ความรุนแรงไม่ได้ช่วยให้ลูกเชื่อฟังพ่อแม่ แต่การ”เลี้ยงลูกเชิงบวก”ช่วยได้
คุณเป็นคนหนึ่งไหมคะ ที่ประสบปัญหา ‘ลูกไม่เชื่อฟัง’ ซึ่งคนที่เป็นคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูเด็ก ก็อาจจะเคยมีประสบการณ์ที่สั่งให้ลูกทำอะไรแล้วลูกไม่ทำโดยทันทีหรือไม่ทำเลยโดยเฉพาะในบ้านที่ลูกเริ่มโตขึ้นและเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้นกว่าตอนที่เป็นเด็ก ซึ่งหากบ้านไหนที่ยังไม่อัพเดทหรือยังเข้าไม่ถึงวิธีการ “เลี้ยงลูกเชิงบวก” ก็อาจจะอดคิดถึงวิธีการแบบ “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” ไม่ได้ ซึ่งหลายบ้านก็เลือกใช้วิธีที่รุนแรงอย่างการตี การตะคอกขึ้นเสียง หรือการลงโทษที่รุนแรงต่าง ๆ แต่สุดท้ายแล้วทุกบ้านที่เลือกใช้วิธีรุนแรงมักจะต้องเผชิญกับผลลัพธ์ที่คล้ายกัน เช่น ต้องตีหรือขึ้นเสียงกับลูกทุกครั้งลูกจึงจะทำตามที่บอก ถ้าพูดดี ๆ ลูกก็จะไม่ทำ หรือลูกเริ่มมีพฤติกรรมโกหกไม่ตรงไปตรงมากับพ่อแม่มากขึ้น ปัญหาเหล่านี้สะท้อนภาพว่าวิธีการรุนแรงมันใช้ไม่ได้ผลอย่างแท้จริง เพราะหากมันได้ผลจริง พ่อแม่ก็คงไม่ต้องใช้ความรุนแรงหรือใช้อำนาจขู่ให้ลูกกลัวทุกครั้งไป
ก่อนที่จะกล่าวถึงการ "เลี้ยงลูกเชิงบวก" อยากจะกล่าวถึงเหตุผลที่ลูกไม่เชื่อฟังพ่อแม่ โดยดัดแปลงมาจากบทความของ Amy Morin บรรณาธิการบทความจาก Verywell Mind และนักจิตบำบัด ซึ่งได้กล่าวถึงวิธีการ 5 แบบที่พ่อแม่ใช้เพื่อทำให้ลูกเชื่อฟังและผลคือลูกยิ่งไม่เชื่อฟังมากกว่าเดิม ดังนี้
1. คุณให้โอกาสหลังจากเตือนครั้งแรกมากไป
คุณอาจจะนับถอยหลังสาม..สอง..หนึ่ง อยู่หลายรอบ หรือพูดกับลูกว่า“ขอเตือนเป็นครั้งสุดท้ายนะว่า...” แต่เมื่อลูกยังไม่ทำ คุณก็วนไปพูดแบบเดิมอีกซ้ำ ๆ การทำเช่นนี้จะทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะไม่ฟังคำเตือนแรก เพราะรู้ว่าถึงไม่ทำตามพ่อแม่บอกแต่เดี๋ยวพ่อแม่ก็ให้โอกาสอีก ดังนั้น พ่อแม่ควรทำให้การบอกในครั้งแรกเป็นวาจาสิทธิ์ เมื่อลูกไม่ทำตามข้อตกลงก็จะต้องแสดงให้ลูกเห็นว่าเขาจะต้องได้รับผลกระทบบางอย่าง เช่น หากคุณเตือนให้ลูกไปล้างจานโดยกำหนดเวลาให้ 15 นาที แต่หลังจากที่ 15 นาทีผ่านไปแล้วลูกก็ยังไม่ไปล้างจานตามที่ตกลงกันไว้ ลูกก็ต้องถูกงดเล่นเกม 1 วัน เป็นต้น
2. คุณทำสิ่งที่ไม่ได้ช่วยให้ลูกเกิดการเรียนรู้
หากคุณสิ่งที่ตอบสนองอารมณ์ตัวเอง ยกตัวอย่างในสถานการณ์ที่คุณโกรธเมื่อเห็นลูกไม่เก็บของเล่นตามที่คุณเคยทำข้อตกลงกันไว้ แต่แทนที่คุณจะวางเงื่อนไขให้ลูกเกิดการเรียนรู้ คุณกลับใช้อารมณ์ทำโทษลูก (outrageous punishments) เช่น ตะคอกด่า ประชดประชัน ขู่ให้กลัว ขู่ว่าจะไม่รักแล้ว ไล่ออกจากบ้าน หรือตีลูก สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีความหมายต่อการเรียนรู้เรื่องการมีวินัยของลูกเลย เพราะว่าลูกทำตามด้วยความกลัวไม่ใช่เพราะมีวินัย
3. คุณมัวแต่เสียเวลาไปกับการเอาชนะลูก
เมื่อลูกโตพอที่จะพูดได้คล่องแคล่ว แน่นอนว่าลูกจะเริ่มเถียงคุณ หากคุณหลงไปในเกมที่คุณต้องเป็นผู้ชนะให้ได้ คุณก็จะมัวแต่เสียเวลาไปกับการถกเถียงเพื่อเอาชนะลูก ในขณะเดียวกันลูกก็พยายามเอาชนะคุณ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณยืนเถียงกับลูกอยู่ 20 นาที นั่นก็หมายความว่าลูกได้รับการประวิงเวลาไปแล้ว 20 นาที ดังนั้น หลังจากที่คุณบอกลูกไปแล้ว คุณก็ไปทำธุระหรือพักผ่อนของคุณได้เลย แล้วดูว่าลูกทำตามข้อตกลงหรือไม่ หากไม่ คุณก็เตรียมให้ผลกระทบกับลูก เพื่อให้ลูกเกิดการเรียนรู้ว่าเมื่อตกลงกันแล้วก็ต้องทำตามข้อตกลงนั้น
4. คุณไม่ได้คำไหนคำนั้น
หากคุณได้กำหนดเงื่อนไขข้อตกลงกับลูกเอาไว้แล้ว เช่น “ลูกจะต้องทำการบ้านให้เสร็จก่อนถึงจะไปเล่นได้” แต่เมื่อลูกทำการบ้านไม่เสร็จแล้วออกไปเล่นกับเพื่อน คุณกลับไม่ได้ทำอะไรเลยหรือแค่บ่นด่า หรืออีกตัวอย่างหนึ่งเช่น คุณบอกว่า “ถ้าลูกไม่เก็บของเล่นหลังจากเล่นเสร็จ แม่จะเอาใส่ถุงไปบริจาคให้หมด” แต่พอลูกไม่เก็บของเล่น คุณก็อาจจะบ่นด่าแต่ของเล่นก็ยังอยู่ในบ้านเหมือนเดิม แบบนี้ลูกก็จะเรียนรู้ว่าพ่อแม่ไม่ได้เอาจริงหรอก พ่อแม่ก็แค่ขู่ไปงั้น ๆ เพราะไม่เคยเห็นจะทำจริงแบบที่พูดเลย
5. คุณชอบขึ้นเสียงเวลาที่ลูกไม่ฟัง
การขึ้นเสียงใส่ลูก จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่แย่ลง เพราะไม่มีใครชอบให้คนอื่นขึ้นเสียงใส่ ลูกของคุณก็เช่นกัน หากคุณขึ้นเสียงหรือแผดใส่ลูกบ่อย ๆ ลูกก็จะเกิดความรู้สึกทางลบกับคุณขึ้นในใจ และจะไม่อยากฟังอะไรจากคุณอีกเลย
หากคุณลองทบทวนดูแล้วพบว่าตัวคุณเองได้ทำสิ่งต่าง ๆ ใน 5 ข้อนั้นไป และคุณก็เริ่มเห็นได้ชัดว่าลูกไม่เชื่อฟังไปจนถึงต่อต้านท้าทายคุณจริง ๆ แสดงว่าที่ผ่านมาคุณใช้วิธีสอนลูกที่มันไม่ได้ผล และควรจะเปลี่ยนไปใช้วิธีแนวใหม่ที่อยู่ในวิธีการของการ”เลี้ยงลูกเชิงบวก” โดยค่อย ๆ เริ่มเปลี่ยนแปลงจากตัวคุณเอง ดังนี้
1. หาข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการ”เลี้ยงลูกเชิงบวก”
เพื่อให้เข้าใจว่าการ”เลี้ยงลูกเชิงบวก”คืออะไร มีวิธีการอย่างไรบ้าง มีจิตแพทย์หรือผู้เขียนบทความเกี่ยวกับการ”เลี้ยงลูกเชิงบวก”เอาไว้อย่างไรบ้าง
2. ปรับทัศนคติต่อการเลี้ยงลูกให้ถูกต้อง
