5 เหตุผลทางจิตวิทยา เพราะอะไรเมื่อเราไม่สบายใจเรามักจะไปทำบุญ?
เคยสงสัยหรือไม่คะ ว่าเพราะอะไรเมื่อเราไม่สบายใจเราถึงต้องไปทำบุญ หรือไปทำความดีต่าง ๆ เช่น บริจาคเงิน บริจาคของ บริจาคเลือด บริจาคโลงศพ หรือไปเป็นอาสาสมัครต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่การทำความดีก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาหายไป แต่กลับทำให้เราสบายใจอย่างน่าประหลาด ซึ่งความรู้สึกสบายใจจากการทำบุญหรือทำความดีเหล่านั้นไม่ได้เกิดจากเราคิดไปเองค่ะ เพราะในบทความนี้จิตวิทยามีคำตอบมาฝากกัน
จากงานวิจัยทางจิตวิทยาของ Elizabeth Dunn ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาแห่ง University of British Columbia หรือมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ในประเทศแคนาดา โดยทดลองมอบเงินจำนวนหนึ่งให้กลุ่มตัวอย่าง แล้วทำการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่นำเงินไปบริจาค หรือช่วยเหลือคนอื่น
จะรู้สึกมีความสุขมากกว่ากลุ่มที่นำเงินไปใช้ส่วนตัวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัย Michael Poulin ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาชาวสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 846 คน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาถึง 5 ปี พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีจิตสาธารณะ คือ คอยช่วยเหลือคนรอบข้างในช่วงหนึ่งปีก่อนที่จะเกิดวิกฤตในชีวิต
เช่น ตกงาน ประสบปัญหาด้านการเงิน ลักขโมย ป่วยด้วยโรคร้ายแรง สูญเสียคนในครอบครัว หรือบุคคลที่รัก เป็นต้น คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากความเครียดน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่เคย หรือไม่ค่อยให้ความช่วยเหลือผู้อื่น แล้วเพราะเหตุใดกันการช่วยเหลือผู้อื่น หรือการทำบุญจึงทำให้ความไม่สบายใจลดน้อยลงได้ ซึ่งจากงานศึกษาทางจิตวิทยามีข้อค้นพบ ดังนี้ค่ะ
1. มีการเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาจากการช่วยเหลือผู้อื่น
เมื่อเราช่วยเหลือผู้อื่น ประโยชน์ทางตรงที่เกิดแก่ผู้ที่เราช่วยเหลือ ก็คือ ได้ช่วยให้เขาลดความทุกข์ลง และประโยชน์ทางอ้อมต่อตัวเรา ก็คือ เรื่องราวของชีวิตเขา หรือปัญหาของเขาจะช่วยสอนเรา และเป็นบทเรียนให้ชีวิตเรา เช่น เมื่อเราเคยให้คำปรึกษา หรือให้ความช่วยเหลือเพื่อนคนหนึ่งที่มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนรักจนเพื่อนผ่านพ้นปัญหาไปได้ หากวันหนึ่งเรามีปัญหาคล้าย ๆ กันกับเพื่อน เราก็สามารถใช้คำแนะนำที่เคยให้เพื่อน หรือวิธีแก้ปัญหาที่เพื่อนเคยใช้มาใช้แก้ปัญหาของตนเองบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าผลลัพธ์อาจได้ไม่เหมือนกัน แต่อย่างน้อยความเครียดของเราจะลดลง เพราะเราเคยผ่านปัญหาเช่นนี้มาแล้ว แม้ว่าจะเป็นการผ่านมือสอง คือเรียนรู้จากคนอื่นมาก็ตาม
2. เห็นโลกที่กว้างขึ้น หลายแง่มุมมากขึ้น
Bruce Doré และคณะผู้วิจัยแห่ง Columbia University in the City of New York หรือมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้ทำการศึกษาสภาพจิตใจของผู้ให้คำปรึกษา ในระยะเวลา 3 สัปดาห์ ผลการศึกษา พบว่า ผู้ที่มีบทบาทในการให้คำปรึกษามากกว่าเป็นผู้คอยรับคำแนะนำ จะมีสภาวะทางอารมณ์ที่ดีขึ้นมากกว่าผู้ที่คอยรับคำแนะนำเป็นหลัก นั่นเพราะผู้ที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้อื่นได้ฝึกการคิดทบทวนและปรับมุมมอง (Reappraisal) เพื่อช่วยให้คนอื่น ๆ ก้าวผ่านปัญหาโดยการควบคุมอารมณ์และใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา
3. รู้สึกว่าฉันไม่ได้เผชิญปัญหาตามลำพัง
