top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เมื่อคู่ชีวิตเป็นพิษ Toxic ควรคิดไปต่อหรือพอแค่นี้


          หากคุณยังจำตอนที่เป็นเด็กได้ ภาพวาดครอบครัวของหลาย ๆ คนมักจะเป็นภาพที่ประกอบไปด้วยพ่อแม่ลูก อันเป็นภาพที่มีความหมายถึงการเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ โดยภาพครอบครัวที่สมบูรณ์นั้นก็มาจากอุดมคติทางสังคมที่เชื่อว่าครอบครัวที่อบอุ่นสมบูรณ์ควรเป็นครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกัน ในขณะที่ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวหรือครอบครัวที่มีสามีภรรยาแต่ไม่มีลูกก็มักจะถูกมองว่าเป็นครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์หรือมีปัญหา


ทำให้หลาย ๆ คนเลือกที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ครอบครัวคงสมาชิกไว้ตามที่สังคมกำหนด แม้ว่าจะต้องเผชิญกับคู่ชีวิตที่เป็นพิษก็พยายามอดทนเอาไว้เพียงเพื่อไม่ให้สังคมภายนอกมองว่าเป็นครอบครัวที่มีปัญหา หรือมองว่าตนเป็นคนที่แย่เพราะไม่สามารถรักษาความเป็นครอบครัวแบบพ่อแม่ลูกเอาไว้ได้


อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยามักจะได้พบกับผู้รับบริการที่มีสมาชิกครอบครัวคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนมีลักษณะเป็นพิษ (toxic) ต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว อาทิ มีพ่อที่เมาเหล้าอย่างหนักชอบตะโกนด้วยถ้อยคำหยาบคายหรือลงไม้ลงมือกับสมาชิกในครอบครัว หรือในข่าวซึ่งเรามักเห็นกันบ่อย ๆ ที่ฝ่ายสามีมีโลกหลายใบสร้างความทุกข์ให้กับภรรยาและลูก


เรื่องราวเหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างของครอบครัวที่มีจำนวนสมาชิกครบถ้วน แต่เบื้องลึกเบื้องหลังสมาชิกในครอบครัวกลับตกอยู่ในสภาวะ ‘กลืนไม่เข้าคายไม่ออก (dilemma)’ ใจหนึ่งก็อยากจะหย่ากับคู่ชีวิตเพื่อให้ปัญหาที่คาราคาซังนี้จบสิ้นไปเสียที แต่อีกใจหนึ่งก็ไม่อยากให้ครอบครัวของตนขาดพร่องกลายเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเพราะกลัวว่าลูกจะกลายเป็นเด็กมีปัญหา


ทั้งนี้ จากการพบกับผู้รับบริการหลาย ๆ กรณีแล้ว จะเห็นจุดร่วมกันอยู่ว่า โจทย์ภายนอกไม่ได้เป็นเรื่องที่มีน้ำหนักต่อการตัดสินใจมากมายเท่าใดนัก เช่น จะถูกชาวบ้านนินทาไหม? จะเดินเข้าซอยบ้านแล้วต้องตอบคำถามตั้งแต่ปากซอยยันท้ายซอยยังไง? แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจว่าจะเลิกราหรือไม่นั้นมักมาจากโจทย์ภายในมากกว่า โดยเฉพาะโจทย์ที่เชื่อมโยงกับคุณค่า (value) ของตนเอง อาทิ “คนที่มีคุณค่าจะต้องไม่ผ่านการหย่าร้าง” “แม่ที่ดีจะต้องไม่ทำให้ลูกขาดพ่อ” “ผู้ชายที่ดีจะต้องไม่ถูกภรรยาทิ้ง” “การเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวคือการล้มเหลวในชีวิต” เป็นต้น


หากเป็นเช่นนั้น การแยกทางจะไม่ใช่เป็นเพียงการเลิกราแต่จะสั่นสะเทือนไปถึงการเห็นคุณค่าในตนเอง (self-esteem) ซึ่งก็จะยิ่งทำให้จมอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกหนักเข้าไปอีก


หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังรู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่รู้ว่าควรจะไปต่อหรือพอกันที นั่นหมายความว่าคุณกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่สับสน ดังนั้น สิ่งที่คุณควรทำจึงไม่ควรเป็นการเร่งตัวเองให้ตัดสินใจ แต่คุณควรจะใช้เวลากับตัวเองเพื่อทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ …

1. ทบทวนคุณค่าที่คุณให้กับคำว่า “ครอบครัว”

ลองทบทวนดูว่าคุณมีการตั้งคุณค่าหรือความหมายของคำว่าครอบครัวไว้อย่างไร และคุณกำลังยึดโยงคุณค่าของตัวเองเอาไว้กับความหมายของคำว่าครอบครัวอยู่หรือไม่ เพราะหากคุณเอาคุณค่าของตัวเองไปผูกไว้กับการมีพ่อแม่ลูกอยู่กันครบ คุณก็อาจจะหลงลืมไปว่าการมีความสงบสุขในครอบครัวมีความสำคัญกว่าจำนวนสมาชิกมากมายนัก


2. ประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูก

หากบ้านมีบรรยากาศราวกับเป็นสนามรบ ลูกที่ต้องพบเห็นสภาพเช่นนั้นบ่อย ๆ จะมีความรู้สึกอย่างไร โดยเฉพาะหากลูกยังอยู่ในวัยเด็กแล้ว ความที่ยังไม่มีวุฒิภาวะหรือการรู้คิดที่มากเท่าผู้ใหญ่ จะยิ่งทำให้เด็กตกอยู่ในสภาวะสับสนหวาดกลัว เครียด และวิตกกังวล ซึ่งภาพจำต่าง ๆ สำหรับเด็กจะกลายเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญ และเป็นบาดแผลทางใจที่ยากจะแก้ไขเมื่อลูกโตขึ้น


