top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เมื่อคนรักจากไป เราจะก้าวข้ามความรู้สึกผิดเพื่อเริ่มต้นใหม่ได้อย่างไร?



เมื่อพูดถึงเอนิเมชั่นเรื่อง Up หรือชื่อไทยว่า ปู่ซ่าบ้าพลัง เชื่อแน่ว่าเรื่องนี้เป็นเอนิเมชั่นในดวงใจของใครหลาย ๆ คน รวมถึงผู้เขียนด้วย โดย Up พูดถึงมิสเตอร์เฟรดริกเซน ชายสูงวัยที่คนรักจากไป ที่พยายามเริ่มต้นใหม่ด้วยการออกผจญภัยตามความฝันในวัยเด็ก


ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ Disney+ ได้ออกเอนิเมชั่นขนาดสั้น ประมาณ 8 นาที เรื่อง Dug Day : Carl’s Date โดยได้เล่าเรื่องของมิสเตอร์เฟรดริกเซน ที่เมื่อกลับมาถึงบ้าน มีชีวิตใหม่ ในบ้านหลังใหม่กับเจ้าดั๊ก หมาช่างพูดของเขา และที่สำคัญที่สุด คือ เขาตัดสินใจที่จะเริ่มความสัมพันธ์กับหญิงคนใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกผิดต่อ “แอลลี่” คนรักผู้จากไป จนดั๊กเตือนสติว่า “คุณต้องใช้ชีวิตต่อไป” มิสเตอร์เฟรดริกเซนถึงได้ลองเริ่มต้นใหม่แบบกล้า ๆ กลัว ๆ


ซึ่งประเด็นเรื่องความรู้สึกผิดที่จะเริ่มต้นใหม่เมื่อคนรักจากไปนั้น ถือเป็นปมที่ภาพยนตร์และซีรีส์หลายเรื่องนำมาใช้ในการเดินเรื่อง เช่น บ้านเช่าบูชายัญ แฮปปี้เบิร์ธเดย์ Memento เป็นต้น และยังเป็นเรื่องยากในชีวิตจริงของใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่สูญเสียคู่ชีวิตที่อยู่ด้วยกันมาอย่างยาวนาน หรือพ่อ แม่ ที่สูญเสียลูก จนนำไปสู่ภาวะภาวะซึมเศร้าจากการสูญเสีย ซึ่งศัพท์ทางจิตวิทยาเรียกว่า “ความเศร้าโศกเสียใจที่เกิดจากการสูญเสียและการตาย (Grief and Bereavement)”


โดยอาการสำคัญ คือ รู้สึกผิดต่อคนรักผู้จากไป เกิดความคิดว่าควรเป็นตนที่ตายแทน คิดว่าตนไม่มีคุณค่าที่จะมีชีวิตต่อ มีการเคลื่อนไหวและความคิดช้าอย่างเห็นได้ชัด (marked psychomotor retardation) เสียความสามารถทางสังคม และหากยังคงมีความเศร้าต่อเนื่องยาวนานอาจทำให้มีอาการประสาทหลอน ยังเห็นคนรักอยู่ใกล้ ๆ

โดยตำราจิตวิทยา กล่าวว่า เมื่อคนรักจากไป เราเกิดภาวะ 5 ขั้น ดังนี้


ขั้นที่ 1 ภาวะต่อต้านความจริง (Shock and Denial)

เมื่อเราสูญเสียคนรักใหม่ ๆ ทุกคนย่อมทำใจไม่ได้ และปฏิเสธเรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่อยากเชื่อว่ามันเกิดขึ้นจริง ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เกิดความรู้สึกสับสน ในภาวะนี้นี่เองที่เราจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก เช่น เซื่องซึม ก้าวร้าว เหม่อลอย อยู่ไม่สุข


ขั้นที่ 2 ระเบิดความโกรธ (Anger)

หลังจากผ่านสภาวะช็อก หรือต่อต้านความจริงมาแล้ว อารมณ์แรกสุดที่คนเราแสดงออกมาจากเมื่อเราสูญเสียคนที่เรารัก คือ โกรธ โดยคนที่เรามักจะไประเบิดความโกรธใส่มากที่สุด ก็คือ ตัวเราเองค่ะ ในภาวะเช่นนี้ คนเรามักโทษตัวเองว่า “ถ้าวันนั้นฉันไม่ทำแบบนั้น คนรักของฉันก็ยังคงมีชีวิตอยู่” หรือโทษว่าสาเหตุที่คนรักจากไปก็เพราะตัวเอง


ขั้นที่ 3 การต่อรอง (Bargaining)

