top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

ทำไมผู้ใหญ่ถึงทารุณเด็ก? ชวนทำความรู้จักกับ Child Abuse เพื่อหยุดวงจรความรุนแรง


“ช่วยเด็ก 10 ขวบถูกทำร้าย-แม่อ้างแค่ทำโทษ”

“พบศพเด็กเสียชีวิตปริศนา ลำตัวมีร่องรอยฟกช้ำ”

“พ่อเลี้ยงและแม้แท้ ๆ ทำร้ายลูกจนซี่โครงหัก”...

การทารุณเด็ก (Child Abuse) เป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ และพบได้ในทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทยเองก็มีตัวเลขของเด็กที่ถูกทารุณอยู่ไม่น้อย โดยจากตัวเลขของกรมกิจการเด็กและเยาวชนแสดงให้เห็นถึงจำนวนของเด็กไทยที่ถูกทารุณในปี พ.ศ. 2556 – 2563 ว่ามีจำนวน 1,950 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นการถูกทารุณทางร่างกาย รองลงมาเป็นการถูกทารุณทางเพศ และการทารุณทางจิตใจ ซึ่งที่น่าตกใจก็คือคนที่ทารุณเด็กส่วนใหญ่แล้วเป็นคนในครอบครัวหรือคนที่ใกล้ชิดกับเด็กมากกว่าที่จะเป็นคนที่เด็กไม่รู้จัก ในบทความนี้จึงอยากชวนให้ทุกคนทำความรู้จักกับคำว่า “Child Abuse” เพื่อมาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการหยุดวงจรความรุนแรง และช่วยกันทำให้สังคมของเราเป็นสังคมที่ดีต่อใจค่ะ



การทารุณเด็ก (Child Abuse) คืออะไร?


การทารุณเด็ก คือการที่ผู้ใหญ่ทำร้ายเด็กในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

  1. การทารุณทางร่างกาย เช่น ทุบตี หรือกระทำความรุนแรงต่อร่างกายของเด็กจนมีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้น

  2. การทารุณทางเพศ เช่น ลวนลาม ลูบคลำ ไปจนถึงขืนใจ

  3. การทารุณทางจิตใจ เช่น ตะคอก ดูถูกเหยียดหยาม เย็นชา ทำเหมือนเด็กเป็นอากาศธาตุ

  4. การทารุณทางสุขภาพ เช่น ไม่พาไปรับวัคซีน ไม่พาไปหาหมอเวลาที่เด็กมีอาการป่วย

นอกจากการทารุณทั้ง 4 แบบแล้ว ยังมีรูปแบบของการทำร้ายเด็กอีกแบบหนึ่งก็คือ การทอดทิ้งเด็ก (Neglect) เช่น ทิ้งให้เด็กเล็กที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อยู่ตามลำพัง ไม่จัดหาน้ำสะอาดหรืออาหารที่มีประโยชน์ให้เด็ก ให้อยู่ในที่ที่สกปรกไม่ดีต่อสุขภาพของเด็ก ไม่พาไปเข้าโรงเรียนเมื่อถึงวัยอันสมควร เป็นต้น



การทารุณเด็ก (Child Abuse) เกิดขึ้นเพราะอะไร?


คำถามที่ว่า 'ทำไมผู้ใหญ่ถึงทารุณเด็ก' นั้น ไม่มีคำตอบตายตัว แต่นักวิชาการได้กล่าวถึงสาเหตุของการทารุณเด็กไว้อย่างกว้าง ๆ ดังนี้

  • ผู้กระทำเคยมีประวัติถูกทารุณมาก่อน โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็ก

  • ใช้สารเสพติด

  • มีปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น post-traumatic stress disorder (PTSD)

  • มีความเครียดจากปัญหาส่วนตัว เช่น ปัญหาการเงิน ตกงาน ป่วยหนัก

  • ขาดความเข้าใจเรื่องธรรมชาติของเด็ก ทำให้ไม่สามารถรับมือกับบางพฤติกรรมของเด็กได้อย่างเหมาะสม

  • ขาดทักษะในการรับมือกับความเครียดของตนเอง

  • ไม่มีผู้ที่ให้ความช่วยเหลือทั้งในส่วนของการช่วยแบ่งเบาในการเลี้ยงเด็ก และในส่วนของความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงเด็กที่ถูกต้องเหมาะสม

  • เด็กที่มีความฉลาดมาก ๆ หรือมีภาวะบกพร่องทางร่างกาย จะทำให้ผู้เลี้ยงดูเกิดความเครียดได้มากขึ้น

  • กำลังเผชิญกับวิกฤตชีวิต เช่น มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว หย่าร้าง

  • มีปัญหาบุคลิกภาพ เช่น มีความมั่นใจในตัวเองต่ำ มีความรู้สึกผิดหรือละอายใจอยู่ลึกๆ

นอกจากนั้น ผู้ใหญ่ที่มีแนวโน้มจะกระทำการทารุณเด็ก มักมีลักษณะ ดังนี้

  • ไม่สนใจหรือปฏิเสธที่จะเข้าไปดูแลช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมหรือเด็กมีลักษณะเลี้ยงยาก

  • ใช้คำพูดที่สะท้อนว่าเด็กไม่ได้มีตัวตนหรือคุณค่าในสายตาของผู้เลี้ยงดู

  • เรียกร้องให้เด็กทำในสิ่งที่ผู้เลี้ยงดูอยากทำในวัยเด็กแต่ทำไม่สำเร็จ

  • ขอร้องให้ครูทำโทษเด็กอย่างรุนแรงทุกครั้งที่เด็กทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม

  • ไม่ค่อยกอดหรือแสดงความรักต่อเด็ก

  • แสดงท่าทีเกลียดชังหรือขู่ว่าจะไม่รักเมื่อเด็กไม่ทำตามที่ผู้เลี้ยงดูต้องการ


ผลกระทบจากการทารุณเด็ก (Child Abuse)


เด็กที่ถูกทารุณ จะได้รับผลกระทบในระดับมากน้อยแตกต่างกันไป แต่ในภาพรวมเด็กอาจะได้รับผลกระทบในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. ผลกระทบด้านร่างกาย เด็กจะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางร่างกายที่ผิดปกติ เนื่องจากการขาดสารอาหาร พิการ เจ็บป่วยบ่อย สำหรับเด็กที่ถูกทำร้ายทางเพศอาจเกิดโรคทางเพศสัมพันธ์หรือตั้งครรภ์ได้

2. ผลกระทบด้านจิตใจ การถูกทำร้ายอย่างรุนแรงหรือเกิดขึ้นเป็นประจำจะทำให้เด็กขาดความอบอุ่น รู้สึกไม่ปลอดภัย เกิดความหวาดกลัว หวาดระแวงในบุคคลอื่น เกิดอาการซึมเศร้า หวาดผวา ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ประสิทธิภาพในการเรียนลดลง มีปัญหาสุขภาพจิตหรือความเครียดอย่างรุนแรง อาจหันไปพึ่งพาสารเสพติด หรือเกิดแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายได้ง่าย

3. ผลกระทบด้านพฤติกรรม เด็กที่ถูกกระทำรุนแรงอาจกลายเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมที่ผิดปกติในอนาคต เช่นแยกตัวออกจากสังคม ต่อต้านสังคม นิยมการใช้ความรุนแรง ซึ่งจะทำให้เป็นผู้ที่ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นไม่ได้ และอาจก่ออาชญากรรมได้


จะสังเกตยังไงว่าเด็กคนไหนมีแนวโน้มถูกทารุณจากผู้ใหญ่?


เด็กที่ถูกทารุณจากผู้ใหญ่ มักมีพฤติกรรมอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงมีลักษณะ ดังนี้

  • เด็กมีท่าทีหวาดกลัวพ่อแม่อย่างเห็นได้ชัด

  • เด็กบอกว่า “เกลียดพ่อแม่” ของตนเอง

  • เด็กพูดถึงตนเองในลักษณะเกลียดชัง เช่น “ผมมันโง่” “หนูมันเลว”

  • มีวุฒิภาวะทางอารมณ์น้อยกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน

  • มีปัญหาเกี่ยวกับการพูด เช่น กลายเป็นเด็กที่พูดติดอ่างทั้งที่ก็เคยพูดแบบปกติ

  • พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด เช่น ผลการเรียนลดลงอย่างมาก


ช่วยกันป้องกันปัญหาการทารุณเด็ก (Child Abuse)


การทารุณเด็กไม่ใช่ “เรื่องครอบครัว” เนื่องจากผลกระทบจากการทารุณเด็กนั้นสามารถพัฒนากลายมาเป็นปัญหาสังคมได้ เช่น เด็กที่เคยเป็นผู้ถูกกระทำกลายมาเป็นผู้กระทำ ทุกคนในสังคมจึงมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบทั้งสิ้น หรืออย่างน้อย ข่าวการทารุณเด็กที่เกิดขึ้นก็สร้างความรู้สึกหดหู่ใจและมีผลต่อสุขภาวะทางใจของคนในสังคมไม่มากก็น้อย ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะช่วยกันป้องกันปัญหาการทารุณเด็ก ดังนี้

1. ผลักดันให้รัฐสร้างนโยบายส่งเสริมครอบครัว เช่น นโยบายการทำให้สถานที่ทำงานมีลักษณะเป็น Family-friendly ที่พ่อแม่สามารถมีเวลาคุณภาพให้กับลูกได้โดยไม่กระทบต่อการประเมินจ้างงาน

2. เปลี่ยนมุมมองในการเลี้ยงเด็ก แต่เดิมค่านิยม “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” อาจเป็นค่านิยมหลักของสังคมไทย แต่ในปัจจุบัน การตีหรือลงโทษเด็กนั้น นอกจากจะไม่จำเป็นแล้วยังส่งผลเสียมากกว่าผลดีอีกด้วย สังคมจึงควรสนับสนุนให้มีค่านิยมการเลี้ยงลูกเชิงบวก และสร้างความเข้าใจให้กับพ่อแม่ในเรื่องของการเลี้ยงลูกอย่างถูกต้องเหมาะสม

3. เพิ่มคุณภาพในระบบการดูแลเด็ก (Child Care) และระบบการศึกษา มีการตรวจสอบคุณภาพของครูและพี่เลี้ยงเด็กเพิ่มมากขึ้น

4. รณรงค์ให้ความรู้ผ่านทางสื่อต่าง ๆ เช่น ให้ความรู้เรื่องการเป็นพ่อแม่ที่ดี

5. จัดโปรแกรมการอบรม เช่น โปรแกรมการดูแลเด็กช่วงปฐมวัย คอร์สการเลี้ยงลูกเชิงบวก


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

บทความแนะนำ

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก. Retrieved from. https://opendata.nesdc.go.th/dataset/d05128e8-481f-4dbc-b908-ab2b2ff19678/resource/359cf10e-5c0a-44b3-a436-738104633cd1/download/1.-..pdf

[2] Understanding the Causes of Child Abuse. Retrieved from. https://www.healthline.com/health/causes-of-child-abuse#definition

[3] Fast Facts: Preventing Child Abuse & Neglect. Retrieved from. https://www.cdc.gov/violenceprevention/childabuseandneglect/fastfact.html

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)

และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


 

Комментарии


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page