top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg
iStrong team

6 เรื่องที่คุณต้องรู้และเตรียมตัวก่อนไปพบจิตแพทย์

เมื่อเราตัดสินใจแล้วว่าจะไปพบจิตแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและรักษาอาการไม่พึงประสงค์ทางใจ ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้น ขั้นตอนต่อจากนี้จึงเป็นเรื่องของการเตรียมตัวก่อนไปพบจิตแพทย์และเป็นขั้นตอนที่สำคัญไม่แพ้การเข้ารับการรักษา เพราะการเตรียมตัวที่ดีจะทำให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จสูงขึ้น ซึ่งการเตรียมตัวเพื่อเข้าพบจิตแพทย์โดยทั่วไปมีขั้นตอนและสิ่งที่ควรคำนึงถึงดังนี้ครับ



1. การหาข้อมูลสถานพยาบาลที่จะไปรักษาให้แน่ชัด เพราะไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลที่จะมีจิตแพทย์ประจำอยู่ เพราะจิตแพทย์นั้นเป็นสาขาวิชาที่แยกออกจากการแพทย์สายอื่น ๆ และจัดว่ายังเป็นสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลนในประเทศไทย แม้แต่โรงพยาบาลประจำอำเภอก็ไม่ได้มีจิตแพทย์ประจำทุกที่ โดยทั่วไปสถานพยาบาลที่มีจิตแพทย์นั้นมักจะเป็นโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัด โรงพยาบาลเอกชนที่มีแผนกจิตเวช โรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่เป็นโรงเรียนแพทย์ เช่น โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีคณะแพทย์ศาสตร์


การเลือกโรงพยาบาลนั้นควรเลือกโรงพยาบาลที่สะดวกต่อการเดินทาง เพราะการรักษาโดยมากจะเป็นการรักษาแบบต่อเนื่อง ต้องพบแพทย์เพื่อปรึกษาติดตามความคืบหน้าหลายครั้ง และหลายโรงพยาบาลที่มีผู้รับการรักษาจำนวนมากจนต้องใช้ระบบรับบัตรคิวก่อนเวลาตรวจ หากผู้เข้ารับการรักษามีปัญหาเรื่องการเดินทางไปอาจไม่ได้รับการรักษาตามนัดเนื่องจากมีผู้รับการรักษาคนอื่นรับบัตรคิวของวันนั้นไว้เต็มจำนวนแล้ว


2. การหาข้อมูลจิตแพทย์ที่ตรงกับอาการของเรา ในสาขาวิชาจิตเวชนั้นแพทย์ยังมีความชำนาญแยกย่อยลึกลงไปแตกต่างกัน เช่น แพทย์บางท่านเชี่ยวชาญเรื่องพัฒนาการเด็ก บางท่านเชี่ยวชาญเรื่องปัญหาการนอนหลับ บางท่านเชี่ยวชาญเรื่องโรคซึมเศร้า การศึกษาประวัติของจิตแพทย์และเลือกนัดแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญตรงกับอาการของเราจึงมีส่วนทำให้การรักษาเกิดผลสำเร็จมากขึ้น


3. เตรียมตัว-เตรียมเอกสาร หลังจากโทรศัพท์สอบถามวันและเวลาที่จิตแพทย์ออกตรวจเพื่อทำการนัดหมายแล้ว ผู้เข้ารับการรักษาก็จะต้องเตรียมตัวและเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น บัตรประชาชน บัตรสวัสดิการเบิกค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ (ถ้ามี) ประวัติการรักษาทางจิตเวชหรือทางสมองครั้งก่อนหน้า (ถ้ามี) ข้อมูลการแพ้ยา ยาที่รับประทานเป็นประจำ


4. บันทึกอาการที่พบด้วยตัวเองก่อนพบแพทย์ หากผู้เข้ารับการรักษาสามารถจดจำหรืออธิบายอาการของตนได้ แนะนำอย่างยิ่งให้จดเป็นประเด็นเพื่อที่จะได้อธิบายให้จิตแพทย์ทราบตอนซักอาการ เพราะผู้เข้ารับการรักษาบางรายมีความตื่นเต้น ประหม่าเมื่อพบแพทย์ ทำให้ไม่สามารถเล่าอาการออกมาได้หมด หรือหลงลืมการอธิบายอาการบางอย่างที่มีความสำคัญต่อการวินิจฉัยรักษาไปอย่างน่าเสียดาย ยิ่งเรามีข้อมูลของเราละเอียดเท่าไร แพทย์ก็จะยิ่งสามารถวินิจฉัยได้อย่างสะดวกและตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการให้การรักษานั่นเอง