ความเชื่อที่ฝังลึกของแต่ละคนมักนำไปสู่การมีทัศนคติต่อสิ่งต่าง ๆ หากความเชื่อที่มีไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ก็จะทำให้บุคคลเลือกทำพฤติกรรมแบบผิด ๆ ได้ เช่น เชื่อว่าการตีเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุด โตมาได้เพราะไม่เรียว แต่การตีหรือลงโทษรุนแรงนั้น แท้ที่จริงเป็นการสนับสนุนให้ลูกเรียนรู้ที่จะตามเฉพาะต่อหน้า แต่ลับหลังจะไม่ทำ เพราะการทำตามนั้นไม่ได้มาจากการเรียนรู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ แต่ว่าทำตามเพราะต้องการเลี่ยงการลงโทษ การตีหรือลงโทษรุนแรงจึงนอกจากจะไม่ได้สร้างเด็กดีแล้ว ยังสนับสนุนให้เด็กเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอกไปอีก
3. เปิดใจยอมรับวิธีการใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่ “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี”
การ”เลี้ยงลูกเชิงบวก”มีลักษณะเป็นการปลูกฝังอุปนิสัยที่ดีให้กับลูก แต่การลงโทษคือการใช้อำนาจควบคุมให้ลูกกลัวแล้วทำตาม ดังนั้น การ”เลี้ยงลูกเชิงบวก”จึงมักให้ผลที่ยั่งยืนกว่า เพราะมันเหมือนเป็นการปั้นลูกให้มีคุณลักษณะที่ดี ต่างจากการลงโทษที่ยิ่งทำลูกยิ่งเรียนรู้แต่วิธีที่จะเอาตัวรอดซึ่งส่งเสริมให้ลูกมีนิสัยโกหกปิดบัง ไม่ตรงไปตรงมาโดยเฉพาะเวลาที่ทำความผิด
4. เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก
ปกติแล้วลูกจะเรียนรู้จากสิ่งที่พ่อแม่ทำมากกว่าฟังว่าพ่อแม่สอนอะไร ยกตัวอย่างเช่น คุณสอนลูกว่า “คนดีไม่พูดโกหก” “ลูกต้องอย่าเป็นคนขี้โกหก” แต่คุณเองกลับโกหกให้ลูกเห็น เช่น คุณอยู่บ้านแต่ไม่อยากเปิดประตูต้อนรับคนที่มาหา คุณจึงแกล้งทำเป็นไม่อยู่บ้าน โดยวานให้ลูกไปบอกเขาว่าแม่ไม่อยู่
อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงลูกเหมือนจะไม่ยาก แต่เอาจริง ๆ มันก็ไม่ง่าย ซึ่งการ”เลี้ยงลูกเชิงบวก”อาจจะดูไกลตัวสำหรับวัฒนธรรมไทยที่เชื่อว่า “ได้ดีเพราะไม้เรียว” “ชมแล้วจะเหลิง” “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” แต่หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจวิธีการ”เลี้ยงลูกเชิงบวก”เพื่อผลลัพธ์ทางบวกที่ยั่งยืน หรือรู้สึกว่าลูกของคุณเริ่มมีปัญหาพฤติกรรมจนคุณรู้สึกกังวลใจ ก็สามารถมองหาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญด้านครอบครัวเพื่อรับการปรึกษาแนะนำได้
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง
[1] 5 Reasons Your Child Doesn't Listen the First Time You Speak. Retrieved from. https://www.verywellfamily.com/reasons-your-child-doesnt-listen-1094967
บทความที่เกี่ยวข้อง
[1] 3 เทคนิคการเลี้ยงลูกให้สุขภาพจิตดี ตามคำแนะนำของนักจิตวิทยา https://www.istrong.co/single-post/3-techniques-for-raising-children-to-be-good-people
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (ประสบการณ์การทำงาน 8 ปี)
และเป็นนักเขียนของ istrong
Commenti