ชวนรู้จักภาวะกระทบกระเทือนใจ (PTSD) และเทคนิคจิตวิทยาเยียวยาแผลใจ
จากเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างอิสราเอล – ปาเลสไตน์ ที่ปะทุรุนแรงขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 นอกจากจะส่งผลกระทบต่ออิสราเอล – ปาเลสไตน์ เองแล้ว ยังส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมถึงคนไทยที่ไปทำงานและใช้ชีวิตในอิสราเอลเองก็ได้รับผลกระทบรุนแรงเช่นกัน
โดยเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 กระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งสถานะคนไทยที่ได้รับผลกระทบในอิสราเอล ไว้ว่า มีคนไทยเสียชีวิต (อย่างเป็นทางการ) 29 ราย บาดเจ็บ 16 ราย ถูกจับเป็นตัวประกัน 17 ราย และประสงค์กลับประเทศไทย จำนวน 7,596 ราย นั่นส่งผลให้ทั้งคนไทยที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล – ปาเลสไตน์ เอง และภรรยา สามี ลูก ญาติสนิทเอง ก็ได้รับการกระทบกระเทือนจิตใจจนเกิดเป็นภาวะ PTSD หรือศัพท์ทางการทางจิตวิทยาเรียกว่า Post - Traumatic Stress Disorder
โดย PTSD หรือ Post - Traumatic Stress Disorder ตามตำราจิตวิทยาว่าด้วยโรคทางจิตเวชของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน คือ The Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, 5th edition (DSM-5) ได้ระบุไว้ว่า PTSD คือ สภาวะร่างกายของผู้ที่ผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจ เช่น สงคราม อุบัติเหตุ การถูกทำร้าย เป็นต้น ยังคงมีอาการตอบสนองต่อสิ่งเร้า เสมือนว่าตนเองยังอยู่ในเหตุการณ์รุนแรง ถึงแม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะผ่านไปนานแล้วก็ตาม โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้ระบุเกณฑ์วินิจฉัยสำคัญ ดังนี้
เป็นผู้สัมผัสกับเหตุการณ์รุนแรง เหตุเฉียดตาย การถูกคุกคาม การบาดเจ็บสาหัส หรือความรุนแรงทางเพศ ในลักษณะดังต่อไปนี้
เป็นผู้ประสบเหตุโดยตรง
พบเห็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจ
คนใกล้ชิด หรือคนสำคัญในชีวิตประสบเหตุรุนแรงจนถึงแก่ชีวิต
พบกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจซ้ำแล้วซ้ำอีก
เกิดอาการดังต่อไปนี้หลังการพบกับเหตุสะเทือนใจ
ยังคงคิดถึงเหตุการณ์ทำร้ายจิตใจ เห็นภาพเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจซ้ำ ๆ ในหัว
ฝันถึงเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจทุกคืน ฝันร้ายอย่างน่ากลัว
รู้สึกราวกับว่าตนเองยังคงอยู่ในเหตุการณ์รุนแรงนั้น เช่น ใจสั่น ควบคุมตัวเองไม่อยู่ หายใจติดขัด เป็นต้น
มีความรู้สึกเป็นทุกข์อย่างแสนสาหัส
มีปฏิกิริยาทางร่างกายที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ อย่างรุนแรง เช่น ตกใจง่าย ผวากับเสียงดัง หวาดวะแวงคนแปลกหน้า เป็นต้น
หลีกเลี่ยงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สะเทือนใจ ดังนี้
หลีกเลี่ยงที่จะคิดถึงเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจนั้น เช่น พยายามไม่พูดถึงเหตุการณ์รุนแรงนั้น เมื่อคิดถึงเหตุการณ์รุนแรงก็เบี่ยงเบนความสนใจของตนเองไปคิดอย่างอื่นเสีย เป็นต้น
หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่ทำให้คิดถึงเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น ย้ายออกจากที่เดิมที่เคยอยู่อาศัย ไม่ติดต่อผู้คนที่อยู่ในช่วงเวลานั้น เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนการแต่งตัว เปลี่ยนบุคลิกภาพเป็นคนใหม่
มีการเปลี่ยนแปลงในทางลบต่อสภาวะอารมณ์ ดังนี้
ไม่สามารถจดจำส่วนสำคัญของเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจได้ เช่น สถานที่ คนที่ทำร้าย หรือไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงนั้นเลย
เกิดความคิดทางลบต่อตนเอง และต่อสิ่งรอบข้าง เช่น เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพราะตัวฉันไม่ดี โลกนี้มันโหดร้าย หรือโกรธผู้คนรอบตัวที่ไม่สามารถช่วยให้หลุดออกมาจากเหตุการณ์ร้ายได้
โทษตัวเองและโทษผู้อื่นอย่างชัดเจน
มีความรู้สึกทางลบอย่างต่อเนื่องและควบคุมไม่ได้ เช่น โกรธ เกลียด กลัว อาย
สนใจสิ่งรอบข้างลดลง ไม่ทำกิจกรรมอย่างที่เคยทำ
แยกตัวออกจากสังคม เก็บตัวอยู่แต่ในพื้นที่ปลอดภัย
ไม่มีความสุขในชีวิต
มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่รุนแรง ดังนี้
หงุดหงิดง่าย อารมณ์เสียตลอดเวลา
มีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง
หวาดระแวงต่อทุกอย่าง
ตกใจง่าย หวาดผวา
ไม่สามารถให้ความสนใจจดจ่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้
มีปัญหาด้านการนอน เช่น นอนเยอะ นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท
ต้องมีอาการข้างต้นต่อเนื่องมาแล้วอย่างน้อย 1 เดือน
อาการข้างต้นส่งผลให้ผู้ที่มีอาการ PTSD ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
อาการดังกล่าวไม่ได้มีผลมาจากการเจ็บป่วยทางกาย
จากอาการของ PTSD ที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาระบุเอาไว้นั้น จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยจะมีความทุกข์ทรมานจิตใจเป็นอย่างมาก แม้เหตุการณ์ร้ายจะจบลงไปแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกเหมือนกับว่าต้องตกอยู่ในอันตรายตลอดเวลา ซึ่งผู้ที่เผชิญกับสงครามอิสราเอล – ปาเลสไตน์ก็เช่นกัน ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจึงได้แนะนำวิธีเยียวยาจิตใจผู้ที่มีภาวะ PTSD เอาไว้ดังนี้ค่ะ
1. หลีกเลี่ยงการกระตุ้นให้ผู้ที่มีภาวะ PTSD นึกถึงเหตุการณ์ร้ายนั้นอีก
ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงเหตุการณ์นั้น การให้ผู้ที่มีภาวะ PTSD สัมภาษณ์ออกสื่อเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว หรือการสอบถามถึงเหตุการณ์นั้นอย่างละเอียด ล้วนสร้างความอึดอัดใจ และกระตุ้นให้ผู้ที่มีภาวะ PTSD หวนนึกถึงเหตุการณ์ร้ายนั้นอีก ซึ่งนั้นเท่ากับว่าเราได้ผลักเขาให้เข้าไปอยู่สถานการณ์กระทบกระเทือนใจซ้ำ ๆ ไม่รู้จบ
2. อย่าให้ผู้ที่มีภาวะ PTSD อยู่ตามลำพัง
โดยอาการของ PTSD จะทำให้ผู้ที่มีภาวะ PTSD หลีกหนีสังคม เก็บตัวอยู่ตามลำพัง และมีแนวโน้มสูงที่เขาจะทำร้ายตนเอง เพราะเกิดความคิดทางลบอย่างรุนแรงต่อเขาเอง และต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวด้วย เพราะฉะนั้นเพื่อความปลอดภัย ผู้ใกล้ชิดจึงควรคอยดูแลเขา ในระดับที่เขาไม่รู้สึกอึดอัด หรือรู้สึกว่าถูกคุกคาม
3. รับฟังอย่างเข้าใจ
ผู้ที่มีภาวะ PTSD มักจะไม่พูดถึงเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ แต่จะแสดงออกมาผ่านอารมณ์ทางลบ เช่น ความเศร้า ความเสียใจ ความโกรธ ดังนั้นแล้วหากเขาร้องไห้ ขอให้คุณคอยอยู่ข้าง ๆ หากเขาโมโห หรือบ่น หรือด่า ก็ขอให้เข้าใจและอย่าโต้ตอบด้วยอารมณ์ หากคุณรู้สึกว่าเกินความอดทนแล้ว ขอให้บอกเขาดี ๆ ก่อนจะขอปลีกตัวออกมาเพื่อดูแลรักษาสุขภาพจิตของตัวเอง
4. อย่าตัดสินเขาจากเรื่องที่เกิดขึ้น
เหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นมานั้นไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอุบัติเหตุ และเหตุการณ์รุนแรงทางเพศ ได้โปรดอย่าโทษว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะผู้ที่มีภาวะ PTSD หรืออย่าพยายามตัดสินว่าผู้ที่มีภาวะ PTSD เป็นคนไม่ดี หากเขาผิดก็อยู่เคียงข้างเขาในวันที่เขาต้องรับโทษทางกฎหมาย หากเขาเป็นผุ้ถูกกระทำด้วยเหตุผลใดก็ตามขอให้ปกป้อง และเข้าใจ
5. อย่าเร่งให้เขาเข้าหาสังคมเร็วเกินไป
ถึงแม้ว่าการเข้าสังคม จะเป็นตัวชี้วัดความปกติสุขของการใช้ชีวิตของคนเรา แต่การรีบเร่งให้ผู้ที่มีสภาวะจิตใจอ่อนไหวและเปราะบางดังเช่นผู้ที่มีภาวะ PTSD เข้าสังคมตามปกตินั้นอาจสร้างความกดดัน นำไปสู่ความเครียด และเกิดความคิดทางลบ จนเขาทำร้ายตนเองได้ เพราะฉะนั้นค่อยเป็นค่อยไปจะดีกว่าค่ะ
6. พบผู้เชี่ยวชาญตามนัดอย่างส่ำเสมอ
และที่สำคัญที่สุดหากต้องการจะหายขาดจาก PTSD ผู้ที่มีภาวะ PTSD และผู้ใกล้ชิดต้องจับมือกันเข้าพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา เพราะ PTSD ไม่สามารถหายได้เอง ต้องมีการบำบัด และปรับความคิดและพฤติกรรมร่วมด้วย
การเยียวยาจิตใจจากภาวะ PTSD นั้น ต้องอาศัยความเข้มแข็งทางจิตใจ ความพยายาม และความสม่ำเสมอทั้งจากตัวผู้ที่มีภาวะ PTSD เอง ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด และผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาที่ให้การบำบัด เพราะเราต้องร่วมกันสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตให้กับผู้ที่มีภาวะ PTSD อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตต่อไปในสังคมได้อย่างปกติสุขค่ะ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง : 1. GCC. (2566, 16 ตุลาคม). กระทรวงการต่างประเทศ แจ้งสถานะคนไทยที่ได้รับผลกระทบในอิสราเอล. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2566 จาก https://www.gcc.go.th/?p=127482
2. National Center for Biotechnology Information. (2013). Trauma-Informed Care in Behavioral Health Services. [Online]. From : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK207191/box/part1_ch3.box16/
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments