Pet Therapy 5 ประโยชน์ดี ๆ ทางจิตวิทยา ของการมีสัตว์เลี้ยง (บำบัด)
“สัตว์เลี้ยง” สำหรับใครหลาย ๆ คนเป็นมากกว่าสิ่งมีชีวิตร่วมบ้าน แต่พวกเขาคือสมาชิกในครอบครัว คือเพื่อนผู้ร่วมทุกข์ ร่วมสุข คือสัตว์เลี้ยงบำบัดผู้รับฟังทุกเรื่องราวโดยไม่โต้เถียง หรือขัดแย้งใด ๆ และอยู่เคียงข้างเราเสมอไม่หนีไปไหน ซึ่งวิธีการใช้สัตว์เลี้ยงบำบัด หรือ Pet Therapy นั้นมีการนำมาใช้รักษาผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยทางจิต และมีผลการศึกษาถึงประสิทธิผลในการรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวมาอย่างยาวนานตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 (ค.ศ. 1860)
โดย Florence Nightingale พยาบาลคนดังของเราได้ค้นพบว่า สัตว์เลี้ยงสามารถลดอาการตื่นตระหนก และลดความกระวนกระวายของผู้ป่วยจิตเวชลงได้ ซึ่ง Sigmund Freud บิดาแห่งจิตวิทยาสายจิตวิเคราะห์ก็สนับสนุนแนวคิดสัตว์เลี้ยงบำบัด โดยให้ผู้รับการบำบัดจากเขาเล่นกับสุนัขพันธุ์เชาเชาของเขาที่ชื่อ “โจฟี” ก่อนที่เขาจะเริ่มสร้างสัมพันธภาพและทำการบำบัด ซึ่ง Freud พบว่าโจฟีช่วยให้ผู้รับการบำบัดสามารถเปิดใจได้ง่ายมากขึ้น
ปัจจุบันนี้สัตว์เลี้ยงบำบัด (Pet Therapy) ได้ถูกนำมาใช้เป็นโปรแกรมเสริมในการบำบัดรักษาผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยทางกายและผู้ป่วยทางใจ ซึ่งจะช่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ฟื้นฟูสภาพจิตใจ เพิ่มความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ โดยสัตว์เลี้ยงที่นิยมนำมาใช้กันมาก ได้แก่ สุนัข แมว ม้า และโลมา โดยสัตว์ที่นำมาใช้ในการบำบัดต้องผ่านการคัดเลือกและได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีแล้ว
จากผลการศึกษาทางการแพทย์และทางจิตวิทยา พบว่า สัตว์เลี้ยงบำบัด (Pet Therapy) มีประโยชน์ต่อผู้เข้ารับการบำบัด หรือผู้ที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยง ดังนี้
1. เสริมความเข้มแข็งทางใจ
ในการรักษาผู้ป่วยที่มีความบกพร่องในการสื่อสาร (Aphasia) ด้วยสัตว์เลี้ยงบำบัด (Pet Therapy) เช่น แมว สุนัข ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ประมาณ 3 – 6 เดือน พบว่า ผู้ป่วยมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมดีขึ้น กล้าที่จะเข้าสังคม มีความพยายามที่จะสื่อสารมากยิ่งขึ้น เพราะสัตว์เลี้ยงมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการสื่อสารพูดคุยนั่นเอง หรือในกรณีของผู้ป่วยโรคออทิสติก (Autistic) ก็พบว่า สัตว์เลี้ยงสามารถช่วยให้พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเหมาะสมมากขึ้น สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น สามารถลดพฤตติกรรมก้าวร้าวได้มากขึ้น
2. ช่วยลดความไม่สบายใจ
จากผลการศึกษาการใช้สัตว์เลี้ยงบำบัด โดย สุนัขขนาดเล็กในการบำบัดผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ หรือผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม พบว่า ผู้ป่วยมีอาการกระสับกระส่าย (agitated behavior) ลดน้องลงอย่างมาก หรือในกรณีของผู้สูงอายุ ผลการศึกษาทางจิตวิทยา พบว่า ผู้สูงอายุที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงจะมีสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง มีสุขภาพกายที่แข็งแรง และมีอายุยืนยาวกว่าผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง หรือผู้สูงอายุที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์เลี้ยง
3. ช่วยให้มองโลกในแง่ดี
สัตว์เลี้ยงบำบัด หรือ Pet Therapy นั้นนอกจากจะมีส่วนช่วยในการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเราแล้ว ยังมีส่วนอย่างมากในการเปลี่ยนทัศนคติ หรือมุมมองที่เรามีต่อโลก โดยผลการศึกษาการใช้ สัตว์เลี้ยงบำบัด (Pet Therapy) ในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านอารมณ์ พบว่า สัตว์เลี้ยงช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีความเป็นมิตรมากขึ้น และยังสามารถช่วยลดความคิดในแง่ร้าย ลดการมองโลกในแง่ร้ายได้อีกด้วย เช่นเดียวกับผลการศึกษาในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (Major depressive disorder) ที่พบว่า ผู้ป่วยซึมเศร้ามีพฤติกรรมใส่ใจตนเองดีขึ้น เนื่องจากสัตว์เลี้ยงช่วยลดความเบื่อโลก เพิ่มความสดใสในชีวิต เติมไฟในการใช้ชีวิตให้แก่พวกเขา
4. สมาธิดีขึ้น
ในการรักษาผู้ที่มีภาวะสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder ; ADHD) ด้วยสัตว์เลี้ยงบำบัด หรือ Pet Therapy พบว่า พวกเขามีสมาธิจดจ่อสนใจในสิ่งต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ใส่ใจสิ่งรอบข้าง ผู้คนรอบข้างมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการมีสัตว์เลี้ยงยังชวยให้พวกเขาได้ฝึกการรับผิดชอบชีวิตผู้อื่น และยังมีระเบียบวินัยในชีวิตมากขึ้นอีกด้วย
5. เสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self - Esteem)
จากการศึกษาของ E. Paul Chemiack และคณะ จากสถาบันผู้สูงอายุ โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยไมอามีมิลเลอร์ (Miller School of Medicine - University of Miami) รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ที่ได้เผยแพร่ในวาร Current Gerontol Geratic Research เมื่อปี ค.ศ. 2014 โดยทำการศึกษาเรื่อง The Benefit of Pet and Animal-Assisted Therapy to the Health of Older Individuals ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดประสิทธิภาพการรักษาโรคซึมเศร้าและจิตเภท
โดยการใช้สัตว์เลี้ยงบำบัด (Pet Therapy) พบว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ได้รับการบำบัดด้วยสัตว์เลี้ยงมีค่าอาหารทางจิตใจ (psychological symptoms) ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการบำบัดอย่างชัดเจน นอกจากนี้ผู้ป่วย จำนวน 28 ราย มีอาการของโรคซึมเศร้าลดลงอย่างชัดเจน ในขณะที่ในผู้ป่วยโรคจิตเภท จำนวน 20 ราย มีสมดุลย์เชิงสังคม (social functioning) ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
การที่เราจะมีสัตว์เลี้ยงสักตัวเพื่อเยียวยาจิตใจตัวเราเอง หรือคนในครอบครัวที่เรารัก ข้อควรคำนึงถึงที่สำคัญก็คือ ความชอบในสัตว์ประเภทนั้น เช่น บางคนเป็นทาสแมวก็ไม่ควรเลี้ยงสุนัข บางคนชอบสุนัขก็ไม่ควรเลี้ยงกระต่าย หรือบางคนกลัวสัตว์ปีกก็ไม่ควรเลี้ยงนก เลี้ยงไก่ เพราะหากเราเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่ไม่ถูกจริต ไม่ถูกใจ แทนที่เราจะมีสัตว์เลี้ยงบำบัด อาจจะกลายเป็นสร้าง Toxic ให้กับตัวเอง และยังอาจไปทำร้ายสัตว์ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอีก ดังนั้นแล้วการจะเลี้ยงสัตว์ใด ๆ ก็ตาม ขอให้คิดถึงความรับผิดชอบในอนาคตที่จะเกิดขึ้นด้วย เพราะพวกเขาไม่ใช่เพียงสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบ้านเรา แต่เขาคือเพื่อนข้างกายที่มีจิตใจ มีความรู้สึก และมีความรักให้เราอย่างไม่มีเงื่อนไขค่ะ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง :
1. กรมสุขภาพจิต. (2562, 13 พฤษภาคม). สัตว์เลี้ยงบำบัด (Pets Therapy). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566 จาก https://dmh.go.th/news/view.asp?id=2259
2. ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. (2565). การบำบัดด้วยสัตว์. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2566 จาก https://www.happyhomeclinic.com/alt11-animaltherapy.htm
3. รัตนาวดี โสมพันธ์. (2021, 8 กรกฎาคม). ‘สุนัขนักบำบัด’ เจ้าของภารกิจฟื้นฟูกำลังใจให้เด็ก ผู้สูงวัย และผู้เจ็บป่วยทั้งใจกาย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2566 จาก https://becommon.co/life/living-therapy-dogs/
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments