top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

รู้หรือไม่? คุณแม่บางคนอาจมีอาการซึมเศร้าได้ตั้งแต่ยังไม่คลอด (Perinatal Depression)



จากกระแสของละคร “สงครามสมรส” ทำให้มีหลายคนเริ่มหยิบยกเอาประเด็นเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดขึ้นมาพูดถึงกันมากขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่าอาการซึมเศร้าที่เกิดกับคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ได้มีโอกาสเกิดขึ้นเฉพาะช่วงหลังคลอดเป็นต้นไปเท่านั้น เพราะว่าในบางครั้งอาการซึมเศร้าก็เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ได้ด้วยเช่นกันซึ่งเรียกว่า Perinatal Depression โดยคำว่า “Perinatal” เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินคือ Peri- หมายถึง ปริ- หรือรอบ ๆ ส่วน natal หมายถึง การเกิด ภาษาไทยใช้คำว่า “ปริกำเนิด” Perinatal Depression จึงเป็นภาวะซึมเศร้าที่มักจะเริ่มต้นเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ยาวไปจนถึงหลายสัปดาห์หลังคลอด ส่วนอาการที่เรียกว่า “Postpartum depression” นั้นจะเริ่มต้นเกิดขึ้นในช่วงหลังจากคลอดไปแล้ว 4-8 สัปดาห์ซึ่งจะแตกต่างกับอาการที่เรียกว่า “Baby blues” ที่ก็เป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเหมือนกันแต่อาการเบากว่าและเกิดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์แรกนับจากที่คลอด 


อาการของภาวะซึมเศร้าปริกำเนิด (Perinatal Depression) 

  • มีอารมณ์เศร้า กังวล หรือรู้สึกว่างเปล่า เกือบทั้งวันและเกือบทุกวันโดยเกิดขึ้นต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์

  • รู้สึกสิ้นหวัง หรือมองโลกในแง่ร้าย

  • รู้สึกหงุดหงิด คับข้องใจ หรือกระวนกระวาย

  • รู้สึกผิด รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า หรือรู้สึกอับจนหนทาง

  • สูญเสียความรู้สึกเพลิดเพลินแม้แต่กับงานอดิเริกที่เคยชอบทำ (ทำอะไรก็เบื่อไปหมด)

  • อ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง (รู้สึกเหมือนพลังงานน้อย)

  • มีอาการกระสับกระส่ายหรือมีปัญหากับการอยู่นิ่ง ๆ

  • จดจ่อตั้งสมาธิได้ยาก หลงลืมบ่อย หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการตัดสินใจ

  • นอนหลับยาก (แม้ในเวลาที่ลูกหลับ) ตื่นเร็ว หรือนอนหลับมากเกินไป

  • ความรู้สึกอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไปอย่างผิดสังเกต น้ำหนักเปลี่ยนแปลงทั้งที่ไม่ได้คุมน้ำหนัก

  • ปวดตามร่างกายรวมถึงปวดศีรษะ เป็นตะคริว มีปัญหาเรื่องการย่อยอาหาร โดยที่ไม่สามารถหาสาเหตุจากโรคทางกายได้ และอาการไม่หายไปแม้ได้รับการรักษาทางร่างกายแล้ว

  • ร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล

  • ขาดการสนใจลูก ไม่รู้สึกผูกพันกับลูก หรือรู้สึกกังวลเรื่องลูกเป็นอย่างมาก

  • รู้สึกว่าตัวเองเป็นแม่ที่ไม่ดี มีความสงสัยเกี่ยวกับความสามารถของตัวเองในการเลี้ยงลูก

  • มีความคิดที่จะทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายลูก / คิดเรื่องการตาย


ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าปริกำเนิด (Perinatal Depression) 

คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าปริกำเนิดมากขึ้นหากมีคนในครอบครัว (สายเลือดเดียวกัน) มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคจิตเวชอื่น ๆ ซึ่งโอกาสเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดรวมถึงการตั้งครรภ์ ไม่มีคนรอบข้างคอยสนับสนุนให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาหรือคุณแม่เองเคยมีประวัติในช่วงต้นของชีวิตที่ทำให้เกิดบาดแผลทางใจ (adverse life events) 


ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่การที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนความเครียด และฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้ส่งผลต่ออารมณ์ที่อาจจะกระทบยาวไปจนถึงช่วงหลังคลอด รวมไปถึงการคลอดที่ไม่ราบรื่นและเมื่อคลอดออกแล้วลูกต้องไปอยู่ในความดูแลของแผนกบำบัดพิเศษทารกแรกเกิด (Neonatal Intensive Unit: NICU) การที่คุณแม่หลังคลอดต้องอดนอนบ่อย ๆ ความกังวลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก นอกจากนี้ ความสัมพันธ์กับคนที่ทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป (หรือความกังวลเรื่องงาน) ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงด้วยเช่นกัน


ปัจจัยปกป้องที่ช่วยลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดภาวะซึมเศร้าปริกำเนิด (Perinatal Depression)

การสนับสนุนช่วยเหลือจากคนรอบข้าง (Social Support) มีความสำคัญมากในการลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดภาวะซึมเศร้าปริกำเนิด ยิ่งคุณแม่ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากคนรอบข้างมากไหร่ก็จะยิ่งลดโอกาสเกิดขึ้นของภาวะซึมเศร้าปริกำเนิดมากขึ้นเท่านั้น


สัญญาณเตือนที่คุณแม่ต้องไปพบแพทย์โดยด่วน

  • มีอาการของภาวะซึมเศร้าปริกำเนิด (ดังที่กล่าวไปข้างต้น) นานกว่า 2 สัปดาห์

  • มีความคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายลูก

  • อารมณ์เศร้าเริ่มจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

  • อาการที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการเลี้ยงลูก


แนวทางในการให้ความช่วยเหลือคุณแม่ที่มีภาวะซึมเศร้าปริกำเนิด (Perinatal Depression)

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าการสนับสนุนช่วยเหลือหรือการให้ Social Support โดยเฉพาะจากคนในครอบครัวและเพื่อน ๆ นั้นมีความสำคัญมากต่อคุณแม่ทุกคนตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอด โดยแนวทางในการให้ความช่วยเหลือ ได้แก่

  • แนะนำหรือสนับสนุนให้คุณแม่ไปพบผู้เชี่ยวชาญ

  • ช่วยกระตุ้นให้คุณแม่ไปพบผู้เชี่ยวชาญตามนัดหมายทุกครั้ง

  • ให้ความช่วยเหลือทั้งในด้านกำลังใจและการช่วยเหลือในทางปฏิบัติ

  • ช่วยแบ่งเบาหน้าที่ของคุณแม่ เช่น ผลัดเปลี่ยนเข้ามาช่วยเลี้ยงลูก ช่วยทำงานบ้าน 


การเป็นคุณแม่โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งเคยตั้งครรภ์เป็นครั้งแรกอาจจะสร้างความกังวลใจให้ได้มากเพราะต้องเจอกับประสบการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน เช่น ร่างกายเปลี่ยนแปลง รู้สึกทำอะไรไม่ถูกเมื่อลูกร้องไห้ในครั้งแรก ๆ หรือเมื่อลูกมีอาการไม่สบาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่คุณแม่จะต้องเจอ แต่สิ่งที่จะช่วยให้คุณแม่สามารถผ่านวันที่เหนื่อยล้าและสถานการณ์ที่ตึงเครียดในแต่ละวันไปได้ก็คือกำลังใจและความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเข้าใจดีว่าคุณแม่แต่ละคนมีรายละเอียดของชีวิตที่แตกต่างกันไป หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ขาดการสนับสนุนช่วยเหลือจากคนรอบข้าง เช่น เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ไม่มีญาติ ไม่มีเพื่อน ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณอยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพังนะคะ เพราะยังมีหลายหน่วยงานที่พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่ว่าคุณแม่จะตั้งครรภ์จากการวางแผนหรือตั้งครรภ์ไม่พร้อมก็ตาม รวมถึงยังมีผู้ที่ให้บริการปรึกษาด้านสุขภาพทั้งทางด้านร่างกายและด้านจิตใจอยู่มากมายซึ่งสามารถค้นหาข้อมูลได้ทางอินเตอร์เน็ตค่ะ  


และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong


 

บทความที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:


 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page