top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

อยากคิดบวก แต่ใจไม่บวกตาม? อาจเพราะคุณเข้าใจคำว่า “คิดบวก” ผิด!


คำว่าคิดบวก มาจากภาษาอังกฤษว่า positive thinking พอมีคำว่าบวก หลายคนจึงเชื่อมโยงกับเครื่องหมายบวก (+) และอาจจะเผลอตัดสินไปว่าการคิดบวกก็คือต้องบวกอย่างเดียวห้ามมีลบ ทั้งที่ความหมายจริง ๆ ของการคิดบวกนั้นไม่ได้หมายความเช่นนั้นเลย โดยพฤติกรรมที่สะท้อนถึงการเป็นคนคิดบวกหรือมองโลกในแง่ดีนั้นไม่ใช่การที่เป็นคนคิดแต่อะไรในทางที่สวยงามเพียงอย่างเดียว


แต่เป็นการกล้าเผชิญกับปัญหาและมองหาบทเรียนที่ดีได้ คาดการณ์อยู่บนหลักของความเป็นจริง มองเห็นความเป็นไปได้หลายทาง และมีแผนสำรอง ซึ่งหากใครสักคนจะมีแผนสำรองย่อมหมายถึงเขาไม่ได้คาดการณ์เฉพาะผลลัพธ์ในแง่ดี แต่ก็ไม่ได้สรุปให้กับตัวเองว่าปลายทางเขาจะต้องผิดหวังหรือโชคร้าย ดังนั้น การคิดบวกอาจหมายถึงการที่บุคคลคิดอยู่บนความเป็นจริง ซึ่งความเป็นจริงในอนาคตนั้นมีความน่าจะเป็นได้หลายแบบ คนที่คิดบวกจะสามารถคาดการณ์และวางแผนให้กับตัวเองเอาไว้ได้อย่างหลากหลาย ในขณะที่คนคิดลบจะคาดการณ์ไปในทางที่เลวร้ายและด่วนสรุปไปว่าเขาไม่มีทางที่จะเจอผลลัพธ์ที่ดีได้เลย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบางครั้งคุณอาจจะพูดหรือคิดในแง่บวกแล้ว แต่สรีระร่างกายหรือความรู้สึกลึก ๆ ข้างในมันไม่ได้บวกตามความคิดเลย นั่นเป็นเพราะร่างกายมันโกหกเราไม่ได้ การพยายามที่จะคิดบวกย่อมให้ผลลัพธ์ต่างจากการคิดบวกอยู่แล้ว เพราะการพยายามที่จะคิดบวกนั้น ในบางครั้งมันเป็นเพียงกลไกการป้องกันตนเอง (Defense Mechanism) ของบุคคลตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ของ Sigmund Freud นักจิตวิทยา ชนิด “การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization)”


ซึ่งกลไกการป้องกันตนเองนั้นจะถูกนำขึ้นมาใช้อย่างไม่รู้ตัวเมื่อเกิดสถานการณ์ที่บุคคลรู้สึกไม่สบายใจ เครียด กังวล ผิดหวัง หรืออับอาย หรืออาจจะเรียกว่ามันเป็นการปลอบใจตัวเองมากกว่าที่จะเป็นการคิดบวก หากเทียบกับสุภาษิตไทยก็อาจจะแบ่งประเภทของการหาเหตุผลเข้าข้างตนเองได้เป็น 2 แบบคือ

  • องุ่นเปรี้ยว หมายถึง การที่บุคคลต้องการหรือปรารถนาสิ่ง อยากได้ แต่ไม่สมปรารถนา ไม่ได้มาซึ่งสิ่งนั้น บุคคลก็จะใช้การหาเหตุผลเข้าข้างตนเองว่า สิ่งที่ไม่ได้มานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี และดีแล้วที่ไม่ได้มันมา

เปรียบเทียบระหว่าง “องุ่นเปรี้ยว” กับ “คิดบวก”

