top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

กรณีศึกษา 'ลัลลาเบล' 4 วิธีป้องกันตัวเองจากภัยสังคม

จากข่าวใหญ่ที่เป็น Talk of the Town ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 2 – 3 ข่าว ยิ่งตอกย้ำว่าเราต้องรักตัวเองให้มากขึ้น เพราะในทุกวันนี้เรามีภัยสังคมมากมายที่คุกคามชีวิตเราอยู่อย่างเงียบ ๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยจากการถูกล่วงละเมิด ภัยจากการโจรกรรม ภัยจากการทำร้ายร่างกาย ซึ่งภัยเหล่านี้อาจเป็นผลมาจากความเสี่ยงในอาชีพ ความเสี่ยงจากการใช้ชีวิตเอง หรือความเสี่ยงที่มาจาก “ความซวย” เองก็ตาม ล้วนแล้วแต่ทำให้ชีวิตของเราทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหลักของภัยสังคม คือ เด็ก ผู้หญิง และเพศทางเลือก มีความเสี่ยงต่อภัยเหล่านี้อย่างมาก


ครั้นเราจะคาดหวังให้ทุกคนในสังคมพัฒนาศีลธรรมให้ขึ้นมาเสมอกันก็คงเป็นไปได้ยาก หรือจะรอให้การบังคับใช้กฎหมายมีผลรุนแรงพอที่จะทำให้คนร้ายกลัวเกรง ก็เป็นไปได้ยากอีก เพราะฉะนั้น การรักตัวเองโดยการเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเองจากภัยสังคมทุกรูปแบบได้ ย่อมดีกับชีวิตของเรามากกว่าค่ะ



ภัยสังคม

ซึ่งบทความนี้ ได้รวบรวมข้อแนะนำจากงานวิจัยเชิงจิตวิทยาที่ได้วิจัยเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเพศ เรื่อง "วิธีการรักตัวเองโดยการป้องกันตัวเองจากภัยสังคม" ไว้ 4 ข้อใหญ่ ๆ ดังนี้ค่ะ



วิธีที่ 1 ระมัดระวังตัวอยู่เสมอ

แม้ว่าจะอยู่ในบ้านของคนสนิท หรือไปไหนมาไหนกับคนสนิทก็ตาม เราต้องรักตัวเองโดยการระมัด ระวังตัวเองอยู่เสมอ จากงานวิจัยเชิงจิตวิทยาของจุฑารัตน์ เอื้ออำนวย (2544) พบว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกล่วงละเมิดและกระทำความรุนแรงทางเพศในสังคมไทย คือ กลุ่มเด็กหญิงอายุระหว่าง 11 - 15 ปี มักถูกล่วงละเมิดและถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ ที่บ้านเพื่อนหรือคนรู้จัก โดยคนรัก เพื่อน หรือคนรู้จัก ในช่วง 22.01 - 02.00 น. ซึ่งผู้กระทำผิดทางเพศ สนใจเด็กผู้หญิงที่มีรูปร่างหน้าตาดี แต่งกายล่อแหลม และไม่ระมัดระวังตัว ดังนั้นแล้ว วิธีการป้องกันตัวเองที่ดีที่สุด ก็คือ จงมีสติอยู่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่กับใคร ที่ไหน เมื่อไหร่อย่างไร เพราะเราไม่รู้ใจว่าคนที่เราไว้ใจ จะทำร้ายเราเมื่อไร เพราะฉะนั้นเราต้องเรียนรู้ที่จะรักตัวเองให้มากที่สุดค่ะ





วิธีที่ 2 อย่าพาตัวเองไปอยู่ในที่เสี่ยง

ที่เสี่ยงในที่นี้ ก็คือ สถานบันเทิง ที่เปลี่ยว ที่มืด การเดินทางลำพังไปในที่ที่ไม่คุ้นเคย จากงานวิจัยเชิงจิตวิทยาของ พ.ต.ท.สฤษดิ์ สืบพงษ์ศิริ (2548) มีผลการศึกษาว่า แหล่งที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ประกอบเหตุอาชญากรรม เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนร้ายตัดสินใจก่อเหตุ เพราะฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน ขอให้รักตัวเองโดยการไม่ไปในที่ที่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินก็ย่อมดีกับเรามาก กว่านะคะ



