top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

รู้ว่าหนักแต่ก็พักไม่ได้ ทำยังไงดีเมื่อความเป็น Perfectionist เฆี่ยนตีตัวเอง



Perfectionism มนุษย์ที่นิยมความสมบูรณ์แบบ หรือการเป็นคนแบบ “Perfectionist” หมายถึง คนที่ทำอะไรต้องที่ดีสุด มีมาตรฐานสูงทั้งกับตัวเองและคนอื่น ซึ่งในบางครั้งมันก็เหมือนเป็นดาบสองคมที่ด้านหนึ่งก็ช่วยให้คนที่เป็น Perfectionist ทำอะไรออกมาได้ดี เป็นคนที่มีประสิทธิภาพสูง และมักจะประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น แต่ในอีกด้านหนึ่งคนที่เป็น Perfectionist ก็มักจะเป็นคนที่มีระดับความวิตกกังวลสูง เป็นคนขี้รำคาญ ซึ่งมันก็ทำให้คนที่เป็น Perfectionist มีความสุขยากกว่าคนอื่นได้เหมือนกัน โดยในบทความของ Cyrus Wahome ได้จัดประเภทของ Perfectionism เอาไว้เป็น 3 แบบ คือ


1. แบบมีมาตรฐานของตัวเอง (Personal standards perfectionism)

ในด้านหนึ่ง คนที่มีมาตรฐานของตัวเองนั้นจัดว่าดี เพราะมักจะเป็นคนที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้กับตัวเองได้ และสามารถผลักดันตัวเองให้ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการได้เช่นกัน แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจจะทำให้มีความเครียดซ่อนอยู่ลึก ๆ จากความพยายามทำอะไรให้ออกมาดีที่สุด โดยเฉพาะถ้าตั้งมาตรฐานเอาไว้สูงมากก็อาจจะกลายเป็นเกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) หรือเป็นโรคเครียดได้

2. แบบชอบตำหนิวิจารณ์ตัวเอง (Self-critical perfectionism)

เป็นคนที่มีลักษณะที่ชอบคิดว่าตัวเองจะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ ดีไม่พอ ต้องพยายามอยู่ตลอดเวลา ต้องดีขึ้นไปอีก มักจะตำหนิติเตียนตัวเองบ่อย ๆ ซึ่งความคิดแบบนี้มักจะทำให้รู้สึกวิตกกังวล เครียด สิ้นหวัง มีความภาคภูมิใจในตัวเองน้อย และมีลักษณะหลีกเลี่ยง เช่น ปลีกตัวไปอยู่คนเดียวเพราะลึก ๆ แล้วไม่อยากจะถูกตำหนิวิจารณ์จากคนอื่น

3. แบบถูกกำหนดมาตรฐานจากสังคม (Socially prescribed perfectionism)

การเป็น Perfectionist ที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมภายนอกเป็นตัวกำหนด มักเกิดขึ้นกับคนที่ประกอบอาชีพที่สังคมคาดหวังสูง เช่น แพทย์ ทนายความ ซึ่งเป็นอาชีพที่คนในสังคมมองว่าต้องสมบูรณ์แบบ ส่งผลให้หลายคนที่อยู่ในประเภทนี้มีความเครียดสูง คิดเกี่ยวกับการทำร้ายตนเอง หรือแม้กระทั่งคิดฆ่าตัวตาย

แม้ว่าคนที่เป็น Perfectionist หลาย ๆ คนรับรู้ว่าตัวเองเป็นคนที่ “เป๊ะ” หรือ “เยอะ” มากเกินไปและอยากจะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนสบาย ๆ กับชีวิตบ้าง แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง เพราะมันเหมือนเป็นความเคยชินไปแล้วที่จะต้องทำทุกอย่างให้มันออกมาสมบูรณ์แบบ ดีที่สุด ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะให้ทุกอย่างมันไม่มีอะไรที่ผิดพลาดเลย และไม่สามารถรับตัวเองหากจะปล่อยให้ตัวเอง “ชิล” หรือลดมาตรฐานตัวเองลง มันจึงเป็นการยากที่จะดีดนิ้วเปลี่ยนตัวเองจาก Perfectionist ไปเป็นคนสบาย ๆ กับชีวิต บทความนี้จึงเป็นการชวนมาจัดการกับความกังวลที่เกิดจากความเป็น Perfectionist มากกว่าชวนให้เลิกเป็น Perfectionist ดังนี้

1. มองภาพใหญ่แทนที่จะไปโฟกัสกับรายละเอียดหยุมหยิม

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ใช้เวลาสามชั่วโมงไปกับการใส่ใจรายละเอียดของสไลด์นำเสนอแผนธุรกิจ เพื่อให้สไลด์ออกมาดูดีที่สุด แต่มันก็ไม่ได้ช่วยให้ลูกค้าซื้อแผนธุรกิจของคุณเพิ่มขึ้นมาเลย คุณอาจจะลองใช้คำถามเพื่อทบทวนว่าคุณให้เวลากับรายละเอียดมากเกินไปไหม ลองปรับมุมมองของตัวเองให้ไปมองภาพใหญ่แทนที่จะไปโฟกัสกับรายละเอียดหยุมหยิม และบอกกับตัวเองว่า “ไม่ต้องสมบูรณ์แบบไปหมดทุกอย่างก็ได้” บางอย่างที่ทบทวนแล้วมันไม่ได้สำคัญมากขนาดนั้นก็ไม่ต้องไปใช้เวลาใส่ใจรายละเอียดกับมันมาก หันไปมองภาพรวมว่างานมันเสร็จสิ้นตรงตามความต้องการของลูกค้าหรือเจ้านายพอใจเท่านี้ก็ถือว่าดีมากที่สุดแล้ว เพราะหากต้องดีที่สุดตามมาตรฐานตัวเองมันอาจทำให้คุณต้องเสียเวลาไปกับงานชิ้นหนึ่งโดยใช่เหตุก็ได้

