top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักจิตบำบัด แตกต่างกันอย่างไร?



แม้ว่าบริการสุขภาพจิตจะเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แต่คนส่วนใหญ่มักจะมีภาพของบริการสุขภาพจิตในมุมของการรักษาด้วยยา จึงพบว่ามีหลายคนที่ตัดสินใจไม่เข้ารับบริการสุขภาพจิตเพราะไม่อยากกินยา นอกจากนั้นยังพบว่ามีคนจำนวนมากที่ยังติดอยู่กับภาพของโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยเดินตาลอย พูดจาไม่รู้เรื่อง หรือถูกจับมัดไว้กับเตียงในหอผู้ป่วยใน ทำให้ทุกครั้งที่นึกถึงการไปพบจิตแพทย์ก็จะนึกถึงคำว่า “คนบ้า” และส่งผลให้มีคนจำนวนหนึ่งที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพจิตด้วยความเข้าใจผิดต่าง ๆ เกี่ยวกับผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะคำว่า “จิตเวช” กับ “โรคจิต” ที่ยังมีหลายคนแยกความแตกต่างไม่ออก รวมถึงไม่ทราบว่า “จิตแพทย์” “นักจิตวิทยา” และ “นักจิตบำบัด” มีความแตกต่างกันยังไง หลายคนก็เรียกทุกวิชาชีพรวม ๆ ไปเลยว่า “หมอ”

จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักจิตบำบัด แตกต่างกันอย่างไร?

จิตแพทย์ (psychiatrist)

ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่เป็น “หมอ” อย่างแท้จริงมีเพียงวิชาชีพจิตแพทย์เท่านั้น เนื่องจากจิตแพทย์หมายถึงผู้ที่ต้องสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรแพทยศาสตร์ ผ่านการฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาจิตเวชศาสตร์ต้องมีคุณสมบัติและความรู้ความสามารถขั้นต่ำตามสมรรถนะตามมาตรฐานที่กำหนด และมีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะในวิชาชีพจิตแพทย์ โดยจิตแพทย์ต้องมีคุณสมบัติที่เกี่ยวข้อง เช่น

  • มีความสามารถการดูแลรักษาผู้ป่วย (Patient Care)

  • มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและความสามารถในการนำไปใช้แก้ปัญหาของผู้ป่วยและสังคมรอบด้าน

  • มีการเรียนรู้จากการปฏิบัติและการพัฒนาตนเอง (practice-based learning and improvement)

  • มีทักษะการมีปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร (Interpersonal and Communication Skills)

  • มีความรู้ความสามารถอาชีพ (Professionalism)

  • มีการปฏิบัติงานให้เข้ากับระบบ (System-based practice)

ซึ่งในส่วนของรายละเอียดปลีกย่อยของความสามารถของจิตแพทย์ขึ้นอยู่กับความถนัดและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของจิตแพทย์แต่ละคน แต่คุณสมบัติที่จิตแพทย์แตกต่างจากนักจิตวิทยาและนักจิตบำบัดอย่างชัดเจนก็คือ จิตแพทย์สามารถสั่งจ่ายยารักษาโรคได้ ในขณะที่นักจิตวิทยาและนักจิตบำบัดจะไม่สามารถสั่งจ่ายยารักษาโรคได้ นอกจากนั้น จิตแพทย์หลายคนก็มีความเชี่ยวชาญในการทำจิตบำบัดด้วยเช่นกัน


นักจิตวิทยา (psychologist)

นักจิตวิทยาคือผู้ที่ได้รับปริญญาหรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก ในสาขาจิตวิทยาตามที่หน่วยงานต้นสังกัดเห็นว่าเหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดชอบและลักษณะงานที่ปฏิบัติ โดยนักจิตวิทยาจะมีด้วยกันหลายแขนง แต่ละแขนงจะมีคุณสมบัติเฉพาะที่แตกต่างกันไปเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของงานหลักที่ต้องทำ เช่น

  • นักจิตวิทยาคลินิก (Clinical Psychologist)

  • นักจิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychologist)

  • นักจิตวิทยาองค์กร (Industrial & Organizational Psychologist)

