อาการซึมเศร้า หลังวันหยุดยาว7 วิธีรับมือ Post-Vacation Blues
เมื่อวันหยุดมาถึง หลาย ๆ คน รวมถึงดิฉันเอง ก็จะเกิดอาการตื่นเต้นและดีใจ ไปกับวันหยุดยาว ในช่วงวันปีใหม่ของไทย หรือที่เราเรียกกัรว่าวันสงกรานต์ เพราะเป็นช่วงที่เราได้พักผ่อนอยู่กับครอบครัวเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง และเป็นช่วงที่ยาวมากพอจะออกเดินทางไปท่องเที่ยว หรือกลับบ้านที่ต่างจังหวัด แต่พอหมดวันหยุดยาว อาการซึมเศร้าก็จะตามมาทุกที โดยศัพท์เทคนิคทางจิตวิทยาเรียกอาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาวนี้ ว่า Post-Vacation Blues ค่ะ ความหมายก็คือ เป็นช่วงเวลาที่เรารู้สึกเศร้า เพราะยังคิดถึงและโหยหาวันหยุดที่เพิ่งผ่านพ้นไป ทำให้ไม่มีความสุขกับการทำงาน แต่อย่างไรก็ตาม ในทางจิตวิทยาไม่ถือว่า Post-Vacation Blues เป็นโรคทางจิตเวชนะคะ เพราะเกิดขึ้นได้ไม่บ่อย และเกิดขึ้นไม่นาน กินระยะเวลาอย่างเต็มที่ 3 สัปดาห์ก็หายแล้ว อีกทั้งยังสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษาด้วยละค่ะ แต่ผลข้างเคียงที่ร้ายแรงที่สุดของ Post-Vacation Blues ที่อาจเกิดขึ้นได้ ก็คือ "การตกงาน" ค่ะ เพราะคนที่มีภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว มักจะไม่มีกระจิตกระใจในการทำงาน ขาดสมาธิในการทำงาน ทำงานช้า ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน และในที่สุดถ้าเราไม่ออกจากงานเอง หัวหน้าก็คงเชิญเราไปนั่งเศร้าอยู่ที่บ้านเป็นแน่ ด้วยความห่วงใยจากไอสตรอง ดิฉันจึงขอเสนอ 7 เทคนิคทางจิตวิทยาในการรับมือ Post-Vacation Blues ให้หายไปอย่างรวดเร็วแบบอยู่หมัดมาฝากกันค่ะ
1. หาแรงจูงใจในการทำงาน
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด Post-Vacation Blues ก็คือ การเบื่องานที่ทำ จึงทำให้จิตใจใฝ่ถึงวันหยุด เพราะฉะนั้น นักจิตวิทยาจึงแนะนำว่า ให้แก้ไขโดยการหาแรงจูงใจในการทำงานค่ะ โดยแรงจูงใจก็มีทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งแรงจูงใจในการทำงานทางบวก ก็คือ การหาสิ่งกระตุ้นจิตใจให้เกิดความปรารถนาที่จะมาทำงาน เช่น ผลประเมินเงินเดือน การทำผลงานเพื่อเลื่อนขั้น การหาภารกิจงานที่มีแต่เราเท่านั้นทำได้ เป็นต้น สำหรับแรงจูงใจในการทำงานทางลบ ก็คือ การทำงานหาเงินมาชำระหนี้ การทำงานให้เสร็จทันตามกำหนด เป็นต้น การมีแรงจูงใจในการทำงาน ก็เหมือนการสร้างหมุดหมายในการทำงานค่ะ ทำให้การทำงานในแต่ละวันมีเป้าหมายที่ชัดเจนนั่นเองค่ะ
2. อยู่กับปัจจุบัน
หากการติดอยู่กับอดีต (วันหยุดยาวที่ผ่านมา) ทำให้ใจเราเป็นทุกข์ และอนาคตที่สดใส (วันหยุดยาวครั้งต่อไป) ยังมาไม่ถึง การอยู่กับปัจจุบันจึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับการจัดการกับ Post-Vacation Blues โดยการทำรายการภาระงานที่ต้องทำในแต่ละวันให้ชัดเจน และค่อย ๆ ทำตามลิสต์นั้น เพื่อเป็นการเตือนสติให้เราจดจ่อความสนใจอยู่กับการทำงาน ไม่ไปจมอยู่กับความเศร้าเนื่องจากการโหยหาวันหยุดยาวที่ผ่านพ้นไป อีกทั้งยังช่วยเพิ่มสมาธิในการทำงาน ไม่วอกแวกไปกับการเฝ้าคิดถึงวันหยุดยาวครั้งหน้าที่ยังมาไม่ถึงค่ะ
3. หาไอดอลในการทำงาน
ถ้าการทำงานมันแสนจะเบื่อหน่าย และขาดแรงจูงใจในการทำงาน (Low Motivation) ก็ขอให้ลองมองหาต้นแบบในการทำงาน หรือไอดอลในการทำงานที่เราชื่นชม ทั้งเพื่อร่วมงาน หัวหน้างาน ผู้บริหารองค์การ หรือผู้มีชื่อเสียงที่เราชื่นชมวิถีการทำงาน ทัศนคติในการทำงาน หรือรูปแบบในการทำงานของเขา เพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการทำงานของเราให้ออกมาปัง หรืออย่างน้อยการมีต้นแบบ หรือไอดอลในใจ ก็สามารถช่วยให้เรามีความกระตือรือร้นในการทำงานมากยิ่งขึ้นค่ะ
4. วางแผนการท่องเที่ยวในวันหยุดยาวถัดไป
ถ้าจิตใจเราใฝ่หาวันหยุดยาวจนไม่มีสมาธิจะทำงานแล้วละก็ ไม่ไหวอย่าฝืนค่ะ ถ้าอยากเที่ยวก็วางแผนเที่ยวกันไปเลย ทั้งหาสถานที่ วางแผนการเดินทาง คำนวณเงิน วิธีเก็บเงิน และที่สำคัญที่สุดก็คือ วิธีการเคลียร์งานให้เสร็จทันก่อนไปเที่ยวในวันหยุดยาวครั้งหน้า แล้วเราก็มีแรงฮึดมีไฟในการทำงานขึ้นมาทันทีค่ะ ถ้าหากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน คือการไปเที่ยวในวันหยุดยาวหน้าเราก็พร้อมจะพุ่งชนทุกงานให้สำเร็จได้ทันเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการพักผ่อนของเราค่ะ
5. หากิจกรรมที่ชอบทำหลังเลิกงาน
เหตุผลที่เราเกิด Post-Vacation Blues อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ เรารู้สึกมีความสุขกับการพักผ่อน และร่างกาย จิตใจเสพติดการพักผ่อนในระยะยาวค่ะ เพราะฉะนั้นการบรรเทาอาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว จึงสามารถทำได้โดยการให้ทุกวันหลังเลิกงานเป็นวันพักผ่อน โดยการทำกิจกรรมที่ช่วยให้ร่างกาย จิตใจ มีความสุขหลังเลิกงานค่ะ เช่น ดูซีรี่ย์ ดูภาพยนตร์ ร้องเพลง เล่นดนตรี เล่นเกม อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย และอีกมากมายที่ทำให้เราได้ปลอดปล่อยความเครียดจากการทำงาน เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดสะสม และลดอาการ Post-Vacation Blues ด้วยค่ะ
6. รักษา Work Life Balance
การที่เราโหยหาวันหยุดอย่างมาก อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าสมดุลชีวิตของเรากำลังเสียต้องรักษา Work Life Balance โดยด่วน ซึ่งวิธีการที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ การแบ่งเวลาและกิจกรรมในช่วงของการทำงานและการพักผ่อนให้ชัดเจน เช่น เวลา 8.30 – 16.30 น. คือเวลาที่เราทำงานอย่างจริงจัง พักทานอาหาร พูดคุยกับเพื่อนตามเวลาพักระหว่างวัน แต่ในช่วงเลิกงานเราก็พักผ่อนอย่างจริงจังเช่นกัน โดยตัดเรื่องงาน หรือเรื่องเครียด ๆ จากงานไปก่อน เพื่อให้สมอง และจิตใจได้ปรับสมดุลค่ะ
7. หากหมดไฟให้แก้ไขโดยด่วน
ภาวะหมดไฟ หรือ Burnout syndrome นอกจากจะทำให้เราเบื่องานแล้ว ยังเป็นต้นเหตุของ Post-Vacation Blues อีกด้วยค่ะ เพราะยิ่งมีวันหยุดมาก เราจะยิ่งมีความสุขมาก เพราะไม่ต้องทำงาน หรือยุ่งเกี่ยวกับการทำงาน แต่เมื่อหมดวันหยุดยาว อาการซึมเศร้าก็ตามมา ดังนั้น หากเราต้องการแก้ไขภาวะ Post-Vacation Blues จากต้นเหตุ ก็ต้องตามหาสาเหตุของภาวะ Burnout syndrome เสียก่อนว่าเกิดจากอะไร เช่น เบื่องาน เบื่อเพื่อนร่วมงาน เบื่อระบบในการทำงาน เป็นต้น แล้วไปแก้ไขให้ตรงจุด ไม่ว่าจะเป็น เปลี่ยนงานใหม่ ย้ายแผนก เราก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้ง Post-Vacation Blues และ Burnout syndrome
Post-Vacation Blues ถึงแม้จะไม่ใช่ภาวะที่อันตราย แต่ก็ทำร้ายสุขภาพจิต และคุณภาพงานพอสมควรเลย ดังนั้น หากเราสามารถรับมือได้อย่างรวดเร็ว ชีวิตเราก็สามารถกลับมาสู่สมดุลได้เร็วค่ะ ขอฝาก 7 เทคนิคจิตวิทยาข้างต้นไว้ในอ้อมใจด้วยนะคะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
[1] 4 วิธี Move on จากภาวะซึมเศร้าช่วงวันหยุดยาว (Post-Vacation Blues) (https://www.istrong.co/single-post/post-vacation-blue)
[2] นักจิตวิทยาแนะนำ 6 เทคนิครับมือกับอาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว (https://www.istrong.co/single-post/6-techniques-for-dealing-with-depression-after-a-long-holiday)
อ้างอิง :
[1] กรมสุขภาพจิต. (7 มกราคม 2565). รู้จักอาการ Post-Vacation Blues เมื่อหยุดยาวฉันสุขล้นปรี่ และเศร้า หลังวันหยุดพักผ่อน มีอาการ วิธีการรักษาอย่างไร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2565 จาก https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=31424
[2] มาโนช หล่อตระกูล. (17 กรกฎาคม 2017). รู้จักกับอาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2565 จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/infographic
[3] โยธิน วิเชษฐวิชัย. (18 มกราคม 2563). หยุดนาน เสี่ยง "ซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว" สาเหตุ และวิธีรักษา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2565 จาก https://www.sanook.com/health/19931/
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก
บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต
Comments