top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

“Passive Suicidal” อยากตายแต่ไม่อยากฆ่าตัวตาย สิ่งที่คนยุคใหม่หลายคนกำลังเผชิญ


ในระยะหลังสังคมน่าจะเริ่มได้ยินคำว่า “อยู่ก็ได้ตายก็ดี” ซึ่งบางคนก็เรียกมันว่า “Passive Death Wish” หรือ “Passive Suicidal” หมายถึงความปรารถนาที่จะให้ชีวิตของตัวเองมันจบลงโดยที่ไม่ต้องฆ่าตัวตาย โดยคนที่มีความปรารถนาเช่นนี้มักจะมีความคิดหรือมีคำพูดกับตัวเอง (self-talk) ไปทางที่หมดหวัง เช่น “ฉันไม่อยากอยู่แล้ว มันไม่ไหวแล้ว” “ฉันไม่น่าเกิดมาเลย” “ฉันอยากให้เครื่องบินตก (ฉันจะได้ตาย)” “คนในครอบครัวของฉันคงจะมีความสุขกันมากขึ้นถ้าฉันไม่อยู่แล้ว” “ฉันอยากที่จะหลับไปแล้วไม่ต้องตื่นขึ้นมาอีกเลย” 


อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนเราเกิดความคิดอยากตาย?

จากคลิปที่เผยแพร่ใน facebook ของ We Oneness โดย มูลนิธิสหธรรมิกชน สนับสนุนโดย สสส. ตอนเลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เป็นโรคซึมเศร้า นายแพทย์ทีปทัศน์ ชุณหสวัสดิกุล (หมอปอง) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุของการฆ่าตัวตายว่ามีด้วยกัน 3 สาเหตุหลัก ได้แก่

1. การไม่อยากมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะการมีความเจ็บป่วยที่ทำให้ไม่มีความสุขกับร่างกาย เช่น โรคมะเร็ง

2. มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ เช่น ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้รับความรักจากที่ทำงาน ไม่ได้รับเกียรติหรือตำแหน่ง รู้สึกพ่อแม่ไม่รัก แฟนทิ้ง ซึ่งในอีกความหมายหนึ่งคือมีความรู้สึกที่ตัดขาดไม่เชื่อมโยงกับใคร (Soul Disconnected)

3. ไม่มีจุดหมายในชีวิต (life purpose) ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไมหรือมองชีวิตไปข้างหน้าแล้วมันไม่มีความหวัง


นอกจาก 3 สาเหตุหลักที่กล่าวมา ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้บางคนมีความเสี่ยงต่อความคิดอยากตายเพิ่มขึ้น ได้แก่

- คนในครอบครัว (สายเลือดเดียวกัน) มีประวัติฆ่าตัวตาย, พยายามฆ่าตัวตาย หรือมีความคิดอยากตาย

- มีประวัติของโรคทางอารมณ์ (Mood Disorders) เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์

- ประวัติการใช้สารเสพติด

- มีประสบการณ์เคยถูกทารุณ (abuse) หรือมีบาดแผลฝังใจ (trauma)

- สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เช่น คู่ชีวิต คนในครอบครัว เพื่อนสนิท 

- มีความเจ็บป่วยชนิดรุนแรง

- มีเครือข่ายทางสังคมน้อย (ไม่รู้จะขอความช่วยเหลือจากใคร)

- ขาดการเข้าถึงบริการทางสุขภาพกายและสุขภาพจิต


ทั้งนี้ แนวทางในการรับมือกับความคิดอยากตายที่หลายคนน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วก็คือการไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและการระบายให้กับคนที่ไว้ใจฟัง อย่างไรก็ตาม หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มี Passive Suicidal ที่เกิดขึ้นจากการที่ไม่รู้ว่าจะอยู่ต่อไปทำไม นั่นอาจเป็นไปได้ว่าคุณกำลังขาดจุดหมายในชีวิต (life purpose) และนำไปสู่ความรู้สึกว่าชีวิตของตัวเองมันไม่มีความหมาย


ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น การกำหนดจุดหมายในชีวิตและการฟื้นฟูความหมายของชีวิตให้กับตัวเองก็อาจจะเป็นอีกวิธีในการรับมือกับ Passive Suicidal โดยจากงานวิจัย “A meaningful life is worth living: Meaning in life as a suicide resiliency factor” ของ Evan M. Kleiman และ Jenna K. Beaver พบว่า การมีอยู่ของความหมายชีวิตจะช่วยลดความคิดอยากตายและการพยายามฆ่าตัวตายลง การค้นหาความหมายของชีวิตยังช่วยให้ความคิดอยากตายค่อย ๆ ลดลง ดังนั้น


