4 วิธี Move on จากภาวะซึมเศร้าช่วงวันหยุดยาว (Post Vacation Blue)
หากคุณกำลังมีความรู้สึกเศร้า ซึม เบื่อ เซ็งในการทำงานทั้ง ๆ ที่เพิ่งหยุดยาวไปแล้วละก็ เป็นไปได้ว่าคุณอาจอยู่ในภาวะที่เรียกว่า "Post vacation blue" หรือภาวะซึมเศร้าจากการหยุดยาวนั่นเอง เอาละสิ เจ้าภาวะนี้มันเป็นยังไงกันนะ แล้วจะแก้ยังไงกันละ บทความจิตวิทยานี้มีคำตอบค่ะ
อะไรคือ Post Vacation Blue?
Post Vacation Blue คือ สภาวะที่จิตใจของเราทิ้งตัวจมอยู่ในความเศร้า เพราะอาลัยอาวรณ์กับวันหยุดที่เพิ่งผ่านพ้นไป ทำให้การกลับมาทำงานไม่สดชื่น ไม่สดใส ไม่มีไฟในการทำงาน และยังโหยหาให้วันหยุดยาว ๆ กลับเข้ามาใหม่ค่ะ ถึงแม้ว่าภาวะ Post Vacation Blue จะดูเผิน ๆ แล้วคล้ายกับโรคซึมเศร้า เพราะมีความรู้สึกเศร้า ขาดความสนใจในการทำสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะเวลาทำงาน เหนื่อย และอ่อนเพลียตลอดเวลาที่ทำงาน ขาดสมาธิ ใจคิดถึงแต่เรื่องกิจกรรมที่จะทำในวันหยุดถัดไป ซึ่งคุณผู้อ่านสามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเพิ่มเติมได้ที่บทความจิตวิทยา “เราเป็นซึมเศร้าหรือเราแค่เครียดกันนะ”
แต่ในทางจิตวิทยาไม่ถือว่าเป็นโรคทางจิตเวชนะคะ เพราะเกิดไม่บ่อย และเกิดไม่นาน เต็มที่ 3 สัปดาห์ก็หาย แถมยังสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องทำจิตบำบัด และไม่ต้องพึ่งยาจิตเวชด้วยละ แต่อันตรายที่ใหญ่สุด ๆ ของ Post Vacation Blue ก็คือ "การตกงาน" ค่ะ เพราะคนที่มีภาวะนี้ใช้เวลาที่ควรจะทำงาน ไปนั่งคิดถึงความสุขในวันหยุดยาวที่เพิ่งผ่านไป งานก็ทำช้า แถมทำแบบคนหมดไฟ อมทุกข์ ซึมเศร้าตลอดเวลาอีกต่างหาก ในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ ตกงานคงไม่ดีแน่ เพราะฉะนั้นเรารีบมาแก้ภาวะ Post Vacation Blue ให้หายไปโดยเร็วจะดีกว่าค่ะ
เทคนิคการ move on จาก Post vacation blue ตามคำแนะนำของนักจิตวิทยา
ถึงแม้ในตำราจิตวิทยาจะไม่มีศัพท์ คำว่า "Post Vacation Blue" แต่ศัพท์คำหนึ่งที่ใกล้เคียงกับภาวะนี้ ก็คือ "Low motivation" หรือเรียกบ้านๆ ว่า "ขี้เกียจ" นั่นเองค่ะ ซึ่งในบทความนี้ก็ขอแนะนำ 5 วิธีกำจัด ความขี้เกียจตามคำแนะนำของนักจิตวิทยา เพื่อให้คุณผู้อ่านสามารถ move on จากภาวะ Post Vacation Blue อย่างได้ผลโดยเร็วกันค่ะ
1.วางแผนชีวิตวันต่อวัน
หลังจากวันหยุดยาว ๆ แล้วกลับมาทำงาน เป็นธรรมดาที่เราจะ “ขี้เกียจ” ค่ะ เพราะเรายังคงติดอยู่กับความสุข ความชิวในวันหยุดที่ผ่านมา เวลากลับมาทำงานจึงเกิดอารมณ์ซึมเศร้า หดหู่ หมดไฟ ดังนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีไฟในการทำงานนักจิตวิทยาจึงแนะนำว่า เราต้องเริ่มด้วยการวางแผนสั้น ๆ แบบวันต่อวัน ว่าในหนึ่งวันเราจะต้องทำงานอะไรให้เสร็จบ้าง แล้วก็ Checklist ไปเลยค่ะว่าทำงานได้ตามที่วางแผนหรือยัง ถึงจะทำเรื่อย ๆ เอื่อย ๆ แต่งานเสร็จตามเป้าก็ถือว่าประสบความสำเร็จไปหนึ่งวันแล้วนะคะ แล้วพอเราทำแบบนี้ไปทุกวัน ความขยันก็จะกลับมาเข้าร่างเราโดยไม่รู้ตัวเลยละค่ะ
