4 รูปแบบความผูกพันที่บ่งบอกว่าความสัมพันธ์คุณจะไปได้ดีแค่ไหน
- พิชาวีร์ เมฆขยาย
- Jul 19, 2022
- 1 min read
Updated: Mar 30

ในทางจิตวิทยาค้นพบว่า นอกจากพันธุกรรมซึ่งเป็นรหัสที่กำหนดคนเรามาตั้งแต่เกิดแล้ว รูปแบบการเลี้ยงดู คนรอบข้าง และสภาพแวดล้อมในวัยเด็กก็ส่งผลต่อบุคลิกภาพและคุณสมบัติทางจิตวิทยาของคนเรามากเช่นกัน รวมถึงรูปแบบที่เราจะสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นด้วย
หากวัยเด็กถูกเลี้ยงดูด้วยความรัก เด็กน้อยจะเติบโตขึ้นด้วยรูปแบบความผูกพันที่เหมาะสมในทุก ๆ ความสัมพันธ์ เช่น “เวลาที่ฉันเจ็บ ฉันจะวิ่งไปให้แม่ปลอบ” ซึ่งเด็กน้อยก็จะเรียนรู้ว่ามีคนที่สามารถให้ความรักความอบอุ่น ความรู้สึกปลอดภัย และทำให้เขาไว้วางใจได้
หากเด็กคนไหนที่พ่อแม่หรือคนเลี้ยงเพิกเฉย เขาก็จะไม่แสดงความผูกพันกับคนอื่นหรือไม่แสดงอารมณ์ ทำให้เขาเติบโตมาโดยไม่สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและไว้วางใจกับคนอื่นได้ ซึ่งทำให้บั้นปลายชีวิตอาจโดดเดี่ยว
ในทางจิตวิทยา John Bowlby และ Mary Ainsworth พัฒนาทฤษฎีความผูกพัน (Attachment Theory) ขึ้นมาในราวช่วงปี 1960s ที่ระบุว่ารูปแบบที่คนเราถูกเลี้ยงดูมาในวัยเด็กจะส่งผลต่อรูปแบบการสร้างผูกพันกับผู้คนเมื่อเติบโตขึ้น ซึ่งในที่นี้สามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน : ปฏิเสธ-หลีกเลี่ยง (Dismissive-Avoidant)
คนที่มีรูปแบบความผูกพันประเภทปฏิเสธ-หลีกเลี่ยง มักจะรู้สึกขาดและไม่แน่ไม่นอนในความสัมพันธ์
ลักษณะของคนที่มีรูปแบบความผูกพันประเภทนี้ เช่น
มักเก็บตัว
เย็นชาในความสัมพันธ์
ไม่ต้องการจะผูกพันกับใครในระดับลึกซึ้ง
เป็นอิสระ ไม่ยึดติดกับใคร
ไม่สามารถใกล้ชิดผูกพันกับคนรักได้
รู้สึกอ่อนแอเมื่อต้องพึ่งพิงใครมาก ๆ
ผลลัพธ์จากสิ่งที่คนกลุ่มนี้เป็นคือ พวกเขามีแนวโน้มที่จะหนีเมื่อต้องผูกพันทางใจหรือทางกายกับใคร
2. พวกกลัวถูกนอกใจ : หวาดกลัว-หลีกเลี่ยง (Fearful-Avoidant)
บางคนอาจเคยมีประสบการณ์ในการพบเจอความไม่ไว้วางใจจากคนที่เลี้ยงดูมา หรือมีประสบการณ์ที่ถูกทำร้ายหรือทำทารุณกรรมทางวาจา กาย หรือใจ จนทำให้เติบโตมาด้วยการโหยหาความรัก แต่ก็เชื่อว่าตัวเองจะถูกนอกใจตลอด อาจพัฒนารูปแบบความผูกพันกับผู้คนที่มีลักษณะ เช่น
รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
สับสนในความสัมพันธ์
มักเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างความห่างเหินและความอ่อนแอ
จับผิดเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปหมด เช่น ภาษาท่าทางของอีกฝ่าย เพื่อค้นหาว่าตัวเองกำลังถูกนอกใจหรือไม่
ไม่ไว้วางใจใครในเรื่องความสัมพันธ์
รู้สึกว่าตัวเองจะถูกนอกใจหรือหักหลังได้ง่าย ๆ
ผลลัพธ์ของคนที่มีรูปแบบนี้คือมักจะมีพฤติกรรมที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เดี๋ยวเอาใจเดี๋ยวชวนทะเลาะกับคนรัก
3. พวกหวาดระแวง : ความผูกพันที่เต็มไปด้วยความกังวล (Anxious Attachment)
รูปแบบนี้มักเป็นผลมาจากความเอาแน่เอานอนไม่ได้จากผู้ที่เลี้ยงดูเขาในตอนเด็ก หรือมักถูกทอดทิ้ง คนเลี้ยงมักไม่อยู่ให้เห็นใกล้ ๆ ทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองถูกทอดทิ้ง ซึ่งส่งผลให้มีลักษณะต่อไปนี้
เสียสละ ยอมให้ตนเองลำบากเพื่อเอาอกเอาใจคนอื่น
กลัวการถูกปฏิเสธหรือไม่ยอมรับ
กลัวการถูกทอดทิ้งอย่างมาก
ให้มากเกิน มีปฏิกิริยารุนแรง หรือเล่นใหญ่มากไปในความสัมพันธ์
ยอมแลกบางอย่างเพื่อรักษาความสัมพันธ์เอาไว้
4. พวกมั่นคง : ความผูกพันที่รู้สึกมั่นคง (Secure Attachment)
คนที่มีรูปแบบความผูกพันที่รู้สึกมั่นคงมักเติบโตท่ามกลางความรักความอบอุ่น และการดูแลที่เพียงพอจากพ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงดูมา พวกเขามักมีลักษณะดังนี้
รู้สึกมั่นคงในความสัมพันธ์
สนับสนุนคนรัก เปิดเผย และพร้อมดูแลความสัมพันธ์ของตนเอง
พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองจากความผูกพันรูปแบบอื่นไปสู่ประเภทที่มั่นคงมากขึ้น
หากคุณอ่านแล้วพบว่าตนเองกำลังมีรูปแบบความผูกพันแบบ 3 ประเภทแรก และสิ่งที่คุณเป็นกำลังส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคุณ ณ ตอนนี้ อย่ารีรอที่จะหาทางปรับเปลี่ยน ปรับพฤติกรรมของตนเองเพื่อให้เป็นแบบที่ 4 หรือความผูกพันที่รู้สึกมั่นคงมากขึ้น แต่หากพบว่า มีบางสิ่งที่ติดอยู่ในใจและทำให้คุณยังเปลี่ยนไม่ได้ อย่าลังเลที่จะคุยกับผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ที่จะใช้เวลาไปพร้อมกับคุณในการค้นหาสาเหตุ วิเคราะห์รูปแบบวิธีคิดและการตีความของคุณ ไปจนถึงการแก้ไข
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
ที่มา:
ผู้เขียน
พิชาวีร์ เมฆขยาย
M.Sc. จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ
B.Sc. จิตวิทยา
ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตในองค์กร / นักออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ / Youtuber / Blogger