top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

แม่จ๋า อย่าตีหนู ! 7 เทคนิคจิตวิทยาลดความเครียดในการเลี้ยงลูก



แม่จ๋า อย่าตีหนู! คำพูดนี้คงเป็นคำพูดยอดฮิตของเด็กน้อยวัย 3 – 6 ขวบค่ะ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นวัยช่างพูด ช่างสงสัย ที่แสนจะน่ารักของพ่อ แม่ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นวัยที่สร้างความเครียดในการเลี้ยงลูกให้แก่คุณพ่อ คุณแม่ เพราะเป็นวัย “ลองของ” ค่ะ ทำทุกอย่างที่ห้าม ทำตรงข้ามกับที่บอก จนคุณพ่อ คุณแม่ ปวดเศียรเวียนเกล้า และเผลอใช้อารมณ์กับลูก หรือลงโทษลูกรุนแรง แล้วก็มารู้สึกผิดเองอยู่ตลอด ๆ หรือร้ายกว่านั้น ลูกก้จะฝังใจและเกิดความรู้สึกในทางลบต่อเราตามมา ทั้งนี้ ด้วยความเข้าใจในฐานะแม่ คนหนึ่งเช่นกัน ดิฉันจึงขอนำเทคนิคจิตวิทยาในการลดความเครียดในการเลี้ยงลูก มาฝากกันค่ะ


1. รู้ทันอารมณ์ตัวเอง

ปัญหาใหญ่ที่ทำให้คุณพ่อ คุณแม่ เผลออารมณ์ร้ายใส่ลูก หรือทำร้ายลูก นั่นก็เพราะเราคุมตัวเองไม่ทันค่ะ พอลูกกวนอารมณ์ให้ขุ่น เกิดความเครียดในการเลี้ยงลูก เราก็หัวร้อน แล้วเผลอปาก หรือพลั้งมือไปเลย กว่าจะรู้ตัวก็ทำให้ลูกเสียใจ หรือเจ็บตัวไปเสียแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้ทันอารมณ์ตัวเองว่ากำลังจะโกรธแล้วนะ เราะก็จะได้รีบจัดการอารมณ์ตัวเองด้วยการควบคุมลมหายใจ หรือ Time Out ตัวเองออกจากสถานการณ์ดังที่จะกล่าวถึงต่อไป เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ก่อนพูดคุยทำความเข้าใจกับลูกค่ะ


2. เข้าใจพัฒนาการของลูก

สิ่งหนึ่งที่นักจิตวิทยาพยายามสร้างความตระหนัก และพยายามให้ความรู้กับคุณพ่อ คุณแม่ ก็คือ ความสำคัญของพัฒนาการเด็กค่ะ เพราะถ้าเรารู้และเข้าใจว่าลูกของเราจะมีพัฒนาการด้านร่างกาย สังคม และอารมณ์ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราก็จะสามารถรับมือ และทำความเข้าใจได้ว่า สิ่งที่ลูกทำที่เรามองว่าดื้อ มองว่าท้าทาย มองว่าไม่โอเค จริง ๆ แล้ว เขาแค่โตขึ้นเท่านั้นเอง


3. ตกลงการแสดงพฤติกรรมของลูกให้ชัดเจน

บางครั้ง การที่ลูกไม่ทำตามที่เราพูด หรือท้าทายกฏเกณฑ์ที่ตั้งไว้ สาเหตุหนึ่งอาจจะมาจากที่เราไม่ได้ตกลงการแสดงพฤติกรรมกับลูกที่ชัดเจนมากพอ ดังนั้น เราควรตกลงทำความเข้าใจกับลูกให้ชัดเจนเลยว่า อะไรที่ลูกไม่สามารถทำได้ เพราะอะไร เช่น ห้ามกระโดดเล่นตรงบันได เพราะจะทำให้ลูกตกลงมาเจ็บ ห้ามตีคนอื่น เพราะคนอื่นจะเจ็บ และอาจโกรธจนทำร้ายลูกคืนได้ และหากลูกเป็นต้นค่ะ ซึ่งคุณพ่อ คุณแม่ อาจจะต้องย้ำข้อตกลงกันบ่อย ๆ หน่อยนะคะ เพราะบางทีลูกเล่นเพลิน ก็อาจลืมข้อตกลงได้โดยไม่ตั้งใจ