2.ตั้งเป้าหมายเพื่อการเที่ยวในครั้งต่อไป
ถ้าการไปเที่ยวหรือการทำกิจกรรมในวันหยุดยังคงรบกวนจิตใจ จนไม่มีสมาธิในการทำงาน วิธีต่อไปที่นักจิตวิทยาแนะนำในการกำจัดภาวะ Post Vacation Blue ก็คือ การตั้งให้การไปเที่ยว หรือการทำกิจกรรมพิเศษในวันหยุดถัดไปเป็นรางวัลจากการทำงานไปเลย เช่น ให้คุณผู้อ่านตั้งเป้าหมายการทำงานไว้ว่า ก่อนที่จะถึงวันหยุดครั้งถัดไป จะต้องสามารถทำงานเสร็จกี่ชิ้น หรืองานที่ทำมีระดับความสำเร็จถึงระดับไหน ถึงจะได้รางวัลเป็นการไปเที่ยว หรือทำกิจกรรมพิเศษที่ต้องการ แต่วิธีการนี้ต้องพึ่งพาความซื่อสัตย์ต่อตัวเองของคุณผู้อ่านพอสมควรเลยละค่ะ เพราะมีคนเดียวที่รู้ว่าทำได้ตามเป้าหรือไม่คือตัวเราเอง และพอเรามีรางวัลล่อใจแบบนี้แล้ว เราก็จะมีไฟโชติช่วงชัชวาลในการทำงานขึ้นมา กลายเป็น “คนไฟลุก 2020” กันเลยทีเดียวค่ะ
3.เปลี่ยนรูปแบบหรือบรรยากาศในการทำงาน
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกซึมเศร้า หดหู่ ท้อแท้ใจเวลากลับมาทำงานหลังจากวันหยุดยาว ก็คือ การที่เรายังต้องกลับมาเจอบรรยากาศเดิม ๆ รูปแบบการทำงานเดิม ๆ ก่อนปิดวันหยุดทำงานเอกสารกองโต นั่งอยู่กับโต๊ะอย่างไร กลับมาจากวันหยุดก็ยังคงทำอยู่อย่างนั้น ไม่มีเรื่องตื่นเต้น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น วิธีแก้ที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ การหาเรื่องตื่นเต้นให้ชีวิตการทำงานค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการจัดโต๊ะใหม่ การหาของประดับตกแต่งมาแต่งโต๊ะ หรือการเปลี่ยนการแต่งตัว เปลี่ยนทรงผม เปลี่ยนการแต่งหน้า ก็ช่วยเพิ่มชีวิตชีวาในการทำงานให้น่าสนใจมากขึ้นแล้วค่ะ
4.หาบัดดี้หรือสร้างทีมในการทำงาน
เมื่อทำงานคนเดียวแล้วงานไม่ไปถึงไหน ลองมาแท็คทีมกับเพื่อนในที่ทำงาน เพื่อช่วยกันทำงาน ก็เป็นวิธีหนึ่งในการขับไล่ภาวะ Post Vacation Blue ที่ดีที่เดียวค่ะ เพราะเพื่อนในทีม หรือบัดดี้ของเรานี่ละค่ะ ที่จะคอยกระตุ้นให้เราทำงานได้ตามเป้าหมาย แถมถ้าเราเจอปัญหาในการทำงาน เพื่อนของเราก็ยังสามารถเป็นที่ปรึกษา ช่วยหาทางออกให้เราได้อีกด้วยค่ะ ถือว่าได้ประโยชน์หลายทางเลยทีเดียว
บทความแนะนำ “6 วิธีกำจัดความขี้เกียจตามแบบฉบับของนักจิตวิทยา”
ถึงแม้ว่าภาวะ Post Vacation Blue จะไม่ใช่โรคจิตเวช และไม่ได้อันตรายกับชีวิต แต่ก็เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของเราพอสมควร หากปล่อยให้เกิดขึ้นนานคงไม่ดีแน่ค่ะ เพราะฉะนั้น หวังว่า 4 วิธีที่ได้แนะนำไปข้างต้นจะช่วยให้คุณผู้อ่าน Move on จาก Post Vacation Blue ได้อย่างเร็วทันใจนะคะ พบกันใหม่บทความหน้าค่ะ
iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง
สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)
และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop
รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
Contact : https://www.istrong.co/service
Comentários