วิธีที่ 3 ไม่เชื่อคนง่าย

เมื่อใครชวนไปไหน หรือให้ทานเครื่องดื่ม อาหาร หรือให้ทำอะไรที่มีลักษณะเสี่ยงต่อการถูกล่อลวง เช่น ให้ไปส่งของให้เพื่อนของเพื่อน ให้ไปหาคนที่ไม่รู้จัก ขอให้คิดไตร่ตรองก่อนจะทำตามคำขอของคนนั้น เพราะจากข่าวที่เราได้ยิน บ่อยครั้งที่คนรู้จักหรือคนสนิทของเหยื่อ กลายเป็นนกต่อล่อลวงเหยื่อไปให้คนร้ายล่วงละเมิด ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยเชิงจิตวิทยาของ UN Women (2558) ที่ว่า 91% ของเหยื่อถูกล่วงละเมิดโดยคนรู้จัก อีกทั้งการล่วงละเมิดทางเพศส่วนใหญ่ เกิดในพื้นที่ส่วนตัว เช่น บ้าน หรือห้องพักในโรงแรม และบ่อยครั้งที่สุดเกิดในบ้านของผู้เสียหาย และบ้านของผู้ร้าย ดังนั้นแล้ว ต่อให้ไว้ใจแค่ไหนก็ตาม ขอให้รักตัวเองโดยการคิดและป้องกันตัวเองก่อนจะเชื่อเสมอ



วิธีที่ 4 เรียนรู้และฝึกการป้องกันตนเอง

ไม่ว่าจะมวย เทควันโด ยูโด หรือวิธีการป้องกันตนเองในรูปแบบอื่น ๆ หากมีโอกาสและเป็นไปได้ เรียนรู้ไว้ก็ไม่เสียหายค่ะ มีวิชาแล้วไม่ได้ใช้ ย่อมดีกว่าถึงเวลาคับขันจะต้องใช้ แต่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ซึ่งงานวิจัยเชิงจิตวิทยาของสุทัตตา พาหุมันโต (2561) ได้ชี้ให้เห็นว่า เด็ก และเพศหญิงมักเป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแนวคิด “ชายเป็นใหญ่” ตามระบอบปิตาธิปไตย ที่ฝังมาในความเชื่อของคนไทย ทำให้ผู้ชายที่เป็นผู้ร้ายมองเหยื่อว่ามีคุณค่าด้อยกว่า จะทำอะไรกับเหยื่อก็ได้ ดังนั้น เราต้องรักตัวเองโดยการเรียนรู้วิธีป้องกันตนเองจากคนที่มีความคิดเหล่านี้





วิธีการที่นำมาฝากกันทั้ง 4 วิธี อาจจะเป็นการ “แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ” แต่ตราบใดที่เราไม่สามารถแก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร มาจากไหน และมีแรงจูงใจต่างกรรมต่างวาระกันไป การรักตัวเองโดยการดูแลตัวเองจึงเป็นวิธีที่เราสามารถปกป้องตัวเองได้ดีที่สุดค่ะ


____________________________________________________


iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว


บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)


และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย



____________________________________________________

อ้างอิง :

1. จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย. 2544. ปัจจัยที่มีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศ ของผู้หญิงไทย. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

2. สฤษดิ์ สืบพงษ์ศิริ. 2548. พฤติกรรมอาชญากรข่มขืน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 จาก http://www.forensicrpca.com/data/article/article_rapist.pdf

3. UN Women. 2558. การพิจารณาคดีข่มขืน:ความเข้าใจเรื่องการตอบสนองของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อความรุนแรงทางเพศในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 จาก https://www.isranews.org/isranews-scoop/61571-women.html

4. สุทัตตา พาหุมันโต. 2018. เหยื่อการข่มขืน: ความรุนแรงและการเปลี่ยนแปลงของตัวละครหญิงใน เดอะ เซอร์เจียน. วารสารมนุษยศาสตร์ปีที่ 25 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม - ธันวาคม 2561). หน้า 196 – 197.

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page