ผู้เขียนจึงมีความคิดเห็นว่าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่รู้ว่าจะอยู่ต่อไปทำไมแต่ก็ไม่ได้อยากจะฆ่าตัวตาย ลึกลงไปแล้วคุณอาจไม่ได้อยากตายแต่เพียงไม่พบความหมายของชีวิต และหากคุณสามารถตั้งจุดหมายในชีวิตและรู้ว่าอะไรที่ทำให้คุณยังมีชีวิตอยู่ก็อาจจะช่วยให้คุณสามารถรับมือกับ Passive Suicidal ได้มากขึ้น โดยแนวทางในการค้นพบความหมายของชีวิตอาจทำได้ ดังนี้


1. สร้างแรงขับภายใน ที่จะพาตัวเองไปทำสิ่งที่มันมีความหมาย โดย Vallerand (2012) พบว่าคนที่มีความกลมกลืนไปกับ passion ของตัวเองมักจะมีความสัมพันธ์อันดีกับบุคคลอื่นที่มี passion ตรงกันตามไปด้วย 


2. พัฒนาและสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม คนที่มี social connection ที่น้อย อยู่อย่างเหงา ๆ หรือโดนขับออกจากสังคมมักจะรู้สึกว่าชีวิตมีความหมายน้อยลง (Williams, 2007)


3. มีความสัมพันธ์กับคนที่ช่วยเพิ่ม sense of belonging ของตัวเอง เพราะหากคุณรู้สึกว่าคุณไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนใดคุณก็มักจะรู้สึกว่าชีวิตมีความหมายน้อยลง 


4. คอยสังเกตอารมณ์ของตัวเอง โดย Heintzelman & King (2014) พบว่า การมีอารมณ์ทางบวกมากขึ้นจะทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีความหมายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การควบคุมให้ตัวเองมีอารมณ์ตามที่ต้องการนั้นเป็นเรื่องยาก แต่คุณก็สามารถเพิ่มอารมณ์ทางบวกของตัวเองได้ผ่านกิจกรรมที่คุณควบคุมได้ เช่น ทำงานอดิเรก นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงทำกิจกรรมที่ช่วยฝึกสติ


5. จัดการกับสภาพแวดล้อมของตนเอง กิจกรรมรูทีนในแต่ละวัน การจัดสรรเวลา การทำให้สภาพแวดล้อมแลดูสะอาด สามารถเพิ่มความรู้สึกว่าตัวเองสามารถจัดการกับสภาพแวดล้อมรอบตัวได้ซึ่งสามารถนำไปสู่ความรู้สึกว่าชีวิตมีความหมายได้เช่นกัน


ท้ายนี้ ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่กำลังมี Passive Suicidal ซึ่งแม้มันจะเกิดขึ้นจริงแต่ก็ขอให้ทุกคนอย่าลืมว่ามันจะเกิดขึ้นแบบมา ๆ ไป ๆ อุปมาเหมือนกับพายุที่มันย่อมไม่มีลูกไหนเกิดขึ้นแล้วอยู่กับเราไปตลอด และบ่อยครั้งที่เมื่อพายุสงบลงท้องฟ้าก็กลับสวยงามแปลกตา บางครั้งก็มีสายรุ้ง หรือในบางครั้งพายุก็ทำให้ต้นไม้ดอกไม้ผลิบานมากขึ้นกว่าเดิม เหมือนกับเพลงฤดูที่แตกต่างของคุณบอย โกสิยพงษ์ “อดทนเวลาที่ฝนพรำ อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นถึงความแตกต่าง เมื่อวันเวลาที่ฝนจาง ฟ้าก็คงสว่างและทำให้เราได้เข้าใจ ว่ามันคุ้มค่าแค่ไหนที่เฝ้ารอ” 

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

[1] เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เป็นโรคซึมเศร้า นพ.ทีปทัศน์ (หมอปอง) Retrieved from. https://www.facebook.com/reel/156314647576585

[2] Passively Suicidal: A Warning Sign You Should Never Ignore. Retrieved from https://ridgeviewhospital.net/passively-suicidal-a-warning-sign-you-should-never-ignore/

[3] A meaningful life is worth living: Meaning in life as a suicide resiliency factor. Retrieved from https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0165178113004460

[4] Realizing Your Meaning: 5 Ways to Live a Meaningful Life. Retrieved from https://positivepsychology.com/live-meaningful-life/

 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page