Parenting Styles Matter เปิดเหตุผลว่าทำไมรูปแบบการเลี้ยงดูจึงมีความสำคัญต่อเด็ก
อ้างถึงงานเขียนคลาสสิกของ Dorothy Nolte ที่ได้เขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างวิธีการเลี้ยงดูและผลลัพธ์ก็จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงดูนั้นอุปมาเหมือน “หว่านพืชเช่นไร ได้ผลเช่นนั้น” โดยส่วนหนึ่งในงานเขียนดังกล่าวมีข้อความดังนี้
“หากเด็กโตมากับคำวิจารณ์ เขาจะเรียนรู้การประณามตำหนิ
หากเด็กโตมากับความเป็นศัตรู เขาจะเรียนรู้การสู้กลับ
หากเด็กโตมากับการดูถูกเยาะเย้ย เขาจะเรียนรู้ที่จะเป็นคนขี้อาย
หากเด็กโตมากับ ความอับอาย เขาจะเรียนรู้ที่จะรู้สึกผิด
หากเด็กโตมากับการให้กำลังใจ เขาจะเรียนรู้ที่จะมั่นใจในตัวเอง
หากเด็กโตมากับความอดทน เขาจะเรียนรู้วิธีในการอดทน
หากเด็กโตมากับคำชื่นชม เขาจะเรียนรู้ที่จะขอบคุณสิ่งต่าง ๆ
หากเด็กโตมากับการยอมรับ เขาจะเรียนรู้ที่จะรัก”
รูปแบบการเลี้ยงดูส่งผลต่ออะไรได้บ้าง?
จากบทความในเว็บไซต์ Verywell Mind ได้กล่าวถึงผลของการวิจัยที่พบว่ารูปแบบการเลี้ยงอาจส่งผลต่อเด็กได้หลายอย่างทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ได้แก่
ด้านวิชาการ รูปแบบการเลี้ยงดูมีส่วนและส่งผลต่อความสำเร็จในด้านการเรียนและแรงจูงใจของเด็ก
ด้านสุขภาพจิต เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบเข้มงวด ให้เสรีภาพมากเกินไป หรือปล่อยปละละเลย จะมีโอกาสมากกว่าในการเกิดอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า และปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ
ด้านการเห็นคุณค่าในตนเอง เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนแต่ก็เปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น จะมีระดับการเห็นคุณค่าในตนเองสูงกว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงดูในรูปแบบอื่น
ด้านความสัมพันธ์ทางสังคม รูปแบบการเลี้ยงดูมีผลต่อการมีความสัมพันธ์กับคนอื่น เช่น เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบให้เสรีภาพมากเกินไปมักจะเป็นฝ่ายที่ถูกคนอื่นกลั่นแกล้ง ส่วนเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบเข้มงวดมักจะเป็นฝ่ายที่กลั่นแกล้งคนอื่น
ด้านความสัมพันธ์ในวัยผู้ใหญ่ นักวิจัยพบว่า การเลี้ยงดูอย่างเข้มงวดและไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วม อาจมีผลต่อการพัฒนาความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในภายหลัง โดยเฉพาะในแง่ของการเป็นผู้ใหญ่ที่อาจตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีการใช้การควบคุมหรือทำร้ายจิตใจ
How to การเป็นผู้เลี้ยงดูที่ให้รูปแบบการเลี้ยงดูที่เหมาะสมแก่เด็ก
หากคุณประเมินตนเองแล้วพบว่าที่ผ่านมาคุณให้การเลี้ยงดูในแบบที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ แบบเข้มงวด (authoritarian) แบบให้เสรีภาพมากเกินไป (permissive) และแบบปล่อยปละละเลย (uninvolved) คุณสามารถเรียนรู้และนำเอาวิธีการเลี้ยงดูที่เหมาะสม ได้แก่ แบบที่มีกฎเกณฑ์ชัดเจนแต่ก็เปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น (authoritative) โดยใช้วิธีการดังต่อไปนี้
