top of page

ความคิดอาจจะหลอกคุณได้ว่าคุณไม่เครียด แต่ร่างกายของคุณจะไม่มีวันโกหก

iSTRONG ความคิดอาจจะหลอกคุณได้ว่าคุณไม่เครียด แต่ร่างกายของคุณจะไม่มีวันโกหก

หากคุณเคยเห็นแบบประเมินความเครียดด้วยตนเอง คุณคงสังเกตว่าจะมีบางข้อที่สอบถามเกี่ยวกับร่างกายของคุณ เช่น ปวดหัวข้างเดียวหรือปวดหัวบริเวณขมับทั้งสองด้าน แต่ถึงแม้ว่าหลายคนจะรู้แล้วว่าร่างกายและจิตใจมีความสัมพันธ์กันก็ยังคงมีหลายคนที่ไม่เท่าทันสัญญาณเตือนจากร่างกายของตัวเองเมื่อมีระดับความเครียดที่สูงเกินไป ความเครียดจึงสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ


ขณะที่เจ้าตัวยังคงคิดว่าตนเองไม่ได้มีความเครียดเพราะไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเผชิญกับความเครียดอยู่อย่างต่อเนื่อง หลายคนจึงมักปฏิเสธความช่วยเหลือหรือไม่ได้ระบายความรู้สึกออกไปให้ใครฟังเนื่องจากคิดว่าตัวเองยังไหวอยู่ ดังนั้น แม้ว่าความคิดจะบอกคุณว่า “ฉันยังไหว” แต่ถ้าร่างกายเป็นไปในทางตรงข้ามก็อาจจะถึงเวลาแล้วที่คุณต้องเริ่มฟังเสียงของร่างกายตัวเอง


เมื่อไหร่ที่คุณควรเริ่มหันมาฟังเสียงของร่างกายตัวเองอย่างจริงจัง?

ความเครียดที่ก่อตัวขึ้นมาโดยที่คุณไม่รู้ตัว อาจทำให้คุณมีอาการเหล่านี้


  • ปวดหัว หรือเวียนหัว

  • มีการเกร็งกรามหรือขบฟันแน่น

  • ปวดบริเวณไหล่ คอ หลัง กล้ามเนื้อมีอาการตึง

  • เจ็บบริเวณทรวงอก หัวใจเต้นเร็วขึ้น รู้สึกเหมือนมีอะไรมากดทับหน้าอก

  • หายใจสั้น

  • รู้สึกเหนื่อยหรือเพลียผิดปกติ

  • การนอนหลับเปลี่ยนแปลงไป เช่น หลับมากหรือน้อยกว่าปกติ

  • ปวดท้อง รวมถึงมีอาการท้องเสีย ท้องผูก หรือคลื่นไส้

  • ความต้องการทางเพศ และ/หรือ สมรรถนะทางเพศลดลง

  • ป่วยง่ายหรือป่วยบ่อย เช่น เป็นหวัดบ่อย ติดเชื้อง่าย เนื่องจากภูมิต้านทานในร่างกายลดลง

ความเครียดไม่ได้มีแค่แบบเดียว

ดั้งเดิมแล้วความเครียดและการตอบสนองต่อความเครียดจะไม่ซับซ้อนมาก เช่น ไปล่าสัตว์ในป่าแล้วเจอเสือ แต่ในปัจจุบัน สังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น จึงทำให้ความเครียดของมนุษย์มีความซับซ้อนขึ้นตามไปด้วย โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ของ Cleveland Clinic ได้แบ่งความเครียดออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่


  1. ความเครียดเฉียบพลัน

เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นในระยะสั้น เข้ามาแล้วออกไป ผลของความเครียดเฉียบพลันมีทั้งด้านบวกและด้านลบ เช่น ตอนที่คุณเล่นเครื่องเล่นรถไฟเหาะในสวนสนุก หรือตอนที่คุณทะเลาะกับแฟน ซึ่งความเครียดประเภทนี้เป็นความเครียดที่มนุษย์ทุกคนต้องพบเจอเป็นครั้งคราว


  1. ความเครียดที่เกิดขึ้นทันทีและมีความต่อเนื่อง

เมื่อต้องประสบกับความเครียดเฉียบพลันแต่ไม่สามารถที่จะกลับเข้าสู่โหมดผ่อนคลายได้ ความเครียดนั้นก็จะคงอยู่ต่อไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมักพบได้บ่อยในคนทำงานบางอาชีพ เช่น ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ (healthcare providers)


  1. ความเครียดเรื้อรัง

เป็นความเครียดระยะยาวที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ส่วนใหญ่มักพบในคนที่มีปัญหากับคู่สมรส ปัญหาในที่ทำงาน หรือปัญหาการเงิน หากไม่จัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นก็อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้


ทำไมแต่ละคนจึงตอบสนองต่อความเครียดไม่เหมือนกัน?

จากข้อมูลของเว็บไซต์ Mayo Clinic ได้ระบุว่าคนแต่ละคนจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดแตกต่างกันไป โดยมี 2 ปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ได้แก่

พันธุกรรม

ยีนที่ควบคุมการตอบสนองต่อความเครียดช่วยให้คนส่วนใหญ่รักษาระดับอารมณ์ให้คงที่ โดยส่วนใหญ่จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เว้นแต่บางครั้งที่ร่างกายได้รับการกระตุ้นให้เตรียมพร้อมสำหรับการต่อสู้หรือหลบหนี (fight or flight) ซึ่งความแตกต่างในการตอบสนองต่อความเครียด เช่น ตอบสนองไวหรือไม่ไว ก็เป็นผลมาจากความแตกต่างกันเล็กน้อยของยีนในแต่ละคน


ประสบการณ์ชีวิต

คนที่มีการตอบสนองต่อความเครียดเป็นอย่างมาก เมื่อสอบถามประวัติแล้วมักพบว่าเคยมีเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจเกิดขึ้นในชีวิต คนที่เคยถูกทอดทิ้งหรือทารุณกรรมในตอนที่เป็นเด็กมักเสี่ยงที่จะเกิดความเครียดสูงเป็นพิเศษ รวมถึงผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์เครื่องบินตก ทหาร ตำรวจ นักดับเพลิง และบุคคลที่เคยเผชิญกับอาชญากรรมความรุนแรงด้วยเช่นกัน


ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเพื่อนของคุณบางคนมีท่าทีที่สงบได้ในทุกสถานการณ์ ส่วนเพื่อนบางคนกลับเครียดง่ายแม้กระทั่งกับเรื่องเล็กน้อย ซึ่งผู้เขียนขอเสริมว่ามันไม่ได้เป็นความผิดของใครที่จะเครียดง่ายหรือเครียดยาก


เพราะหากทุกคนเลือกได้ก็คงไม่อยากเป็นคนที่เครียดง่ายและอยากสงบได้ในทุกสถานการณ์เหมือนกัน แต่เพราะคนเราได้รับปัจจัยชีวิตมาไม่เหมือนกันจึงทำให้แต่ละคนมีการตอบสนองต่อความเครียดในแบบฉบับของตัวเอง


เมื่อไหร่ที่ควรไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจากปัญหาความเครียด?

หากคุณหาสาเหตุไม่เจอว่าตัวเองเครียดจากอะไร หรือไม่ว่าจะพยายามใช้วิธีลดความเครียดด้วยตัวเองไปแล้วแค่ไหนก็ไม่รู้สึกดีขึ้นเลย เมื่อถึงตอนนี้คุณควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการที่เกิดขึ้น หรือเลือกพบจิตแพทย์/นักจิตวิทยาเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีในการรับมือกับความเครียดอย่างมีประสิทธิภาพ


ในกรณีที่คุณมีความคิดทำร้ายตัวเองเกิดขึ้น ควรรีบติดต่อหน่วยงานให้ความช่วยเหลือทางด้านจิตใจโดยทันที เพราะในวินาทีที่คุณเชื่อมั่นมากว่าคุณต้องการที่จะจบชีวิตลงนั้น หากมีใครสักคนช่วยรับฟังเรื่องราวของคุณอย่างเต็มใจ คุณอาจจะพบว่าแท้จริงแล้วคุณไม่ได้ต้องการที่จะจบชีวิตลง แต่คุณต้องการเพียงแค่ใครสักคนที่รับฟังและเข้าใจคุณมากกว่า

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง 

 

อ้างอิง:

Stress Symptoms.


Stress symptoms: Effects on your body and behavior.


Stress.

Retrieved from


Chronic stress puts your health at risk.


แบบประเมินความเครียดด้วยตนเอง.

 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) เคยมีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นนักเขียนบทความให้กับ ISTRONG และเป็นทาสแมวคนหนึ่ง


Nilubon Sukawanich (Fern) have had experience working as a counseling psychologist at a university and as a speaker on mental health issues and self-development for students for 11 years. Currently, I am a writer for ISTRONG and a cat slave.


iSTRONG ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต Solutions ด้านสุขภาพจิต ให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง รวมถึงบทความจิตวิทยา

© 2016-2025 Actualiz Co.,Ltd. All rights reserved.

contact@istrong.co                     Call 02-0268949

  • Facebook Social Icon
  • YouTube Social  Icon
  • Instagram
  • Twitter
bottom of page