ลูกวัยรุ่นก็อยากได้อิสระ พ่อแม่ก็อยากได้ความชิดใกล้ จะทำอย่างไรจึงจะเข้าใจกัน
เมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น พ่อแม่ก็มักจะเกิดความรู้สึกหนักอกหนักใจมากขึ้นกว่าในตอนที่ลูกยังอยู่ในวัยเด็ก พ่อแม่หลายคนพบว่า ลูกเปลี่ยนไปเหมือนไม่ใช่ลูกคนเดิม กล่าวคือ จากเดิมที่เคยเป็นเด็กเชื่อฟัง ตัวติดกับพ่อแม่ ร้องไห้งอแงเวลาที่พ่อแม่จะห่างจากสายตา ดุว่าอะไรก็มีท่าทางสลดหรือกลัวพ่อแม่ แต่พอเข้าสู่วัยรุ่นแล้วพูดอะไรก็ไม่ฟัง ชอบปลีกตัวจากพ่อแม่ไปอยู่ตามลำพังหรืออยู่กับเพื่อน ๆ ดีใจที่พ่อแม่จะไม่อยู่บ้านบ้างในบางวัน พูดนิดพูดหน่อยก็ทำท่าหงุดหงิดไม่พอใจ ซึ่งหากพ่อแม่ไม่เข้าใจว่าอะไรคือสาเหตุทำให้ลูกเปลี่ยนไป ก็อาจจะเกิดความรู้สึกทางลบที่นำไปสู่พฤติกรรมที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกับลูกวัยรุ่น เช่น พยายามรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัวของลูกเพื่อดูว่าลูกกำลังทำอะไร กำหนดเวลาในการกลับบ้านเหมือนเป็นเด็ก ๆ ฯลฯ ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าทั้งหมดที่พ่อแม่ทำนั้นมันเปี่ยมไปด้วยความหวังดี แต่หากความหวังดีของพ่อแม่สวนทางกับพัฒนาการของลูกวัยรุ่น ความหวังดีก็อาจจะให้ผลร้ายมากกว่า
และโดยส่วนใหญ่แล้ว timing พัฒนาการของพ่อแม่และลูกก็มักจะสวนทางกัน กล่าวคือ ในวัยเด็กลูกต้องการใกล้ชิดกับพ่อแม่ แต่พ่อแม่ก็ยังอยู่ในช่วงที่ต้องทำงานหรือยังเป็นหนุ่มสาวที่มีความต้องการในการออกสังคมพบปะเพื่อนฝูง แต่พอพ่อแม่เริ่มมีความมั่นคงในด้านการงานการเงินและพร้อมที่จะให้ความใกล้ชิดลูกมากขึ้น ลูกก็เข้าสู่วัยรุ่นที่ต้องการระยะห่างจากพ่อแม่ ความท้าทายในการเลี้ยงลูกวัยรุ่นจึงมักเกิดขึ้น การมองหาทางตรงกลางให้พ่อแม่และลูกวัยรุ่นเข้าใจกันจึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง
ลูกวัยรุ่นก็อยากได้อิสระ พ่อแม่ก็อยากได้ความชิดใกล้ จะทำอย่างไรจึงจะเข้าใจกัน
1. ทำความเข้าใจพัฒนาการของวัยรุ่น
ในบางครั้งลูกวัยรุ่นอาจจะพูดจาก้าวร้าวหยาบคายออกมาด้วยความโมโหเกรี้ยวกราดต่อหน้าพ่อแม่ ซึ่งพ่อแม่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ามันคือผลจากพัฒนาการทางธรรมชาติของวัยรุ่น เพราะวัยรุ่นจะต้องผ่านช่วงเวลาที่ฮอร์โมนพุ่งสูงขึ้น ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพทำให้วัยรุ่นมีอารมณ์เกรี้ยวกราดอย่างไม่มีเหตุผล โดยที่วัยรุ่นเองก็ไม่ได้ตั้งใจหรืออยากจะเป็นแบบนั้น ซึ่งการที่พ่อแม่ปรี๊ดแข่งกับวัยรุ่นนอกจากจะไม่ช่วยให้สถานการณ์มันดีขึ้นแล้ว ยังอาจทำให้เกิดความบาดหมางระหว่างกันได้ ดังนั้น เมื่อเห็นว่าลูกมีพฤติกรรมอารมณ์ที่เกรี้ยวกราด พ่อแม่จะต้องตั้งสติให้มาก หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ เป็นตัวอย่างที่ดีและช่วยลูกหาหนทางในการจัดการอารมณ์ที่เกิดขึ้น
2. ทำข้อตกลงกันให้ชัดเจน
แม้ว่าความต้องการมีอิสระจะเป็นธรรมชาติของวัยรุ่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่ควรจะปล่อยให้ลูกวัยรุ่นทำได้ทุกอย่างตามใจตัวเอง เพราะอิสระที่ปราศจากกฎเกณฑ์นั้นคือการไม่เคารพ หากปล่อยให้วัยรุ่นทำทุกอย่างตามใจตัวเองแบบไม่เห็นพ่อแม่อยู่ในสายตาหรือไม่เห็นหัวพ่อแม่เลย พวกเขาก็จะปฏิบัติกับคนอื่นอย่างขาดความเคารพด้วยเหมือนกัน พ่อแม่จึงควรทำข้อตกลงกับลูกวัยรุ่นให้ชัดเจนว่าอะไรทำได้และอะไรที่มันมากเกินไปไม่สมควรทำ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อลูกตะโกนใส่หน้าพ่อแม่ว่า “เกลียดพ่อแม่ว้อย” พ่อแม่ก็จะต้องบอกอย่างหนักแน่นว่า “ลูกสามารถโกรธได้นะ แต่ลูกไม่สามารถจะใช้คำพูดแบบนี้กับพ่อแม่ได้” รวมถึงพูดด้วยความสงบให้ลูกตั้งสติแล้วมาคุยกันด้วยเหตุผล จากนั้นเมื่อลูกสงบลงแล้วจึงค่อยสอนลูกเรื่องการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมเมื่ออยู่กับคนอื่น เป็นต้น