“ช่างมันเถอะ..ก็แค่ผู้ชายห่วย ๆ คนนึง ไม่ต้องเสียใจหรอก”

หากในความเป็นจริงแล้ว ผู้ชายที่คุณเลิกราไปเขาไม่ได้เป็นคนที่เลวร้าย เพียงแต่อาจจะทัศนคติไม่ตรงกัน และลึก ๆ คุณเองก็คิดว่าเขาเป็นคนดีและน่าเสียดายเหลือเกินที่เสียเขาไป การที่คุณพูดประโยคนี้ออกมา ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าคุณกำลังใช้การหาเหตุผลเข้าข้างตนเองแบบองุ่นเปรี้ยวอยู่ก็ได้


ในทางกลับกัน หากผู้ชายที่คุณเลิกราไปเขาเป็นคนที่ไม่ดีจริง ๆ เช่น เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ก้าวร้าวรุนแรง เอาเปรียบ และเมื่อคุณพูดกับตัวเองด้วยประโยคนี้ ภายในของคุณกำลังรู้สึกดีใจหรือโล่งใจ ร่างกายของคุณมีความผ่อนคลาย ก็แสดงว่าคุณกำลังคิดบวกอยู่จริง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม หากคุณคิดบวกอย่างแท้จริง คุณอาจจะไม่คิดแบบนี้เลย แต่คุณจะสามารถใช้ชีวิตตามปกติ ร่าเริงแจ่มใส พัฒนาตัวเองไปข้างหน้า โดยไม่ได้สนใจอดีตที่เคยเจ็บปวดมากมายนัก


  • มะนาวหวาน หมายถึง การที่บุคคลเป็นอยู่ ตกอยู่ในสถานการณ์ หรือได้รับบางสิ่งที่บุคคลไม่ปรารถนา ไม่ต้องการที่จะเป็นหรือได้รับ แต่ก็พยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนว่าสิ่งที่ตนเองเป็นหรือได้รับนั้นมันดีแล้ว

เปรียบเทียบระหว่าง “องุ่นเปรี้ยว” กับ “คิดบวก”

“ก็ดีเหมือนกัน..ที่เราไม่มีบ้านหลังใหญ่ จะได้ไม่ต้องเหนื่อยทำความสะอาด”

หากในความเป็นจริง คุณเป็นคนที่มีลักษณะชอบแข่งขันเปรียบเทียบกับคนอื่น และมีความมุ่งหวังอยู่ลึก ๆ ว่าคุณอยากจะเป็นคนที่ร่ำรวย และขณะที่พูดประโยคนี้ออกมา ใจของคุณแอบรู้สึกหวั่นไหว มีสัญญาณของความโกรธเล็ก ๆ ปรากฏขึ้นมา เช่น ใจเต้น หน้าชา หูร้อน แสดงว่าคุณไม่ได้คิดบวกจริง ๆ แต่คุณกำลังหาเหตุผลเข้าข้างตนเองแบบมะนาวหวานอยู่

ในทางกลับกัน หากในความเป็นจริงคุณเป็นคนที่ปรัชญาชีวิตแบบเรียบง่าย ชอบความ minimal และมีเป้าหมายชีวิตแบบสมถะ และตอนที่คุณพูดประโยคนี้ออกมา คุณรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย และรับรู้ได้ว่าคุณกำลังพึงพอใจกับชีวิตของตนเอง แสดงว่าคุณกำลังคิดบวก


ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าคุณคิดบวกจริง ๆ หรือคุณแค่กำลังหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง?


