพราะคำแนะนำของนักจิตวิทยาในระยะนี้ มีสั้น ๆ คือ “ใช้ชีวิตให้เป็นของเรา” ค่ะ โดยการทำในสิ่งที่เราชอบ ทำในสิ่งที่อยากทำแต่ยังไม่มีโอกาสได้ทำ ทำงานตามความสามารถ หมั่นพัฒนาศักยภาพ ใส่ใจดูแลคนที่รักเราและเรารัก ออกไปดูโลกกว้างเพื่อให้เราได้เปิดหู เปิดตา เปิดวิสัยทัศน์ให้กว้างขึ้น ให้เวลากับตัวเอง และถ้าวันหนึ่งได้มีโอกาสได้พบอดีตคนรัก ก็ขอให้ “เปิดใจ” ให้อภัย และให้โอกาสเขาได้ใช้ชีวิตให้เป็นของเขาเช่นกันนะคะ



การหย่าร้างไม่ใช่ความผิดพลาด ไม่ใช่ความสูญเสีย แต่เป็น “ตัวเลือกที่ดีที่สุดในสถานการณ์นั้น ๆ ของชีวิตคู่” ค่ะ หวังว่าคำแนะนำทั้ง 3 ระยะข้างต้น จะช่วยให้คุณผู้อ่านที่กำลังอยู่ในสถานการณ์ข้างต้นสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดีนะคะ หากคุณผู้อ่านต้องการคำปรึกษาหรือต้องการอ่านบทความจิตวิทยาที่น่าสนใจเพิ่มเติม ติดตามได้ใน iStrong นะคะ

 

istrong.co ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตและครอบครัว


บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)


และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page