3. สังเกตว่าสถานการณ์มันเริ่มบานปลายแล้วหรือเปล่า
ลูกวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวมาก ๆ หรือหงุดหงิดฉุนเฉียวง่ายจนเกินไป อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ เช่น มีปัญหากับเพื่อน โดนกลั่นแกล้งในโรงเรียน เครียดกับการเรียน ซึ่งพ่อแม่จะต้องระลึกไว้เสมอว่าการเป็นวัยรุ่นนั้นไม่ง่าย แทนที่จะปรี๊ดใส่หรือด่วนตัดสินลงโทษลูกก่อนที่จะฟังว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับลูก พ่อแม่ควรที่จะชวนลูกคุยถึงความรู้สึกนึกคิดและเหตุการณ์ในชีวิตที่เกิดขึ้นกับลูก เพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือลูกได้หากลูกกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก
4. อย่ากลัวว่าลูกจะเกลียด
พ่อแม่บางคนรับไม่ได้ที่ลูกจะแสดงท่าทีไม่ชอบหรือต่อต้านพ่อแม่หรือกลัวว่าลูกจะเกลียด จึงไม่เคยที่จะทำข้อตกลงกับลูกเลย หนำซ้ำยังตามใจลูกไปหมดทุกอย่าง ซึ่งมันเป็นผลเสียมากกว่าผลดี แม้ว่าการที่พ่อแม่ตามใจโดยไม่มีการทำข้อตกลงกับลูกจะทำให้ลูกดูมีความสุขและพูดจากับพ่อแม่ดี ๆ ไม่เกรี้ยวกราด มันก็ไม่ได้หมายความลูกจะมีความสุขจริง ๆ โดยเฉพาะถ้าลูกกลายเป็นคนที่เอาแต่ใจตัวเอง ไม่เคยผิดหวัง อยากได้อะไรก็ได้มาโดยตลอด ลูกก็จะไม่รู้ลิมิตของตัวเองและอาจไปสร้างปัญหาให้กับคนรอบข้างได้ ตรงกันข้าม การที่พ่อแม่ไม่ตามใจลูกในสิ่งที่ไม่สมควรตามใจ หรือสอนลูกด้วยเหตุผลนั้น นอกจากลูกจะไม่เกลียดคุณแล้ว ลูกจะเกิดกระบวนการเรียนรู้อยู่ภายในซึ่งอาจจะไม่เห็นผลในทันที แต่เขาจะเก็บสิ่งที่เป็นประโยชน์เอาไว้ใช้ในอนาคตอย่างเงียบ ๆ ภายใต้ท่าทีที่ดูเหมือนจะไม่ยอมรับ
5. พบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา
ในกรณีที่พ่อแม่ไม่รู้ว่าจะทำยังไงกับพฤติกรรมของลูกวัยรุ่นแล้วจริง ๆ หรือพ่อแม่เองก็ไม่สามารถที่จะควบคุมจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้เหมือนกัน เกิดการปรี๊ดแตกหรือทะเลาะกันทุกทีที่คุยกัน ก็อาจจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเข้ามาให้คำแนะนำแล้วค่ะ เพราะในบางครั้งปัญหาก็ไม่ได้มาจากฝั่งของลูกเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่มาจากความเครียดหรือปมค้างใจที่อยู่ในฝั่งของพ่อแม่เอง จึงทำให้พ่อแม่ไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ที่กระตุ้น (trigger) อารมณ์ได้ หากพ่อแม่สามารถทำความเข้าใจที่มาที่ไปของอารมณ์ของตนเอง ฝึกทักษะในการจัดการกับอารมณ์และความเครียด และนำคำแนะนำของจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาไปใช้ในการเลี้ยงดูลูก ก็จะช่วยให้สถานการณ์ความขัดแย้งภายในบ้านลดลงได้
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง
[1] How to Allow Independence and Still Keep Your Teen Close. Retrieved from. https://www.verywellfamily.com/how-to-allow-teen-independence-and-still-keep-them-close-4165998
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)
และเป็นนักเขียนของ iSTRONG
Comentarios