1. ทำความเข้าใจคำว่าคิดบวกให้ถูกต้องเสียก่อน

การคิดบวกไม่ได้เป็นแค่คำพูดคำคมสวย ๆ แต่มันต้องมาจากภายในจริง ๆ และการคิดบวกไม่ได้หมายความว่าต้องไม่คิดลบ แต่หมายถึงการคิดอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงในปัจจุบัน เพื่อที่จะได้มีแผนสำรอง หรือมีความคิดหลากหลายรูปแบบสำหรับใช้ชีวิตประจำวัน

2. รับรู้สรีระร่างกายของตัวเอง

คุณอาจจะหลอกตัวเองด้วยคำพูดได้ แต่ร่างกายจะไม่เคยโกหกเรา หากคุณมีประโยคในหัวขึ้นมาอย่างสวยหรูเมื่อเกิดสถานการณ์ที่กระตุ้นให้เราเกิดความกังวล เครียด หรือไม่พอใจ แต่ร่างกายของเรามันไม่ผ่อนคลาย ตึง หรือเกร็ง แสดงว่าคุณไม่ได้คิดบวกจริง ๆ และประโยคปลอบใจตัวเองหรือคำคมสวย ๆ ก็อาจจะช่วยได้เพียงชั่วครู่แต่ไม่ยั่งยืน

3. ตระหนักรู้ความคิดและอารมณ์ของตนเอง

การตระหนักความคิดและอารมณ์ของตนเองเป็นสิ่งที่พูดหมือนง่าย แต่การจะทำได้นั้นต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องจนเกิดความเคยชิน หากคุณสามารถตระหนักหรือเท่าทันว่าตนเองกำลังคิดแบบไหน และมีอารมณ์อะไรอยู่ จะช่วยให้คุณสามารถเข้าใจตนเองได้มากขึ้น เช่น คุณเลิกรากับแฟนไป ความคิดแรกๆ อาจจะเกิดขึ้นมาว่า “ก็ช่างมันสิ จะแคร์อะไรก็คนทุเรศ ๆ คนนึง” หากคุณละเลยความคิดและอารมณ์ มันก็จะสะสมอยู่ภายในและอาจจะนำไปสู่ความเครียดได้ แต่หากคุณช้าลงกับตนเองเล็กน้อย ใช้เวลาทบทวน จนพบว่าคุณกำลังเสียใจ โกรธ ผิดหวัง หรืออาจจะรู้สึกไร้ค่าหลังจากที่ถูกแฟนบอกเลิก คุณจึงมีความคิดแบบประชดประชันเกิดขึ้นมา ทั้งที่คุณไม่ได้เชื่อแบบนั้นจริง ๆ การตระหนักรู้เช่นนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจตัวเองมากขึ้น และเมื่อคุณเข้าใจตัวเองมากขึ้น คุณก็จะรู้ว่าคุณจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไรให้ตัวเองไม่พังไปมากกว่านี้


4. ฝึกคิดบวก

การฝึกคิดบวกอาจจะยากหากคุณไม่มีพื้นฐานมาก่อน แต่มันจะง่ายขึ้นหากคุณมีแบบอย่างการเป็นคนคิดบวก ดังนั้น วิธีการฝึกให้ตัวเองคิดบวกที่ง่ายที่สุดก็คือ การพาตัวเองให้ไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคนคิดบวก เรียนรู้จากเขา ในขณะที่พยายามไม่ไปสนิทสนมกับคนที่มองโลกในแง่ร้าย หรือเป็นบุคคลมีลักษณะเป็นพิษเป็นภัย (toxic person) อาจจะไม่ต้องถึงกับเลิกคบหา เพียงแต่อย่าปล่อยให้ตัวเองซึมซับพฤติกรรมและวิธีคิดแบบนั้นมาโดยไม่รู้ตัว

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง


บทความที่เกี่ยวข้อง

[1] 4 วิธีฝึกตัวเองให้เป็นคนคิดบวก https://www.istrong.co/single-post/4-ways-to-practice-positive-thinking

[2] 12 วิธีฝึกคิดบวก ไม่ได้ยากอย่างที่คิด https://www.istrong.co/single-post/positive-thinking

 

ประวัติผู้เขียน : นิลุบล สุขวณิช

จบปริญญาโท จากสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาตรี จากสาขาจิตวิทยา (คลินิก)จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันทำงานเป็นนักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นจ้าของแมว 7ตัว


コメント


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page