ความโกรธที่ถูกซ่อนไว้ในรูปแบบpassive-aggressive
ความโกรธเป็นอารมณ์ทางด้านลบ ที่หากแสดงออกมาอย่างไม่เหมาะสมก็จะเกิดผลเสียกับบุคคลนั้น ดังนั้น บ่อยครั้งที่เราถูกสอนให้กดความโกรธของเราเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ความโกรธที่ถูกกดไว้ ไม่ได้หายไปไหน แต่จะถูกแสดงออกมาทางอ้อมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งในทางจิตวิทยาเรียกพฤติกรรมนี้ว่า พฤติกรรมในรูปแบบ passive-aggressive นั่นเอง
บทความแนะนำ 3 ขั้นตอนจัดการความโกรธที่นักจิตวิทยาแนะนำ :
พฤติกรรม passive-aggressive คือ พฤติกรรมที่คนคนหนึ่งพยายามที่จะควบคุมการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาจากความโกรธของตัวเอง ในรูปแบบต่างๆ เนื่องจาก พวกเขามีความเชื่อว่า หากมีคนรับรู้ว่าพวกเขามีอารมณ์โกรธ จะส่งผลไม่ดีกับตัวเขา และ เป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับ คนกลุ่มนี้ ดูเหมือนเป็นคนใจเย็น ไม่โกรธ ไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าวให้เห็นได้ชัด แต่สิ่งที่พวกเขาพยายามจะทำเพื่อตอบสนองความโกรธที่เกิดขึ้นกับคนที่ทำให้พวกเขาโกรธก็คือ การสร้างความหงุดหงิด ขุ่นเคือง และไม่สบายใจ นั่นเอง
ซึ่งพฤติกรรมในรูปแบบ passive-aggressive สามารถสังเกตได้ดังต่อไปนี้
- ทำเป็นไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ แทนที่จะบอกความคิดเห็น หรือ ความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง
- ใช้คำพูดว่า “ไม่เป็นไร” และ “อะไรก็ได้” เพื่อหยุดบทสนทนา
- ผัดวันประกันพรุ่ง หรือ ทำงานต่อไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
- บอกว่าจะทำ แต่ไม่ทำ และไม่คิดว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง
นักจิตวิทยาได้ค้นพบสาเหตุหลักของพฤติกรรม passive-agressive ใน 2 รูปแบบได้แก่
1. การเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่ยอมรับพฤติกรรมการแสดงอารมณ์อย่างตรงไปตรงมา คนที่ถูกเลี้ยงมาในครอบครัวนี้ จะเรียนรู้ว่า การแสดงออกว่า เราไม่พอใจ หรือ เราไม่ชอบ เป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับ ทำให้พวกเขาต้องหาวิธีการแสดงออกในรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง
2. เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่เคร่งเครียด กดดัน และให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ เด็กกลุ่มนี้ จะต้องได้รับอนุญาตก่อนที่พวกเขาจะทำอะไรสักอย่างได้ บ่อยครั้งที่ความต้องการที่แท้จริงของพวกเขาถูกกดเอาไว้ และสะสมเป็นความอึดอัดไม่พอใจ ที่ไม่สามารถแสดงออกมาได้แบบตรงไปตรงมา
ทั้งสองสาเหตุหลัก เป็นที่มาของการเรียนรู้ที่จะแสดงอารมณ์โกรธ ไม่พอใจในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งรูปแบบของพฤติกรรม passive-aggressive มีอยู่ด้วยกัน 5 ระดับ การที่เรารับรู้และทำความเข้าใจพฤติกรรมในแต่ละระดับที่แตกต่างกันออกไป จะเป็นผลดีอย่างยิ่งในการช่วยเหลือ และรับมือกับคนที่มีพฤติกรรม passive-aggressive
ระดับที่ 1 : รับปากแต่ไม่ทำตาม
คนกลุ่มนี้ จะรับปาก และยอมรับข้อตกลงในตอนแรก แต่ว่าจะไม่ทำตามที่รับปาก และ ตกลงไว้แต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น เด็กที่อยู่ในโรงเรียนที่มีกฎเคร่งครัด ที่รู้สึกอึดอัด ไม่พอใจ แต่ไม่สามารถแสดงออกได้ วันหนึ่ง ครูสั่งให้พวกเขานั่งทำงานอยู่กับที่ห้ามลุกไปไหน ซึ่งพวกเขาจะพยักหน้าตอบรับกับสิ่งที่ครูขอ แต่พฤติกรรมที่แสดงออกก็คือ พวกเขาจะพยายามหาเรื่องที่จะลุกจากที่นั่ง ไม่ว่าจะเป็น มีข้ออ้างว่าดินสอไม่คมต้องลุกไปเหลา การออกขออนุญาตไปห้องน้ำบ่อยๆ หรือ พยายามสร้างความรำคาญให้กับเพื่อนร่วมห้องเป็นต้น
พฤติกรรมในระดับที่ 1 ถือว่าเป็นระดับเริ่มต้นของพฤติกรรม passive-agressive ซึ่งถ้าหากครู หรือ ผู้ปกครองสามารถจับพฤติกรรมดังกล่าว และเข้าใจได้ ยิ่งเร็วเท่าไรก็จะยิ่งดีกับตัวเด็ก เพื่อที่เราจะได้สอนวิธีการจัดการและแสดงออกของความโกรธที่เหมาะสมต่อไป
บทความแนะนำ 5 วิธีจัดการอารมณ์ทางลบ ตามหลักจิตวิทยา
ระดับที่ 2 : ไม่ตั้งใจทำ
คนกลุ่มนี้มีความแตกต่างจากคนกลุ่มแรก ที่จะไม่ลงมือทำอะไรเลย แต่มีข้ออ้างมากมาย สำหรับคนกลุ่มนี้ พวกเขาทำด้วยความไม่พอใจ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือ งานที่ต่ำกว่ามาตรฐาน
วิธีการจัดการที่ดีก็คือ การตั้งความคาดหวังของระดับผลงานที่ชัดเจน เพื่อที่จะใช้คุยอย่างเป็นเหตุเป็นผลกับคนกลุ่ม passive-aggressive ในระดับที่ 2 ได้
ระดับที่ 3 : ปล่อยให้ปัญหาใหญ่ขึ้น
ในระดับที่ 3 คนที่มีพฤติกรรม passive-aggressive จะทำตัวเฉยเมยกับคนที่ตัวเองรู้สึกโกรธ ไม่บอก หรือไม่ให้ข้อมูลใดๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับคนคนนั้น ตัวอย่างเช่น นักเรียนคนหนึ่งรู้สึกไม่พอใจครูของเธอ เนื่องจากเขารู้สึกว่า การที่ครูทำโทษเขาหน้าชั้นเรียนทำให้เขารู้สึกอับอาย วันหนึ่ง ครูคนนั้นจะต้องทำการสอน และหา ปากกาที่จะใช้เขียนกระดานไม่เจอ ทั้งๆ ที่เด็กคนนั้นรู้ว่า จะต้องไปเอาปากกาจากที่ไหน เขาก็เลือกที่จะไม่บอก และปล่อยให้ครูหาปากกาด้วยตัวเองต่อไป เป็นต้น
คนที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรม passive-aggressive ในระดับที่ 3 จะรู้สึกหงุดหงิดอย่างมากกับสิ่งที่คนเหล่านี้พยายามจะแสดงความโกรธกับเขาในทางอ้อมๆ
วิธีการแก้ปัญหาและจัดการกับ passive-aggressive ในระดับที่ 3 ก็คือ ใจเย็น และ หาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และ สอนให้นักเรียนแสดงความโกรธอย่างเหมาะสม
ระดับที่ 4 : หาทางเอาคืน
ในระดับที่ 4 การแสดงออกของคนที่มีพฤติกรรม passive-agressive คือ จะพยายามเอาคืน หรือทำให้คนที่พวกเขารู้สึกไม่พอใจ รู้สึกหงุดหงิด รำคาญใจ และ โกรธ ตัวอย่างเช่น ภรรยาขอร้องให้สามีช่วยทำงานบ้าน แต่ถูกปฏิเสธ เธอรู้สึกโกรธ และ ไม่พอใจ แต่ไม่แสดงออกมาโดยตรง แต่ใช้วิธีการเอาคืน เช่น การไม่ทำอาหารเย็นในวันถัดไป เป็นต้น
วิธีการจัดการกับคนที่มีพฤติกรรม passive-aggressive ในระดับที่ 4 นี้ก็คือ การพูดถึงสิ่งที่ไม่พอใจโดยตรง และ หาทางออกร่วมกัน และ แสดงให้เห็นผลกระทบที่จะตามมาของการพยายามเอาคืน เป็นต้น
ระดับที่ 5 : ทำลายตัวเอง
ในระดับที่ 5 เป็นระดับที่ พฤติกรรม passive-aggressive ทำลายตัวของเขาเอง เนื่องจาก พวกเขารู้สึกว่า จะต้องทำให้คนที่เขาโกรธรู้สึกถึงความไม่พอใจ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ทำให้คนกลุ่มนี้ มักทำตัวแตกแยกกับคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งโตในครอบครัวที่มีกฎระเบียบที่เคร่งครัด และเขาจะต้องได้รับการอนุญาตจากพ่อก่อนทุกครั้งก่อนที่เขาจะลงมือทำอะไร เด็กคนนี้ถูกพ่อกับแม่คาดหวังให้เรียน หมอ แต่ตัวเธอเองอยากเรียนศิลปะมากกว่า ความรู้สึกเก็บกด และไม่พอใจ ที่ไม่สามารถระบายออกมาได้โดยตรง ทำให้เธอ ตั้งใจสอบตกวิชาวิทยาศาสตร์ และ คณิตศาสตร์ทั้งหมด เพื่อที่จะไม่สามารถเข้าเรียน หมอ ได้อย่างที่พ่อแม่คาดหวัง แต่ผลเสียที่ตามมาก็คือ เธอมีคะแนนที่ไม่ดี ไม่สามารถเข้าเรียนที่ไหนได้เลย เป็นต้น
หากเรามีคนที่เรารัก หรือ ลูกของเรามีพฤติกรรม passive-agressive ในระดับที่ 5 ทางแก้ไขปัญหาที่ดี ก็คือ การได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ
การจัดการอารมณ์อย่างเหมาะสมเป็นเรื่องที่สำคัญ และมีผลอย่างมากต่อความสัมพันธ์กับคนรอบตัว และการดำเนินชีวิตของคนคนนั้น หากคุณรู้สึกว่าตัวเองหรือคนที่คุณรักมีปัญหาในด้านการจัดการอารมณ์ การได้รับคำปรึกษาเพื่อหาสาเหตุ และวิธีการจัดการปัญหา เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อที่จะทำให้คุณสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
ประวัติผู้เขียน : อังคณา เกิดทองมี
ศึกษาด้านศิลปศาศตรมหาบัณฑิต (M.A.) สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (B.Eng.) สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยศิลปากร, และ Diploma of International E-Business, Hove College, Brighton, UK
มีประสบการณ์การทำงานในตำแหน่งวิศวกรในบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ขั้นนำของโลกมากกว่า 5 ปี ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาบริษัทด้าน Data Science และเขียนบทความด้านจิตวิทยาให้กับบริษัท iStrong
Comments