top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

คิดว่ามีคนนินทาหรือตัวเองถูกพาดพิงถึง แค่ไหนจึงควรไปพบจิตแพทย์?


แน่นอนว่าทุกคนล้วนต้องเคยถูกนินทาหรือถูกเอาไปพาดพิงถึงอย่างน้อยก็สักครั้งหนึ่งในชีวิต โดยการนินทาเป็นพฤติกรรมที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่ามีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่มีความเชื่ออย่างปักใจว่าตัวเองถูกนินทาหรือถูกพาดพิงถึงทั้งที่ในความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น ซึ่งหากมีความเชื่อเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ และมักพบว่าไม่ตรงกับเป็นความเป็นจริง บุคคลกลุ่มนี้อาจเข้าข่ายของการมี “ความคิดแบบมุ่งตนเอง (ideas of reference)” หรือมีแนวโน้มของอาการ “หลงผิดว่าพฤติกรรมการกระทำของผู้อื่นมุ่งหมายเพื่อสื่อถึงตน (Delusion of reference)” ยกตัวอย่างเช่น

- ขณะที่เคนเดินอยู่ในศูนย์อาหารเขาได้ยินเสียงวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งกำลังหัวเราะคิกคักกัน เขาเชื่อว่าวัยรุ่นกลุ่มนั้นกำลังหัวเราะเขาอยู่

- เจนนิเฟอร์คิดว่าเวลาที่เธอไปซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ต ทุกคนจะคอยจ้องมองและจับผิดเกี่ยวกับเธอ เธอจึงเปลี่ยนเวลาไปซื้อของให้เป็นช่วงที่มีคนน้อย เช่น ตอนดึกหรือตอนเช้าตรู่

- ซาเนียคิดว่ารายการช่องที่เธอชอบดูกำลังออกอากาศเผยแพร่ความลับในจิตใต้สำนึกของเธอ เธอจึงบันทึกรายการนั้นเอาไว้แล้วเปิดดูซ้ำ ๆ ว่าความลับของเธอถูกเปิดเผยไปยังไงบ้าง

- ทานิญาเห็นคู่รักคู่หนึ่งกำลังทะเลาะกันอยู่ ระหว่างที่เธอเดินผ่านเธอคิดว่าตัวเองถูกจ้องมองอย่างหนักและคิดว่าทั้งสองคนนั้นต้องโกรธเธอแน่ ๆ ที่เธอมาได้ยินเรื่องที่พวกเขาทะเลาะกัน


อะไรบ้างที่เป็นสาเหตุของ ideas of reference หรือ Delusion of reference?

- โรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder) ผู้ป่วยไบโพลาร์บางส่วนมีอาการหลงผิดร่วมด้วยโดยเฉพาะ Delusion of reference จึงทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

- ความผิดปกติทางสมอง ผู้ที่มีความผิดปกติของสมองส่วนหน้า (frontal lobe) และส่วนขวา (right hemisphere) มักมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการหลงผิดที่มาจากการที่สมองที่ทำงานเกี่ยวกับการคิดมีความบกพร่อง

- โรคบุคลิกภาพผิดปกติชนิดแยกตัว (Schizotypal personality disorder: STPD) ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีความคิดแบบบิดเบี้ยวรวมถึงมีปัญหาเกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์แบบแนบชิดกับคนอื่น จึงทำให้มีอาการของ Delusion of reference ขึ้นมาได้

-  โรคจิตเภท (Schizophrenia) อาการหลงผิดรวมถึงอาการหวาดระแวงเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคจิตเภท โดยผู้ป่วยบางรายอาจมีความคิดว่าคนอื่นกำลังมีแผนการต่อต้านหรือคิดปองร้ายต่อเขา

- อาการของโรคจิต (Psychosis) ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคจิต (ที่ไม่ได้เกิดจากการใช้สารเสพติดมาเป็นเวลานาน) อาจมีความผิดปกติของสารเคมีในสมองหรือมีพันธุกรรมที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดอาการของโรคจิต ซึ่งหนึ่งในอาการของโรคจิตก็คืออาการหลงผิด

- ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ภาวะสับสนและการสูญเสียความทรงจำมีผลทำให้เกิด ideas of reference หรือ Delusion of reference ขึ้นได้

- ความเครียด (Stress) ความเครียดที่สะสมเป็นเวลานานสามารถส่งผลกระทบทำให้สมองทำงานเปลี่ยนแปลงไปและทำให้บุคคลอยู่ในสภาวะเปราะบางมากขึ้น รวมถึงสามารถเกิดความคิดแบบหลงผิดขึ้นมาได้ 


อาการระดับไหนที่ควรไปพบจิตแพทย์?

1. มีความเชื่อมั่นมากว่าสิ่งที่ตนเองหลงผิดมันเป็นเรื่องจริง (Certainty)

2. ไม่สามารถแก้ไขความคิดให้กลับมาตรงกับความจริงได้ แม้จะมีหลักฐานมาพิสูจน์ในทางที่ตรงข้ามกันกับความคิดหลงผิดก็ตาม (Incorrigibility) 

3. ความคิดหลงผิดที่เกิดขึ้นนั้นมันดูแปลกประหลาดหรือเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดขึ้นในโลกของความจริง (Impossibility) 


อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาเพื่อให้ผู้อ่านนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ทำการตัดสินหรือล้อเลียนผู้ที่เข้าข่ายว่ามีอาการหลงผิด แต่เจตนาของผู้เขียนก็คือเพื่อให้ผู้อ่านสามารถช่วยเหลือผู้ที่มีอาการด้วยการสนับสนุนหรือโน้มน้าวให้เขาได้รับการวินิจฉัยและรักษาจากจิตแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้ผู้ที่มีอาการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพได้ต่อไป 


ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ยังไม่แน่ชัดว่าตนเองเข้าข่ายมีอาการของ ideas of reference หรือ Delusion of reference แต่เริ่มตั้งคำถามต่อตนเองหลังจากที่ได้อ่านบทความนี้ว่าที่ผ่านมาตนเองถูกนินทาพาดพิงถึงจริง ๆ หรือแค่ระแวงไปเอง ก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะสำรวจทบทวนตนเองให้ลึกลงไปเพื่อใช้ในการต่อยอดพัฒนาตนเอง เช่น

- ที่เคยคิดว่าถูกนินทาหรือพาดพิงนั้นมีหลักฐานเชิงประจักษ์กี่ครั้ง และไม่มีหลักฐานเลยกี่ครั้ง?

- เคยมีครั้งไหนไหมที่เมื่อพิสูจน์ความคิดตนเองแล้วพบว่าสิ่งที่คิดนั้นไม่เป็นความจริง?

- ในช่วงเวลาที่ผ่านมาตนเองมีเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียดสะสมบ้างหรือไม่?

- ความคิดว่าคนอื่นนินทาหรือพาดพิงตนเองที่เกิดขึ้นมานั้นมันส่งผลกระทบต่อจิตใจหรือรบกวนการดำเนินชีวิตหรือไม่? หากคำตอบคือ “ใช่” ผู้เขียนก็ขอสนับสนุนให้คุณลองมองหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นและช่วยกันหาทางเพื่อให้คุณสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีสุขภาวะที่ดีได้อีกครั้งนะคะ

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

[1] APA Dictionary of Psychology. Retrieved from https://dictionary.apa.org/delusion-of-reference

[3] Ideas and Delusions of Reference in Bipolar Disorder. Retrieved from https://www.verywellmind.com/ideas-of-reference-380116

[4] Mental Status Examination. Retrieved from https://www.nur.psu.ac.th/conference_nur/file_doc/29_280622125007.pdf

 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


Comments

Couldn’t Load Comments
It looks like there was a technical problem. Try reconnecting or refreshing the page.
facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page