1. รับฟัง ใช้เวลากับลูกเพื่อพูดคุยในเรื่องที่ลูกอยากเล่า เปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น เสนอความคิดมุมมอง หรือแชร์เรื่องที่ลูกรู้สึกเป็นกังวลให้คุณฟัง
2. วางกฎกติกา กำหนดข้อตกลงภายในบ้านขึ้นมาให้ชัดเจนและสื่อสารความคาดหวังของคุณให้ลูกได้รับรู้ รวมถึงทำความเข้าใจกับลูกว่ากฎกติกามีอะไรบ้าง และทำไมถึงต้องมีมันขึ้นมา
3. ให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แม้ผู้เลี้ยงดูจะเป็นคนที่ตั้งกฎกติกาขึ้นมา แต่ก็ยังคงคำนึงถึงความรู้สึกของลูกด้วยการให้ลูกได้มีโอกาสพิจารณาข้อตกลงต่าง ๆ ร่วมกันกับคุณ
4. เสมอต้นเสมอปลายไม่เปลี่ยนแปลงไปมา ทำตามข้อตกลงที่วางไว้ร่วมกันอย่างเสมอต้นเสมอปลาย แต่ข้อตกลงจะต้องมีความยุติธรรม มีความพอดี และช่วยให้ลูกได้เรียนรู้จากการทำตามข้อตกลงดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากงานวิจัยดังกล่าวยังคงมีข้อจำกัด ได้แก่
- ลักษณะของเด็กก็สามารถส่งผลต่อรูปแบบการเลี้ยงดูได้เช่นกัน นักวิจัยพบว่าพฤติกรรมของเด็กสามารถมีผลทำให้ได้รับการเลี้ยงดูที่แตกต่างกันออกไปได้ เช่น เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบให้เสรีภาพมากเกินไปนั้นอาจจะมาจากการที่เด็กมีพฤติกรรมเกเรก้าวร้าวจนผู้เลี้ยงดูยอมแพ้ต่อการพยายามควบคุมเด็กให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสม
- ผลลัพธ์อาจแตกต่างกันในเด็กแต่ละคน จึงไม่สามารถคาดหวังได้ว่าผลลัพธ์จะต้องออกมาเหมือนกับข้อมูลที่พบจากวิจัยเสมอไป
- ปัจจัยทางวัฒนธรรมก็มีผลด้วยเช่นกัน จึงไม่สามารถบอกได้ว่ารูปแบบการเลี้ยงดูแบบไหนที่ดีที่สุดของทุกที่บนโลกใบนี้ เช่น เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบเข้มงวดและไม่เปิดโอกาสให้ลูกแสดงความคิดเห็นมักจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ แต่ขณะเดียวกันก็ปรากฏการณ์นี้ก็ไม่พบอย่างเด่นชัดในประชากรกลุ่มฮิสแปนิก (Hispanic หมายถึง ผู้ที่มีถิ่นฐานมาจากประเทศ Mexico , Puerto Rico, Cuba, South America, Central America และ Caribbean และอื่น ๆ ที่ใช้ภาษา/วัฒนธรรมสเปน)
ทั้งนี้ แม้ว่างานวิจัยจากบทความที่ผู้เขียนได้หยิบยกมาอาจจะมีข้อจำกัด แต่ผู้เขียนเองก็เห็นด้วยกับ Dorothy Nolte ดังที่ผู้เขียนได้เกริ่นนำไปช่วงต้นว่าเด็กได้รับการเลี้ยงดูเช่นใดก็มักจะเติบโตไปเป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงเด็กอาจมีความยุ่งยากซับซ้อน หากผู้ปกครองรู้สึกกังวลใจก็สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการของเด็กเพื่อลดความกังวลใจลงได้ค่ะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง:
[1] Children Learn What They Live. Retrieved from https://childrenlearnwhattheylive.com/
[2] Why Parenting Styles Matter When Raising Children. Retrieved from https://www.verywellmind.com/parenting-styles-2795072
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
Comments