ยังคงอยู่ที่ผลการศึกษาของ Bruce Doré และคณะของเขา ที่นอกจากจะค้นพบว่าการให้คำปรึกษาจะช่วยให้เรามีมุมมองต่อโลกที่กว้างขึ้น หลากหลายมากขึ้นแล้ว ยังค้นพบอีกว่า การทำบุญ หรือการทำความดีต่อผู้อื่น เช่น การให้คำปรึกษานั้น ยังช่วยลดการหมกมุ่นอยู่กับตนเอง (Self-focused Attention) ได้เป็นอย่างมาก เพราะเมื่อเรารับฟังเรื่องราวของคนอื่น โดยธรรมชาติแล้วเราก็จะได้แชร์เรื่องราวของเราด้วย นั่นทำให้โลกของเราและโลกของเขากว้างขึ้น และมีการปรับมุมมองให้สมดุลกัน ซึ่งผลการศึกษานี้ยังสอดคล้องกับผลการศึกษาของ Adam Grant นักจิตวิทยาองค์กร ผู้เขียนหนังสือ Give and Take: A Revolutionary Approach to Success ที่ว่า “หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดที่สามารถทำได้เมื่อมีปัญหา ก็คือการพูดคุยและแลกเปลี่ยนเรื่องราวกับใครสักคนที่กำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน เพราะจะทำให้มองเห็นปัญหานั้นในมุมมองที่ฉลาดขึ้น และค้นพบทางออกในที่สุด”
4. มีความเข้มแข็งทางใจ
Robert Ward นักจิตวิทยาการศึกษาชาวอเมริกา ได้เขียนบทความ “Life Lessons From Fictional Characters” ซึ่งนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการช่วยเหลือตัวเองด้วยการให้ความช่วยเหลือคนอื่น โดย Ward ทำการทดลองในกลุ่มเด็กนักเรียนและให้เด็ก ๆ เล่นละคร (Role Play) เป็นผู้ให้คำปรึกษากับตัวละครในการ์ตูน หรือหนังสือที่กำลังอยู่ในอารมณ์ทางลบ เช่น เศร้า เสียใจ โกรธ โมโห เพื่อช่วยเหลือให้ตัวละครรู้สึกดีขึ้น ผลการทดลอง พบว่า เด็ก ๆ มีความฉลาดทางอารมณ์เพิ่มขึ้น รวมถึงมีความยืดหยุ่นทางจิตใจ (Resilience) เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลให้เด็ก ๆ สามารถปรับตัวและฟื้นตัวคืนสู่สภาพเดิมเมื่อต้องเผชิญความยากลำบาก
5. ชีวิตมีความหวังเสมอ
จากการศึกษาของ การวิจัยของ University of Pennsylvania หรือ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ร่วมกับ The University of Chicago หรือ มหาวิทยาลัยชิคาโก โดยให้เด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา จำนวน 2,274 คน ที่มีแรงจูงใจในการเรียนต่ำ ไปให้คำปรึกษาด้านการเรียนแก่รุ่นน้อง หรือให้ความช่วยเหลือรุ่นน้องด้านการเรียน พบว่า เด็กกลุ่มดังกล่าวมีแรงจูงใจ (Motivation)ในการเรียนสูงขึ้น ขยันมากขึ้น ใส่ใจต่อการเรียนมากขึ้น มั่นใจในศักยภาพของตัวเอง (Confidence) มากขึ้น ในขณะที่เด็กที่ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเรียนเพื่อน และเด็กที่รับคำปรึกษามีแรงจูงใจในการเรียนเท่าเดิม
จากเหตุผลข้างต้นจึงยืนยันได้ว่าการทำความดี หรือการทำบุญนั้น ให้สิ่งที่ดี ๆ กลับมาอย่างแท้จริง โดยสิ่งแรกที่เรารู้สึกได้ในทันที ก็คือ ความไม่สบายใจลดลง ความทุกข์ใจลดลง ส่วนสิ่งที่ตามมา ก็คือ คนที่มีความทุกข์ ความเดือดร้อน จะได้รับความช่วยเหลือ ทั้งจากเราโดยตรง หรือจากเราในทางอ้อมก็ตาม การทำความดีล้วนเป็นประโยชน์ทั้งสิ้นค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเองก็มีความไม่สบายใจ มีความทุกข์ใจ การได้ส่งต่อสิ่งดี ๆ นั้นจะช่วยปรับความรู้สึกของเราให้ดีขึ้นได้ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง
และหากคุณต้องการพัฒนาตนเอง ให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง : ณัฏฐนิช ตัณมานะศิริ. (2563, 30 เมษายน). ถ้าเธอกังวล จงช่วยคนอื่น...จิตวิทยาเรื่อง ‘การให้’ ที่ผู้ให้ ‘ได้รับ’ มากกว่าที่คิด. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 31 พฤษภาคม 2023 จาก https://www.creativethailand.org/new/article/trend/32440/th#trend-may-20-3
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก อดีตนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments