top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เศร้าไม่มาก แต่ก็ไม่หายซะที! คุณอาจเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง


เมื่อพูดถึง “โรคซึมเศร้า” หลายคนอาจจะนึกถึงภาพของคนที่มีอาการหดหู่ ร้องไห้ทุกวัน ซึมเหมือนคนหมดอาลัยตายอยากอยู่ตลอดเวลา แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคซึมเศร้านั้นได้ถูกแบ่งย่อยออกไปเป็นหลายประเภทตามอาการที่เกิดขึ้นกับแต่ละคน โดยหนึ่งในนั้นเรียกว่า “Dysthymia” หรือ “Persistent Depressive Disorder” ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอาการแสดงไม่รุนแรง แต่ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคซึมเศร้าติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน โดยคำว่า Persistent มีความหมายว่า “ดื้อดึง” ในกรณีนี้ก็คือโรคซึมเศร้ามันดื้อดึงไม่ยอมไปจากผู้ป่วยสักที ในภาษาไทยจึงมีชื่อเรียกว่า “โรคซึมเศร้าเรื้อรัง”

โรคซึมเศร้าเรื้อรัง แม้ว่าจะถูกระบุเอาไว้ว่า ‘อาการคล้ายกับโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า’ แต่มันก็สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยเพราะความสามารถในการทำงาน การเข้าสังคม หรือหน้าที่ด้านอื่นที่สำคัญบกพร่องลงไป โดยสัญญาณของการเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง มีดังนี้

  • ไม่รู้สึกสนใจกับกิจกรรมในแต่ละวัน (เบื่อไปหมด อะไรๆ ก็ไม่ดูไม่น่าสนุกเลย”

  • รู้สึกดาวน์ เศร้า ว่างเปล่าข้างในจิตใจ

  • รู้สึกสิ้นหวัง

  • เหนื่อย ไม่มีเรี่ยวแรง

  • ไม่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง ตำหนิตัวเองบ่อย ๆ รู้สึกว่าตัวเองไร้ความสามารถ

  • มีปัญหาในการตั้งสมาธิและการตัดสินใจ

  • หงุดหงิด แสดงอารมณ์โกรธมากเกินปกติ

  • ทำกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง รวมไปถึงประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

  • หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม ไม่อยากพบปะผู้คน

  • รู้สึกผิดและคิดมากเกี่ยวกับเรื่องในอดีต

  • กินอาหารมากหรือน้อยผิดปกติไปจากเดิม

  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ

ทั้งนี้ โรคซึมเศร้าเรื้อรัง สามารถเริ่มต้นแสดงอาการตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โดยอาการจะเกิดขึ้นยาวนานแบบเรื้อรัง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้บุคคลมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังมากขึ้น ได้แก่

  • มีญาติสายตรง เช่น พ่อแม่ พี่น้องในสายเลือด เป็นโรคซึมเศร้า

  • มีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรง เช่น สูญเสียคนรัก ปัญหาการเงินที่กระทบกับชีวิต

  • มีบุคลิกหรือนิสัยแบบมองโลกในแง่ร้าย ชอบคิดลบ พึ่งพิงคนอื่นสูง มีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ ชอบตำหนิวิจารณ์ตัวเองหรือชอบพูดกับตัวเองในทางลบ

  • มีอาการทางจิตเวชอื่นร่วมด้วย เช่น บุคลิกภาพผิดปกติ

นอกจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติมที่สามารถกระตุ้นให้เป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังได้อีกด้วย เช่น

  • การใช้สารเสพติด

  • มีความขัดแย้งกับคนในครอบครัวหรือในความสัมพันธ์อื่น ๆ

  • มีปัญหาในโรงเรียนหรือในที่ทำงาน

  • มีอาการเจ็บป่วยทางกายเรื้อรัง

คนที่มีความเสี่ยงจะสามารถป้องกันไม่ให้ตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังได้อย่างไร?

  • ฝึกตัวเองให้มีความสามารถในการรับมือกับความเครียดได้มากขึ้น ล้มแล้วลุกได้ มี self-esteem มากขึ้น

  • ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นให้เป็น โดยเฉพาะในเวลาที่ยากลำบาก หรือมีความรู้สึกไม่สบายใจ

  • ไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาทันทีที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เหมือนเดิมทางด้านจิตใจหรือพฤติกรรม อย่ารอให้อาการรุนแรง

  • แม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม อย่าหยุดการรักษาเอง รวมถึงหมั่นไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับมาเกิดซ้ำหรือกลายเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง

แค่ไหนถึงจะเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง?

ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนโรคซึมเศร้าแบบ Major Depressive Disorder แต่จะมีอาการน้อยกว่า และมีอาการติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี โดยอาการส่วนใหญ่จะพบปัญหาในเรื่องอารมณ์และความคิด เช่น ท้อแท้ เบื่อหน่าย มองโลกในแง่ลบ โทษตัวเอง หรือบางรายอาจมีอาการแบบเดียวกับ Major Depressive Disorder ซึ่งในช่วงเวลาที่มีอาการของโรคซึมเศร้าเรื้อรังจะต้องไม่มีอาการแบบครึกครื้น (Mania) เกิดขึ้น ส่วนอาการตามเกณฑ์การวินิจฉัยใน DSM-5 มีดังนี้


1. มีอารมณ์ซึมเศร้าแทบทั้งวัน ต่อเนื่องกันนานกว่า 2 ปี (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิด ต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปี)


2. มีอาการเหล่านี้อย่างน้อย 2 อาการร่วมด้วย

1) เบื่ออาหารหรือกินจุ

2) นอนไม่หลับหรือหลับมากเกินไป

3) อ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง

4) มีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ (Low self-esteem)

5) สมาธิไม่ดี ตัดสินใจยากลำบาก

6) รู้สึกท้อแท้


3. ในช่วงที่เป็นตลอด 2 ปี (1 ปีสำหรับเด็กและวัยรุ่น) ต้องไม่มีช่วงที่หายจากอาการติดต่อกันเกิน 2 เดือน


4. อาจมีอาการเข้าเกณฑ์ Major Depressive Disorder ต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี


5. อาการที่เป็นส่งผลให้เกิดความทุกข์ทรมาน กระทบต่อการประกอบอาชีพ การเข้าสังคม หรือหน้าที่อื่นบกพร่องชัดเจน


6. อาการที่เกิดขึ้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากการเจ็บป่วยทางกาย หรือเป็นผลมาจากการใช้สารเสพติด

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะโรคซึมเศร้าเรื้อรังหรือโรคจิตเวชใด ๆ ล้วนเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับอารมณ์ความคิด ซึ่งเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ยากหรือบางอาการไม่สามารถเห็นจากภายนอกได้เลย จึงไม่แนะนำให้วินิจฉัยอาการด้วยตนเอง แต่อยากจะชวนให้ทุกคนหันมาสังเกตใส่ใจตนเองและคนใกล้ชิดให้มากขึ้น โดยสังเกตจากพฤติกรรมซึ่งเป็นสิ่งที่พอจะมองเห็นได้ชัดกว่าอารมณ์ความคิด หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีพฤติกรรมแตกต่างไปจากเดิม เช่น จากที่เคยชอบพบปะผู้คนกลับรู้สึกอยากปลีกตัวไปอยู่คนเดียวไม่พบเจอใคร เป็นต้น โปรดอย่าลังเลที่จะไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อประเมินอาการที่เกิดขึ้น และขอเน้นย้ำว่าการไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยานั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องรอจนกว่าคุณจะมีอาการรุนแรงแล้ว คุณสามารถที่จะไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้ตั้งแต่มีอาการเพียงเล็กน้อยแต่รบกวนชีวิตประจำวัน หรือมีเรื่องกวนใจที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[2] จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี


บทความที่เกี่ยวข้อง

[1] 10 วิธีช่วยให้คนที่คุณรักพัฒนา self-esteem https://www.istrong.co/single-post/how-to-self-esteem

[2] Resilience ทักษะสำคัญ ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง https://www.istrong.co/single-post/resilience-is-an-essential-skill-for-coping-with-change

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) การศึกษา: ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การทำงาน: พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

และเป็นนักเขียนของ istrong


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page