2. ปรับมาตรฐานตัวเอง

คนที่เป็น Perfectionist มักมีความคิดว่าทุกอย่างมันต้องดีที่สุด แม้แต่ตัวเองก็จะต้องเป็นคนที่ดีที่สุด เช่น เป็นแฟนที่ดีที่สุด เป็นพนักงานที่ดีที่สุด เป็นพ่อแม่ที่ดีที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้วดีที่สุดก็คือดีพอ (good enough) ยกตัวอย่างเช่น หากคุณร่างงานไปนำเสนอเจ้านายแล้วมีแก้ไขบ้าง ให้คิดว่านั่นคือร่างชิ้นแรกที่มันย่อมไม่สมบูรณ์แบบที่สุด มันไม่เรื่องน่าอายอะไรเลย คุณทำมันดีพอแล้วสำหรับร่างชิ้นแรก เพราะหากคุณต้องการให้ทุกอย่างมันเป๊ะไม่มีที่ติเลยตั้งแต่เริ่มต้น คุณอาจจะรู้สึกเครียดและอาจจะรู้สึกผิดหวังกับตัวเองมากหากผลของมันไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคาดหวัง

3. ทำ checklist

บางครั้งการเป็น Perfectionist มันอาจทำให้คุณรู้สึกว่าคุณต้องทำไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ต้องทำเพิ่มอีก ต้องดีขึ้นอีก ซึ่งมันอาจทำให้รู้สึกเหนื่อยและเครียดจากความรู้สึกว่ามันเหมือนไม่มีจุดพัก แต่หากคุณทำ checklist ขึ้นมา เช่น checklist ขั้นตอนของการทำงาน หรือ checklist สิ่งที่ต้องทำ มันก็จะช่วยให้คุณรู้ว่าคุณได้ทำสิ่งที่จำเป็นครบแล้ว ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มหรือไปแก้ไขรายละเอียดอะไรเพิ่มเติมอีก และอย่าลืมชื่นชมความสำเร็จเล็ก ๆ ของตัวเองทุกครั้งด้วย

4. ทำลายวงจรของการครุ่นคิด

สิ่งหนึ่งที่มักเกิดขึ้นกับคนที่เป็น Perfectionist ก็คือ การคิดเกี่ยวกับความผิดพลาดและการทำยังไงให้คุณไม่พลาด โดยจะหมกมุ่นครุ่นคิดซ้ำไปซ้ำมาโดยมันมักจะเป็นไปในทางลบ ก่อให้เกิดความวิตกกังวลและทำให้เครียดง่าย หากคุณมีลักษณะคิดวนจนเครียด คุณอาจจะต้องลองหาวิธีทำลายวงจรของการครุ่นคิด โดยอาจจะใช้เทคนิคการอยู่กับปัจจุบัน ค้นหาว่าอะไรที่ทำให้คุณคิดวน ลองทำอะไรที่ออกจากความเคยชิน มองหาวิธีคิดแบบอื่นหรือฝึกคิดในแง่ดี

อย่างไรก็ตาม การเป็น Perfectionist ไม่ใช่การเลือก บ่อยครั้งที่มันเกิดขึ้นมาจากประสบการณ์ชีวิตและเหตุการณ์ที่ผ่านมาที่มันหล่อหลอมให้คุณมีบุคลิกภาพเป็นแบบ Perfectionist ซึ่งหากคุณทบทวนดูแล้วคุณไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากการเป็น Perfectionist คุณยังกินอิ่มนอนอุ่นมีความสุขดี คุณก็อาจจะเป็น Perfectionist ต่อไปก็ได้ แต่หากคุณเริ่มได้รับผลกระทบจากมัน เช่น มีปัญหาการนอนหลับติดต่อกัน มีปัญหาสุขภาพที่เกิดจากความเครียด รู้สึกวิตกกังวลหรือเครียดจนไม่มีความสุข ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเริ่มแย่ลง และคุณอยากจะปรับเปลี่ยนเพื่อให้ตัวเองและคนรอบข้างมีความสุขมากขึ้น คุณสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักให้คำปรึกษา เพื่อหาวิธีรับมือกับผลกระทบของการเป็น Perfectionist ได้ดีมากขึ้น หรือรับการทำจิตบำบัดจากนักจิตวิทยาเพื่อทำความเข้าใจความเป็น Perfectionist ของคุณ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] How to Overcome Perfectionism. Retrieved from. https://www.webmd.com/balance/features/how-to-overcome-perfectionism

[2] How to Manage Your Perfectionism. Retrieved from. https://hbr.org/2019/04/how-to-manage-your-perfectionism


บทความที่เกี่ยวข้อง

[1] 10 สัญญาณบ่งบอกว่าคุณอาจมีบุคลิกภาพแบบ Perfectionist https://www.istrong.co/single-post/10-signs-Perfectionist

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)

และเป็นนักเขียนของ istrong


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page