top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

รู้จักนักจิตวิทยา (Psychologist) บุคคลที่เป็นมากกว่าที่ปรึกษา


Psychologist

“นักจิตวิทยา” (Psychologist) หลายคนอาจคุ้นหูคุ้นตากับคำคำนี้ และอีกหลายคนอาจยังไม่เคยรู้จักจริง ๆ ว่า “นักจิตวิทยา” นั้น เป็นบุคคลเช่นไร ทำงานแบบไหน นอกจากการเป็นที่ปรึกษา บทความนี้เราจะพาไปรู้จักกับนักจิตวิทยากันค่ะ



การไปพบนักจิตวิทยาสำหรับบางท่านแล้วเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะน่าอาย ไม่สามารถเปิดเผยให้ใครทราบได้ นั่นก็เพราะมีความเชื่อต่อ ๆ กันมาว่า การไปพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์นั้น ต้องเป็นคนบ้า

ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2432 ก็ประมาณ 130 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเราได้มีโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรก แต่ชื่อไม่ค่อยน่ารักเท่าไหร่ค่ะ คือ “โรงพยาบาลคนเสียจริต” ที่รับรักษา “คนบ้า”



โดยนิยามคนบ้าของเขา ก็คือ คนที่มีอาการผิดปกติโดยหาสาเหตุทางกายไม่พบ แถมยังมีอีกความเชื่อว่าอาการเหล่านี้เป็นผลมาจากเรื่องเหนือธรรมชาติ การรักษาจึงเป็นไปในลักษณะการจับคนป่วยแยกออกมาจากคนอื่น ๆ คุมขังเอาไว้ ในโรงพยาบาล รักษาด้วยยาสมุนไพรตามอาการ หากคนไหนก้าวร้าวก็มีการทุบตีเพื่อให้สงบ ซึ่งฟังดูแล้ว เป็นสถานที่ที่ไม่ต่างอะไรจากคุกเลยค่ะ แล้วการรักษาผู้ป่วยที่เรียกว่า “คนบ้า” ก็เป็นแบบนี้มาตลอดจนถึง พ.ศ. 2488 ที่มีการเปลี่ยนผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นแพทย์มิชชั่นนารีชาวต่างประเทศ ชื่อคุณหมอไฮเอ็น ซึ่งก็ได้รับการปรับปรุงเรื่องความสะอาด อาหารการกิน และมีการสั่งห้ามการทำร้ายผู้ป่วยทุกกรณี



และในปี พ.ศ. 2485 วงการรักษาผู้ป่วยทางจิตไทยก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ผ่านโรงพยาบาลแห่งนี้ เมื่อนายแพทย์ฝน แสงสิงห์แก้ว ได้มารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ และใช้การแพทย์แผนใหม่ในการรักษาผู้ป่วย ปฏิบัติต่อผู้ป่วยจิตเวชเช่นเดียวกับผู้ป่วยทางกาย และได้เปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลเป็น “โรงพยาบาลโรคจิต ธนบุรี” ซึ่งได้มีผู้เชี่ยวชาญขององค์กรอนามัยโลกมาตรวจเยี่ยม และได้เขียนรายงานว่า “เป็นโรงพยาบาลจิตเวชที่ดีที่สุดในตะวันออกของคลองสุเอซ” เลยทีเดียว และใน

ปัจจุบันโรงพยาบาลแห่งนั้นก็ได้พัฒนามาพร้อมกับศาสตร์ทางจิตเวชของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลแห่งนั้น ก็คือ โรงพยาบาลศรีธัญญา นั่นเอง



แต่แม้ว่าจิตวิทยาและจิตเวชของไทยจะพัฒนาขึ้นมาขนาดไหน แต่คนรุ่นเก่าก็ยังไม่เปิดรับเรื่องที่ว่า

การไปพบนักจิตวิทยาเป็นเรื่องปกติ เพราะอย่างที่กล่าวไปตอนแรกค่ะว่า คนรุ่นเก่ามีประสบการณ์เกี่ยวกับจิตเวชค่อนไปในทางลบ จึงมีคติว่า คนที่ไปพบนักจิตวิทยาคือคนบ้า ยังไม่หมดเท่านั้นค่ะ



นอกจากคนรุ่นเก่าจะมีคติความเชื่อเกี่ยวกับจิตเวช/จิตวิทยาไปในทิศทางดังกล่าวแล้ว คนทั่ว ๆ ไป ก็มีมุมมองต่อนักจิตวิทยาว่า เป็นพวกเหนือมนุษย์ จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนเองเลยนะคะ สมัยเรียนจิตวิทยา มช. ทุกครั้งที่แนะนำตัวกับเพื่อน ๆ นักศึกษาสาขาอื่นว่าเรียนเอกจิตวิทยาคลินิก มักจะมีคำถามตามมาว่า “งั้นดูเราหน่อยสิ ว่าเราเป็นคนแบบไหน?” คือว่า...คุณขา ดิฉันไม่ใช่หมอดูค่ะคุณ ไม่ใช่คนมีจิตสัมผัสที่จะหยั่งรู้ว่าคนที่เพิ่งเคยเจอครั้งแรกมีนิสัยใจคออย่างไรนะจ๊ะ



แล้วคำถามนี้ก็ตามหลอกหลอนผู้เขียนไปจนทำงานที่แรกในฐานะนักจิตวิทยาโรงเรียนเลยค่ะ เท่านั้น

ยังไม่พอค่ะ เมื่อเราเรียนจบและทำหน้าที่นักจิตวิทยาเต็มตัว เราก็จะถูกคาดหวังจากคนที่มารับบริการ

จากเรา ญาติผู้ป่วย และเพื่อนร่วมงานสายอื่น ว่าการที่ผู้ป่วย มาหาเราเพียงครั้งเดียวต้องมีอาการดีขึ้นทันตา และหากผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้น หรือเราพยายามอธิบายความรู้สึก ความคิด ความต้องการของผู้ป่วยให้ญาติเข้าใจแต่ญาติไม่เปิดใจจะเข้าใจ เรากลับได้คะแนนติดลบในสายตาเขาทันที เราจะกลาย

เป็นนักจิตวิทยาที่ไม่เก่ง แถมยังเหมารวมไปว่า การมาหานักจิตวิทยาเป็นเรื่องเสียเวลา ไม่มีอะไรดีขึ้น

ไปหาเจ้าพ่อ เจ้าแม่ให้ผลไวกว่าอีก...กลายเป็นแบบนั้นไป



ดูสิคะเป็นนักจิตวิทยาในบ้านนี้ เมืองนี้เราต้องสตรองขนาดไหน เพราะฉะนั้นแล้ว เพื่อให้เกิดความเข้าใจไปในทางเดียวกัน มาค่ะ ผู้เขียนจะเล่าให้ฟังว่าจริง ๆ แล้ว พวกเรานักจิตวิทยาเป็นยังไงกันแน่ และสามารถช่วยเหลือคุณผู้อ่านได้อย่างไร มาฟังกันค่ะ



1. ลักษณะงานของนักจิตวิทยา งานหลักของเหล่านักจิตวิทยา มี 4 งานด้วยกัน ตามนี้ค่ะ


1.1 ตรวจวินิจฉัยทางจิตวิทยาโดยการใช้เครื่องมือทดสอบจิตวิทยาที่เป็นมาตรฐาน ร่วมกับการสังเกตพฤติกรรม และการสัมภาษณ์ วิเคราะห์ และแปลผลการทดสอบส่งต่อให้นักจิตบำบัด และจิตแพทย์เพื่อวางแผนการบำบัดรักษาผู้ป่วยต่อไปค่ะ


1.2 บำบัดรักษาทางจิตวิทยา ซึ่งเป็นวิธีการบำบัดรักษาที่ไม่ต้องใช้ยา เช่น การทำจิตบำบัด การให้คำปรึกษา ครอบครัวบำบัด drama therapy เป็นต้น


1.3 ศึกษา ค้นคว้า วิจัยทางจิตวิทยาในสาขาที่ปฏิบัติงาน เพื่อนำผลการศึกษา/วิจัย มาใช้ประโยชน์ในการสร้างเครื่องมือทางจิตวิทยาใหม่ หรือสร้างเครื่องมือเป็นของตนเองเพื่อลดต้นทุนค่าลิขสิทธิ์ในการใช้ของเมืองนอก หรือการนำองค์ความรู้ใหม่มาใช้ในการพัฒนางาน เป็นต้น


1.4 ปฏิบัติงานส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน และป้องกันโรคเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ความรู้ทางจิตวิทยาในรูปแบบการสอน การฝึกอบรม เพื่อให้คนทั่วไปมีความรู้เรื่องสุขภาพจิตที่ถูกต้อง เหมาะสม และสามารถนำไปดูแลตัวเองและคนรอบข้างได้