อย่างไรก็ตาม แต่ละครอบครัวก็มีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน บางครอบครัวก็อาจมีเรื่องราวดี ๆ มากกว่าเรื่องที่แย่ ซึ่งเรื่องราวทั้งดีและแย่ก็อาจจะเป็นข้อมูลที่ดีที่คุณจะนำมาใช้ประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกของคุณในอนาคตได้ว่าการตัดสินใจจะไปต่อหรือหย่าร้างจะดีต่อสภาพจิตใจของลูกมากกว่ากัน


3. ตั้งความคาดหวังไว้บนหลักของความจริง

หลายคนมีความคาดหวังเกี่ยวกับคำว่า “ครอบครัว” เอาไว้ค่อนข้างสูง มีมาตรฐานของคำว่า “ครอบครัวที่ดี” “คู่สมรสที่ดี” “พ่อที่ดี” “แม่ที่ดี” “ลูกที่ดี” ซึ่ง...ยิ่งคุณตั้งมาตรฐานเอาไว้สูงเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งมีโอกาสที่จะผิดหวังมากเท่านั้น นอกจากนั้น หากทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่คาดหวังคุณเองจะต้องประสบกับความทุกข์ใจอย่างสาหัส หรือดีไม่ดีคุณอาจจะเลือกยื้อความสัมพันธ์ที่เป็นพิษเอาไว้เพียงเพื่อต้องการให้เป็นไปตามนิยามคำว่าครอบครัวที่คุณสร้างมันขึ้นมา


4. อยู่กับปัจจุบัน

เป็นธรรมดาที่เวลาเริ่มต้นมีความรักหรือตอนที่เริ่มสร้างครอบครัวใหม่ ๆ ทุกอย่างมันย่อมต้องดีไปหมด แต่เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไป สิ่งที่ใหม่กลายเป็นสิ่งที่เก่า สิ่งที่เคยตื่นเต้นกลายเป็นสิ่งที่เคยชิน สิ่งที่เคยหวานกลับกลายเป็นความจืดชืด หากคุณยังยึดติดอยู่กับวันคืนเก่า ๆ และไม่สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้ คุณอาจจะตกอยู่ในสภาพ ‘ติดหล่ม’ คือไปข้างหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ ยิ่งพยายามจะออกจากหลุมให้ได้กลับยิ่งทำให้หลุมนั้นลึกขึ้นไปกว่าเดิม ดังนั้น หากคุณมาถึงช่วงทางตันของความรักจนยากที่จะเยียวยาแล้วล่ะก็ ทางรอดเดียวและเป็นทางรอดที่ดีด้วยก็คือการอยู่กับปัจจุบัน


5. รักตัวเอง

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ยอมสละหรือทิ้งความเป็นตัวเองไปเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่เป็นพิษเอาไว้ ยกตัวอย่างเช่น คุณยอมที่ถูกคู่สมรสด่าทอด้วยคำหยาบคายหรือพูดจาดูถูกเหยียดหยามสารพัดเพียงเพื่ออยากจะรักษาความเป็นครอบครัวเอาไว้ ความคิดนี้นอกจากจะเป็นความคิดไม่ดีเท่าใดนัก มันยังอาจส่งต่อไปยังลูกของคุณให้เชื่อแบบเดียวกันนี้และอาจส่งผลต่อการมีความสัมพันธ์หรือชีวิตคู่ของลูกในวันข้างหน้าได้อีกด้วย


ดังนั้น หากคุณไม่อยากให้ลูกของคุณต้องประสบกับสภาวะกล้ำกลืนฝืนทนกับปัญหาชีวิตคู่แล้วล่ะก็ คุณอาจจะต้องเริ่มต้นใหม่ด้วยการเป็นตัวอย่างในการ “รักตัวเอง” ให้กับลูกแล้วล่ะค่ะ แม้ว่าชีวิตคู่ที่อยู่กันแบบถือไม้ทองกระบองยอดเพชรจะเป็นความใฝ่ฝันของคู่สมรสหลาย ๆ คู่ แต่มันก็ไม่จำเป็นที่คนทุกคนจะต้องเหมือนกันไปทั้งหมด และแม้ว่าคุณจะประสบกับปัญหาความสัมพันธ์กี่ครั้งกี่หน ก็อย่าลืมนะคะว่า คุณค่าของคุณไม่ได้ลดลงไปเลย ตราบใดที่คุณยังมีความรักให้กับตัวเอง


ทาง iSTRONG ขอส่งกำลังใจให้ทุกท่านนะคะ ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพใจที่ดีและผ่านพ้นเรื่องราวต่างๆ ไปได้ด้วยดีค่ะ

หากต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่มีประสบการณ์เพื่อช่วยเหลือให้คำแนะนำในเรื่องสุขภาพใจ สามารถติดต่อเพื่อพูดคุยปรึกษานักจิต จิตแพทย์ ผ่านบริการดูแลสุขภาพจิตจาก iSTRONG  ได้เสมอนะคะ

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ประวัติผู้เขียน : นิลุบล สุขวณิช

จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์ด้านการจิตวิทยาการปรึกษากว่า 7 ปี ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นผู้เขียนบทความของ iSTRONG


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page