5. สิ่งของที่สามารถช่วยผ่อนคลายระหว่างรอพบแพทย์ อย่างที่ทราบกันคือในประเทศไทยนั้นมีผู้รอเข้ารับการรักษาจำนวนมากเมื่อเทียบกับจำนวนจิตแพทย์ การรอพบแพทย์ตามนัดที่สถานพยาบาลจึงอาจใช้เวลารอคอยนาน บวกกับความตื่นเต้นประหม่าของผู้เข้ารับการรักษาอาจทำให้เกิดความเครียด กระสับกระส่ายขณะรอพบแพทย์ได้ จึงแนะนำให้ผู้เข้ารับการรักษาพกพาสิ่งของที่สามารถช่วยผ่อนคลายได้ระหว่างรอพบแพทย์ เช่น หนังสืออ่านเล่น อุปกรณ์ถักผ้า เครื่องดื่มหรือขนมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พอพกติดตัวไปได้ แต่ไม่แนะนำการฟังเพลงหรือใช้อุปกรณ์สื่อสารที่ใช้หูฟัง เนื่องจากอาจทำให้ไม่ได้ยินการเรียกคิวและพลาดคิวการรักษาไปได้


6. บุคคลที่ไปด้วย หากผู้เข้ารับการรักษามีบุคคลที่ไว้วางใจได้เดินทางไปพบแพทย์เป็นเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นญาติหรือเพื่อนสนิท การได้พูดคุยหรือแม้เพียงนั่งอยู่ด้วยกันระหว่างรอพบแพทย์จะทำให้ผู้เข้ารับการรักษาเกิดความสบายใจมากขึ้น มีความพร้อมสำหรับการเข้ารับการรักษา ในขณะเดียวกันหากกรณีที่บุคคลที่ไปด้วยสามารถเข้าไปในห้องวินิจฉัยอาการเพื่อร่วมอธิบายอาการของผู้เข้ารับการรักษาให้แพทย์เข้าใจ และช่วยจดจำคำแนะนำของแพทย์มาใช้กับผู้เข้ารับการรักษาที่บ้าน ย่อมจะเป็นผลดีกว่าการปล่อยให้ผู้เข้ารับการรักษาเดินเข้าไปปรึกษาแพทย์เพียงคนเดียว ยกเว้นกรณีการรักษาที่แพทย์เห็นว่าควรปรึกษากับผู้เข้ารับการรักษาแบบตัวต่อตัว


นอกจากการนัดหมายและเดินทางไปพบจิตแพทย์ด้วยตัวเองตามคำแนะนำด้านบนแล้ว ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่สะดวกสบายมากขึ้นทำให้เกิดช่องทางใหม่ในการพบจิตแพทย์แบบออนไลน์ เช่น VDO Call , Online Chat ซึ่งนับว่าเป็นอีกทางเลือกที่สะดวก ปลอดภัย เป็นส่วนตัว โดยเฉพาะในช่วงที่เราหลีกเลี่ยงการเดินทางพบปะผู้คนนอกบ้านเนื่องจากโรคระบาด ทั้งยังไม่ต้องกังวลกับการเดินทางและการรอคิวเนื่องจากมีเวลานัดพบแบบออนไลน์ที่แน่นอน จึงเป็นช่องทางใหม่ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนในปัจจุบันที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นทุกขณะ


การพบจิตแพทย์ไม่ว่าจะติดต่อผ่านช่องทางใด การเตรียมตัวที่ดีก่อนพบจิตแพทย์จะช่วยทำให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่น สามารถวินิจฉัยให้การรักษาได้อย่างตรงจุด ทำให้ผู้เข้ารับการรักษามีความสบายใจ ให้ความร่วมมือในการรักษามากขึ้น และสามารถกลับมารักษาอย่างต่อเนื่องได้จนมีสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตที่ดีได้



สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

 

ประวัติผู้เขียน

ธเนศ เหลืองวิริยะแสง

วิทยากรฝึกอบรมและ HRD Specialist

MSc. (Industrial and Organizational Psychology), Kasetsart University


Comentarios


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page