2. ความแตกต่างของนักจิตวิทยากับจิตแพทย์ ความแตกต่างของนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ คือ


จิตแพทย์สามารถวินิจฉัยและรักษาอาการทางจิตเวชด้วยยาได้ สามารถให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจต่าง ๆ เช่น การตรวจเลือด การตรวจทางรังสีวิทยา นอกจากนั้นยังสามารถวินิจฉัยให้ผู้ป่วยใช้คลื่นไฟฟ้ากระตุ้นสมอง ได้อีกด้วย ในขณะที่นักจิตวิทยามีลักษณะงานดังเช่นที่กล่าวถึงในข้อที่ 1 และไม่สามารถสั่งจ่ายยาหรือวินิจฉัยอาการทางการแพทย์ได้



3. เหตุผลที่เวลาคุณทุกข์ใจควรมาหานักจิตวิทยา


3.1 ทุกเรื่องของคุณจะถูกเก็บเป็นความลับ ทุกเรื่องไม่สบายใจ ทุกสิ่งที่คุณพูดจะถูกเก็บไว้กับเราอย่างมิดชิด ไม่มีการบอกต่อแต่อย่างใด เพราะฉะนั้น ขอให้คุณผู้อ่านสบายใจได้เลยว่า เมื่อมาเล่าให้เราฟังแล้วจะไม่มีใครรู้ความลับของคุณผู้อ่านแน่นอนค่ะ


3.2 เราเป็นผู้ฟังที่ดี เพราะการเป็นนักฟังเป็นพื้นฐานของอาชีพเราอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น คุณผู้อ่านไม่ต้องกลัวว่าเราจะพูดแทรก จะตัดบท จะตัดสินคุณผู้อ่านจากสิ่งที่คุณเล่า ขอเพียงคุณเปิดใจให้เรา เราจะฟังทุกเรื่องราวของคุณค่ะ


3.3 เราใส่ใจทุกรายละเอียด เราจำรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวของคุณได้ เราใส่ใจทุกความคิด ทุกความรู้สึก และเราใส่ใจทั้งสิ่งที่คุณพูด สิ่งที่คุณแสดง และสิ่งที่คุณคิดแต่ไม่ได้พูดออกมา พวกเรานักจิตวิทยาให้ความสำคัญกับคุณเสมอค่ะ



4. เราสามารถพาคุณออกจากที่แคบสู่ที่กว้าง


สามารถพาคุณออกมาจากที่มืดสู่ที่สว่าง พวกเรานักจิตวิทยาจะใช้ทุกอย่างที่เราได้เรียนรู้มาเพื่อช่วยเหลือคุณผู้อ่านทุกคนที่ทุกข์ใจ จะช่วยเหลือให้คุณผู้อ่านที่มีความไม่สบายใจได้พบทางออกที่ดีที่สุด และรวดเร็วที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ค่ะ



ทั้งหลายทั้งมวลที่เขียนมาข้างต้น ผู้อ่านเพียงอยากจะสื่อสารใจความใหญ่เพียงใจความเดียวค่ะ คือ เปิดใจให้นักจิตวิทยาเถอะ เพราะพวกเรามีความปรารถนาดีต่อสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตของทุกคนอย่างแท้จริงค่ะ หากคุณผู้อ่านต้องการขอคำปรึกษาจากนักจิตวิทยา แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ติดต่อพวกเราชาว iStrong.co ได้เสมอนะคะ

อ้างอิง : 1. สุวิชชา เพียราษฎร์. 30 ตุลาคม 2560 .“หลังคาแดง” โรงพยาบาลโรคจิตแห่งแรกของไทย! รักษาด้วย “ป่า” และ “ไม่ให้อยู่ว่าง” ทำเงินซื้อที่ดิน “ศรีธัญญา”ได้!!. (ออนไลน์). สืบค้นจาก https://mgronline.com/onlinesection/detail/9600000109605

2. unigang. 21 ตุลาคม 2553. นักจิตวิทยา. (ออนไลน์). สืบค้นจาก https://www.unigang.com/Article/83

3. ส่องโสม พึ่งพงศ์ และ สุณิสา คินทรักษ์. 2016. หลักจรรยาบรรณสำหรับนักจิตวิทยาและมาตรฐานการประพฤติปฏิบัติของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน. ปรับปรุงใหม่ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สมาคม นักจิตวิทยาคลินิกไทย.

____________________________________________________

iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว

บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)

และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย

Comentários


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page