4. หายใจเข้า - ออก ช้า ๆ ลึก ๆ

หากเกิดความเครียดในการเลี้ยงลูก การควบคุมลมหายใจ เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยได้มากเลยค่ะ เมื่อรู้สึกหัวร้อน ลองหายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกช้า ๆ อยู่กับตัวเอง ตั้งสติรับรู้ความรู้สึก หายใจเข้า - ออก จนใจเย็นลงแล้วจะรู้สึกได้เลยค่ะว่าหัวโล่งขึ้นมาก ใจเย็นขึ้น เราก็จะพูดคุยกับลูก หรืออธิบายกับลูกโดยใช้เหตุผล มากกว่าอารมณ์ และลดโอกาสทำร้ายลูกทั้งร่างกาย และจิตใจได้มากเลยค่ะ


5. ถ้าไม่ไหวก็ Time Out ตัวเองก่อน

แต่ถ้าเจ้าตัวเล็กของเราแผลงฤทธิ์แผลงเดช ปล่อยของ จนเกิดความเครียดในการเลี้ยงลูก และวิธีที่แนะนำข้างต้นเอาไม่อยู่แล้วละก็ ขอให้แยกตัวเองออกมา แล้วให้คนในบ้านที่เราไว้ใจดูแลแทนก่อนสักครู่ค่ะ เพราะถ้ายังอยู่ในสถานการณ์ที่ลูกงอแง โวยวาย หรือเอาแต่ใจอยู่ละก็ เราเองก็คงระเบิดเช่นกัน เพราะฉะนั้นปลีกตัวเองไปอยู่ในที่สงบ ๆ เช่น ห้องน้ำ อีกห้องหนึ่ง หรือบริเวณนอกบ้าน ให้พายุอารมณ์สงบลงก่อน แล้วค่อยเข้าบ้านไปพูดคุยกับลูกค่ะ


6. จัดเวรดูแลลูกบ้างในบางที

มนุษย์พ่อ มนุษย์แม่ ส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ ไม่ค่อยมีใครได้เลี้ยงลูกเต็มเวลาใช่ไหมคะ เพราะต้องออกไปทำงานกัน กว่าจะกลับถึงบ้านก็หมดแรงแล้ว แต่คนที่คึกคักและดีใจที่พ่อ แม่ กลับบ้าน ก็คือเจ้าตัวเล็กของเรานั่นละค่ะ แล้วทีนี้วิธีที่จะรักษา Balance ระหว่างความรู้สึกของลูก กับความรู้สึกของเรา ก็สามาถทำได้โดยการเปลี่ยนเวรกันเล่นกับลูก ดูแลลูก เช่น กลับถึงบ้าน 1 ทุ่ม คุณแม่เล่นกับลูก ดูแลลูกจนถึง 2 ทุ่ม ส่วนคุณพ่อไปทานข้าว อาบน้ำ แล้วมาเปลี่ยนคุณแม่ ทีนี้ทั้งสองคน ก็จะได้พักผ่อน และเล่นกับลูกแบบไม่รู้สึกเกิดความเครียดในการเลี้ยงลูกจนเกินไปค่ะ


7. ไปพักผ่อนให้สบายใจ ก่อนกลับมาเลี้ยงลูกอีกที

แต่ถ้าหากคุณผู้อ่านเกิดความเครียดในการเลี้ยงลูกสูงจนรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว อีกวิธีที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ ไปพักผ่อนบ้าง ฝากคุณยาย คุณย่า ช่วยดูให้สักพัก หรือฝากคุณพ่อดูแลสักครู่ใหญ่ ๆ แล้วไป ชาร์ตแบต ไปเที่ยว ไปนวด ไปดูภาพยนตร์ ไปสังสรรค์ พบปะเพื่อนฝูงบ้าง ให้หายเครียด แล้วกลับมาดูแลลูกต่ออย่างสดใสค่ะ


การดูแลลูก บางช่วงเวลาก็เป็นเวลาแห่งความสุข บางช่วงเวลาก็เป็นช่วงเวลาท้าทายอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ต้องพบเจอและรับมือตลอดชีพกันเลยค่ะ เพราะฉะนั้นการผ่อนคลายความเครียดของคุณพ่อ คุณแม่ จึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อรักษาสุขภาพจิตและคุณภาพอารมณ์เวลาอยู่กับลูก ดิฉันและ Istrong หวังว่าทั้ง 7 เทคนิคที่แนะนำข้างต้น จะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อ คุณแม่นะคะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 
 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต


コメント


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page