Peter Pan Syndrome อาการของคนที่ไม่รู้จักโตและไม่อยากจะโตเป็นผู้ใหญ่
“Don’t grow up. It’s a trap!” อย่าโตเป็นผู้ใหญ่เลย มันเป็นกับดัก คือประโยคที่มาจากเรื่อง Peter Pan ซึ่ง Peter Pan จะมีคาแรกเตอร์เป็นเด็กที่ไม่มีวันโตและมีชีวิตอยู่ในดินแดนที่มีชื่อ Neverland ดินแดนที่เวลาจะหยุดนิ่ง โดยนักจิตวิทยาชื่อว่า Dan Kiley คือผู้ที่นำเอาคาแรกเตอร์ในเรื่อง Peter Pan มาเขียนเป็นหนังสือที่ชื่อว่า “The Peter Pan Syndrome: Men Who Have Never Grown Up.” และเป็นที่มาของคำว่า “Peter Pan Syndrome” ซึ่งไม่ใช่ชื่อของโรคทางจิตเวชแต่หมายถึงบุคคลที่มีลักษณะเหมือนเด็กที่ไม่รู้จักโต เช่น มีปัญหาเรื่องความรับผิดชอบและการทำตามคำมั่นสัญญา ไม่มีความสนใจเกี่ยวกับการทำงานและการประกอบอาชีพ เป็นคนไม่มีแก่นสารและยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง กลัวความรู้สึกเหงา ควบคุมพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นของตัวเองได้ยาก ชอบพึ่งพิงคนอื่น หลีกเลี่ยงการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งต่อมาผู้แต่ง
หนังสือได้สรุปลักษณะของ Peter Pan Syndrome เอาไว้ 7 ประการ ได้แก่
1. มีอารมณ์แบบทื่อ ๆ หรือแสดงความรู้สึกออกมาอย่างไม่เหมาะสม
2. เชื่องช้า เฉื่อยชา ผัดวันประกันพรุ่ง และสายเป็นประจำ
3. มีปัญหาในการเข้าสังคม รู้สึกกังวลและมีปัญหาในการผูกมิตรกับคนอื่น
4. หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ ไม่ยอมรับเมื่อตัวเองทำผิดแต่จะชอบโทษคนอื่น
5. ความสัมพันธ์กับผู้หญิง: อาจจะมีปัญหาความสัมพันธ์กับแม่ และมักจะปฏิบัติกับคนรักเหมือนว่าคนรักเป็นแม่ (mother figures)
6. ความสัมพันธ์กับผู้ชาย: อาจจะรู้สึกเหินห่างกับพ่อ และมีปัญหากับบุคคลที่เป็นเพศชายที่มีอำนาจเหนือกว่า (authority figures)
7. ความสัมพันธ์ทางเพศ: อาจจะกลัวการถูกคนรักปฏิเสธ และต้องการคนรักที่ยอมเป็นฝ่ายตามใจ
สำหรับสาเหตุของ Peter Pan Syndrome ที่ทำให้บุคคลเป็นเหมือนเด็กไม่รู้จักโตนั้นยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นทางการ แต่ก็ได้มีนักจิตวิทยาจำนวนหนึ่งที่กล่าวว่า “การเลี้ยงดูแบบปกป้องมากเกินไป (Overprotective parenting)” มีส่วนในการทำให้บุคคลเป็นเหมือนเด็กไม่รู้จักโต โดย Dan Kiley ผู้ที่ริเริ่มใช้คำว่า Peter Pan Syndrome ก็ได้เพิ่มเติมอีกคำขึ้นมาคือ “Wendy Syndrome” ซึ่งหมายถึงผู้หญิงที่คอยปกป้อง Peter Pan โดยในบริบทของการเลี้ยงดูหมายถึงการเลี้ยงดูแบบปกป้องมากเกินหรือพ่อแม่แบบเฮลิคอปเตอร์ที่คอยดูแลควบคุมและจัดการทุกอย่างให้กับลูก ทำให้ลูกขาดโอกาสที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองและขาดทักษะในการดูแลจัดการตนเอง นอกจากนั้น บาดแผลทางใจในวัยเด็ก (Childhood Trauma) ก็เป็นอีกปัจจัยที่ก่อให้เกิด Peter Pan Syndrome ได้ด้วยเหมือนกัน ซึ่งบุคคลที่ถูกเลี้ยงดูแบบปกป้องมากไปจนเป็นเหมือนเด็กไม่รู้จักโตมักจะรู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่น เกิดความกดดันทางสังคมและมีปัญหาเกี่ยวกับการได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน โดย Natacha Duke นักจิตบำบัดได้กล่าวว่า บุคคลที่เติบโตมาในแบบที่มีคนคอยชี้นำทุกอย่างอาจจะต้องได้รับการเยียวยาความเป็นเด็กในวัยผู้ใหญ่ (ซึ่งน่าจะหมายถึงการเยียวยาผ่านกระบวนการทำจิตบำบัดที่ใช้เทคนิคให้บุคคลจินตนาการถึง “เด็กน้อย” ที่อยู่ข้างในตัวเองเพื่อเยียวยาบาดแผลทางใจในวัยเด็ก: เพิ่มเติมโดยผู้เขียน)
เมื่อไหร่ที่ควรได้รับความช่วยเหลือ?
แม้ว่า Peter Pan Syndrome จะไม่ใช่โรคทางจิตเวชที่ถูกระบุไว้ในตำราจิตเวชศาสตร์ แต่ก็ได้มีนักจิตวิทยาเทียบเคียงอาการว่ามีความคล้ายคลึงกับโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบหลงตัวเอง (narcissistic personality disorder (NPD) ซึ่งนอกจากจะทำให้บุคคลเหมือนเป็นเด็กไม่รู้จักโตแล้ว ยังทำให้บุคคลมีความสามารถในการควบคุมบงการคนรอบข้างเพื่อให้ยอมทำตามอีกด้วย โดยบุคคลที่เป็น NPD จะมีลักษณะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางและอ่อนไหวมากเป็นพิเศษต่อคำวิพากษ์วิจารณ์จากคนอื่นซึ่งจะทำให้พวกเขาแสดงอาการเกรี้ยวกราดหรืออาละวาดออกมาได้ง่าย
ดังนั้น การสังเกตพฤติกรรมอาการของตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อที่จะได้รู้ว่าเมื่อไหร่ที่ควรได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น รู้สึกกดดันกับการเป็นผู้ใหญ่ ไม่รับผิดชอบอะไรเลย การมีความสัมพันธ์กับคนอื่นทำให้เกิดความรู้สึกเครียด ซึ่งอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าในบางครั้ง Peter Pan Syndrome ก็อาจก่อตัวขึ้นมาจากบาดแผลทางใจในวัยเด็กที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ในอดีตและทำให้มีโอกาสสูงที่วิธีการแบบ “self-help” อาจจะใช้ไม่ได้ผลแต่จำเป็นที่ต้องได้รับการทำจิตบำบัดด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการเข้าไปเยียวยาบาดแผลทางใจ เพื่อนำไปสู่เข้าใจตนเองที่มากขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อการเติบโต เช่น การสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น การคิดอย่างมีวิจารณญาณ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
3 วิธียุติการส่งต่อภาวะ Narcissism จากรุ่นสู่รุ่น https://www.istrong.co/single-post/narcissistic-parents
อ้างอิง:
[1] What is Peter Pan Syndrome? Retrieved from https://www.medicalnewstoday.com/articles/peter-pan-syndrome
[2] Overprotecting parents can lead children to develop 'Peter Pan Syndrome' Retrieved from https://www.sciencedaily.com/releases/2007/05/070501112023.htm
[3] Peter Pan Syndrome May Have You Saying, ‘I Don’t Want To Grow Up’ Retrieved from https://health.clevelandclinic.org/peter-pan-syndrome
[4] จาก “เนเวอร์แลนด์” ถึงโลกในจักรวาล. Retrieved from https://www.thairath.co.th/scoop/world/2701800
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
Kommentare