top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รู้ทัน ระวัง ป้องกันได้


ขณะที่เขียนบทความนี้ แพรกำลังเตรียมตัวที่จะคลอดลูกคนแรกในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า สิ่งหนึ่งที่แพรพยายามทำมาตลอด และคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากสำหรับคนเป็นแม่ (นอกจากเรื่องการ หาเงิน) ก็คือ การมีสุขภาพจิตใจที่แข็งแรง แพรเชื่อว่าถ้าเรามีสุขภาพจิตที่ดี ก็จะส่งผลดีต่อสุขภาพกายของเรา รวมไปถึงพัฒนาการทางของลูกเราด้วย


อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดจากฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ ก็มีผลอย่างมากกับการควบคุมอารมณ์ และความรู้สึกของเรา ยิ่งหลังคลอด ฮอร์โมนในร่างกายของเราจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าของคุณแม่หลังคลอดลูกได้


แพรได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ เพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น และอยากนำข้อมูลดีๆ นี้ มาเผยแพร่ เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับคุณแม่ ในการจัดการและรับมือกับภาวะซึมเศร้า หลังคลอดลูกกันค่ะ



ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด


ในทางจิตวิทยาได้แบ่งอาการซึมเศร้าออกเป็น 2 ประเภท นั่นคือ


1.baby blue

ซึ่งจะเป็นภาวะทางอารมณ์ในระดับไม่รุนแรง เกิดขึ้นภายในช่วง 1 เดือนแรก หลังจากคลอดบุตร และจะหายได้โดยใช้เวลาไม่นาน โดยอาการของภาวะ baby blue จะเกิดขึ้นได้ในคุณแม่หลังคลอด ประมาณ 10 วัน ซึ่งจะมีความรุนแรงในช่วงวันที่ 3-5 และจะหายเองไปเองในช่วงเวลาอันสั้น (ภายใน 1-2 วัน) โดยอาการที่เกิดขึ้นก็คือ รู้สึกวิตกกังวล ซึมเศร้า รู้สึกไม่สบายใจ สับสน อยากร้องไห้ นอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร และ รู้สึกไม่ผูกพันกับลูกของตัวเอง ในขณะที่


2.postpartum depression

เป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่จะมีอาการรุนแรงกว่า และใช้เวลานานในการบำบัด อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย และบุตรอีกด้วย อาการสามารถเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดก็ได้ ในช่วงปีแรกหลังคลอดบุตร ซึ่งมักจะเกิดขึ้นหลังจากเดือนแรกที่คลอดลูก หรือหลังจากนั้น อาการของภาวะนี้จะอยู่นาน อย่างน้อย สองสัปดาห์ขึ้นไป และมีผลอย่างมากกับชีวิตของคุณแม่ คุณลูก และบุคคลรอบตัว


อาการของ ภาวะซึมเศร้า หลังคลอด มีดังต่อไปนี้

- รู้สึก ซึมเศร้า เกือบทั้งวัน และทุกวัน

- หมดความสนใจ ต่อกิจกรรมที่เคยรู้สึกสนใจ และทำให้มีความสุขเมื่อได้ทำ

- รู้สึกสิ้นหวัง

- รู้สึกอยากฆ่าตัวตาย หรือ อยากที่จะฆ่าลูกของตัวเอง

- มีความรู้สึกกลัวว่า จะทำร้ายลูกของตัวเอง

- รู้สึกเป็นกังวลกับลูกของตัวเอง อย่างมาก หรือ รู้สึกไม่ผูกพันกับลูกเลย

- รู้สึกผิด และ ไม่มีคุณค่า

- ไม่มีสมาธิ และ จำอะไรไม่ค่อยได้

- มีความคิดที่แปลกประหลาด

- มีอาการประสาทหลอน

- ฝันร้าย

- หวาดวิตก

- รู้สึกเศร้า และหมดอาลัยตายอยากกับชีวิต



ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

สาเหตุของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

1.ฮอร์โมน เนื่องจากเกิดการลดลงของฮอร์โมนอย่างรวดเร็วในคุณแม่หลังคลอด

2.การเปลี่ยนแปลงของชีวิตและสังคมหลังคลอด เนื่องจากการมีลูก ส่งผลกระทบอย่างมากกับชีวิตที่เคยมี จากที่คุณแม่เคยมีเพื่อน มีสังคม แต่ต้องใช้เวลาส่วนมากในการดูแลลูกที่เพิ่งคลอด ต้องเรียนรู้ และรับผิดชอบต่อชีวิตใหม่เป็นอย่างมาก จึงส่งผลต่อภาวะอารมณ์และสุขภาพจิตของคุณแม่ได้ ในช่วงนี้คุณแม่ต้องการความเข้าใจและสนับสนุนเป็นอย่างมาก

3.การนอนหลับไม่เพียงพออย่างต่อเนื่อง หลังจากคลอดลูก คุณแม่จำนวนมากจะมีชั่วโมงการพักผ่อนที่น้อยลง การนอนไม่เพียงพอสะสมเป็นเวลานอนส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย ความเหนื่อยล้าไปจน สุขภาพจิตของคุณแม่

4.ความคิดและทัศนคติต่อการตั้งครรภ์และมีลูก มีคุณแม่จำนวนหนึ่งที่ตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม หรือไม่แน่ใจกับการตั้งครรภ์และมีลูก คุณแม่ในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด พวกเธออาจจะรู้สึกว่าการที่ให้ความผูกพัน และความรักกับลูกจะส่งผลต่อความเจ็บปวด ผิดหวัง และสูญเสีย

5.การเปลี่ยนแปลงของร่างกายในช่วงตั้งครรภ์ นำ้หนักตัวของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก และหลายคนยังมีน้ำหนักตัวที่คงอยู่หลังจากคลอดลูกแล้ว ซึ่งหลายคนไม่สามารถที่จะลดน้ำหนักนี้ออกไปได้ ส่งผลให้เกิดความเครียด และมีผลต่อสุขภาพจิต หมดความมั่นใจในตัวเอง และวิตกกังวล

6.คุณแม่ที่คลอดลูกก่อนกำหนดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในชีวิต หลังจากที่ลูกคลอดมาซึ่งเร็วกว่าที่คาดคิดไว้ และความรู้สึกเป็นกังวลกับสุขภาพและพัฒนาการของลูก

7. คุณแม่ที่มีลูกไม่สมบูรณ์



โดยส่วนมากแล้ว การคลอดลูกคนแรกจะส่งผลต่อสุขภาพจิตของคุณแม่ มากกว่าลูกคนถัดไป เนื่องจากเป็นประสบการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในชีวิต และมีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก มีการศึกษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปพบว่า ประเทศฝั่งตะวันตกเกิดภาวะซึมเศร้าหลัง คลอดสูงกว่าประเทศในแถบอื่นของโลก ซึ่งการที่แพรได้เป็นคนไทย อยู่ในสังคมไทย ที่เรามีความเหนียวแน่นกลมเกลียว และการสนับสนุนจากครอบครัว สามารถช่วยให้เราผ่าน ช่วงเวลานี้ไปได้



การรักษา

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด สามารถทำการรักษาได้เหมือนโรคซึมเศร้าอื่นๆ ได้แก่ การไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอรับคำปรึกษาและรักษา ได้รับการสนับสนุนและกำลังใจจากคนรอบตัว



แพรหวังว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณแม่ที่กำลังสงสัยว่า ตัวเองมีอาการของโรคซึมเศร้า หรือ baby blue อยู่หรือไม่ หรือคุณแม่ที่กำลังจะคลอดลูก เพื่อทำความเข้าใจและรับมือกับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงสุขภาพจิตใจ และอารมณ์ของเรานะคะ

 

iStrong ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว


บริการให้คำปรึกษานักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือคุยแบบพบหน้า

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย Contact : https://www.istrong.co/service

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page