  • นักจิตวิทยาอาชญากรรม (Forensic Psychologists)

  • นักจิตวิทยาสุขภาพ (Health Psychologist)

จุดร่วมของวิชาชีพนักจิตวิทยา ได้แก่ การเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ เช่น กระบวนการคิด พฤติกรรม ความถนัด แรงจูงใจ แรงขับ อารมณ์ความรู้สึก ทั้งในส่วนที่สังเกตได้ในจิตสำนึกและในส่วนที่ลึกลงไปถึงระดับจิตไร้สำนึก ซึ่งสำหรับในประเทศไทยมีเพียงวิชาชีพจิตวิทยาคลินิกเท่านั้นที่จำเป็นจะต้องมีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะด้านจิตวิทยาคลินิกเพื่อเป็นนักจิตวิทยาคลินิก ส่วนวิชาชีพจิตวิทยาแขนงอื่นยังไม่มีการกำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ และจิตวิทยาบางแขนงก็ยังไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนในประเทศไทย รวมไปถึงในหลักสูตรจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่มีการสอนวิชา “สะกดจิตบำบัด (Hypno-Psychotherapy)” ดังนั้น นักจิตวิทยาในประเทศไทยจึงไม่สามารถสะกดจิตได้ ส่วนคนที่สามารถให้การรักษาแบบสะกดจิตบำบัดได้นั้นจะต้องเป็นนักจิตบำบัดที่ผ่านการฝึกฝนด้านการสะกดจิตบำบัดจนมีคุณสมบัติที่ผ่านมาตรฐาน


นักจิตบำบัด (psychotherapist)

คำว่า “therapist” มีความหมายกว้างขวางและใช้เรียกคนหลากหลายวิชาชีพ เช่น หมอนวดแผนไทยก็ถือว่าเป็น therapist แขนงหนึ่ง สำหรับนักจิตบำบัดนั้นจะตรงกับคำว่า “psychotherapist” หมายถึง ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการเอื้อให้บุคคล กลุ่ม คู่สมรส หรือสมาชิกในครอบครัว เกิดการเข้าใจตนเองมากขึ้น มีทักษะในการรับมือจัดการกับความเครียดหรือวิกฤตชีวิตมากขึ้น เกิดแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านอารมณ์พฤติกรรม และเอื้อให้เกิดการฝึกปฏิบัติเพื่อให้สามารถจัดการกับปัญหาอารมณ์พฤติกรรมและปัญหาสัมพันธภาพได้ ผ่านเทคนิคจิตบำบัดประเภทต่าง ๆ ซึ่งจิตบำบัดนั้นอาจเป็นการผสมผสานระหว่างการใช้ยาและการพูดคุยด้วยเทคนิคจิตบำบัดก็ได้ โดยนักจิตบำบัดแต่ละคนก็จะมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไปตามทฤษฎีจิตบำบัดที่ตนเองสนใจ เช่น

  • Cognitive Behavioral Therapies (CBT)

  • Psychoanalytic Therapies

  • Psychodynamic Therapies

  • Systemic and family Psychotherapy

  • Arts and Play Therapies

  • Humanistic and Integrative Psychotherapies

  • Hypno-Psychotherapy

  • Experiential constructivist therapies


เรื่องของจิตใจนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ดังนั้น ก่อนรับบริการสุขภาพจิตควรพิจารณาเลือกอย่างละเอียดถี่ถ้วนทุกครั้ง โดยควรเลือกรับบริการจากผู้ที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานวิชาชีพหรือได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ และควรตั้งเป้าหมายของการรับบริการ เช่น อยากได้ยา ไม่อยากได้ยาแค่อยากพูดคุย อยากได้ทั้งยาทั้งการพูดคุย เพื่อให้ตนเองได้รับบริการสุขภาพจิตที่ตอบโจทย์ความต้องการมากขึ้น


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] What is Psychotherapy. Retrieved from. https://www.psychiatry.org/patients-families/psychotherapy

[3] การรับสมัคร / ทำความรู้จักแพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชศาสตร์ (adult psychiatry). Retrieved from. https://www.rama.mahidol.ac.th/psych/th/content/04112013-0823-th


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page