เป็นขั้นที่จิตใจเราเริ่มยอมรับความจริงได้บ้างแล้วว่า มีความสูญเสียเกิดขึ้น แต่ก็ยังซื้อเวลาที่จะได้อยู่กับคนรัก เพื่อให้ความรู้สึกผิดในใจเบาบางลง เช่น ตั้งร่างของคนรักก่อนฌาปนกิจเป็นเวลานาน การแช่แข็งร่างด้วยความหวังว่าในอนาคตจะมีทางคืนชีพ เป็นต้น


ขั้นที่ 4 ภาวะเศร้าจากความเสียใจ (Depression)

เมื่อเรายื้อความรู้สึกสูญเสียมาจนสุดมือ และเห็นความจริงว่าไม่มีทางคืนชีพให้คนที่รักได้ ความเศร้า ความเสียใจจะถาโถมเข้ามาใส่ จนหลายคนเกินรับ แม้หลายคนจะแสดงออกภายนอกว่าไม่เป็นอะไร แต่ในใจก็ถูกกัดกร่อน และผุพังจากความเสียใจ


ขั้นที่ 5 ยอมรับความจริง (Acceptance)

กว่าที่เราจะเดินทางมาถึงขั้นนี้ จิตใจเราก็บอบช้ำ และร่างกายก็เหน็ดเหนื่อยกับการร้องไห้และเสียใจ จนเมื่อระยะเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง เราก็จะเริ่มทำใจยอมรับความจริง และปรับตัว เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตใหม่ให้ปกติสุขที่สุด


ความโศกเศร้าจากความสูญเสียเป็นความรู้สึกหนักหน้าที่ยากจะก้าวข้าม ยิ่งถ้าเราต้องการที่จะเริ่มต้นใหม่ เรายิ่งเกิดความรู้สึกผิดต่อคนรักที่จากไป ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ได้ให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับการก้าวข้ามความรู้สึกผิดเพื่อเริ่มต้นใหม่เมื่อคนรักจากไป ไว้ 5 ข้อ ดังนี้ค่ะ


1. อย่าพยายามอยู่ตามลำพัง

สิ่งที่อันตรายที่สุดเมื่อเราโศกเศร้า หรือมีความรู้สึกทางลบ คือ “ความคิดของเรา” เพราะเมื่อเราสูญเสียคนที่สำคัญกับชีวิตของเรามาก จะมีแนวโน้มสูงที่เราจะโทษตัวเอง รู้สึกโกรธตัวเอง จนมีความคิดทางลบต่อตัวเอง และอาจทำร้ายตนเองได้ ดังนั้นในสภาวะเช่นนี้ การอยู่กับคนที่เป็น Safe Zone หรือคนที่ไว้ใจได้ จะปลอดภัยกับเรามากกว่าค่ะ


2. พยายามระบายความทุกข์ใจให้คนที่ไว้ใจรับรู้

เมื่อเรามีความทุกข์แล้วเราเก็บมันไว้กับตัว ความทุกข์จะยิ่งเพิ่มพูนจนมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ถ้าเราระบายมันออกมันจะถูกเจือจางด้วยความเข้าใจจากคนรอบข้าง จนเมื่อถึงระดับหนึ่งที่ความทุกข์ใจบรรเทาเบาบางลงไปมากแล้ว เราจะมีความเข้มแข็ง และสามารถเริ่มต้นใหม่ได้โดยมีความรู้สึกผิดน้อยลงค่ะ


3. อย่าคิดว่า “ไม่มีอะไรจะเสีย”

เมื่อเราสูญเสียคนที่เรารัก เราย่อมรู้สึกเว้าแหว่ง รู้สึกเหมือนชีวิตไม่สมบูรณ์ เพราะขาดส่วนสำคัญในชีวิต แต่ได้โปรดอย่าคิดว่าชีวิตไม่เหลืออะไร หรือไม่มีอะไรจะเสีย เพราะคุณยังมีชีวิตอยู่ เมื่อยังมีชีวิตโปรดจงใช้ชีวิต และเมื่อคุณใช้ชีวิตอย่างมีสติ ชีวิตจะพาคุณไปพบสิ่งสวยงามได้อีกมากมาย


4. อนุญาตให้ตัวเองคิดถึงคนรักที่จากไปได้

หลาย ๆ คน เมื่อผ่านพ้นช่วงเสียใจที่สุดในชีวิตมาแล้ว มักจะไม่อยากย้อนไปคิดถึงคนรักที่จากไปเพราะกลัวว่าจะทำใจไม่ได้อีก แต่ถ้าคุณยังรักเขา การคิดถึงเขาไม่ใช่เรื่องผิดอะไรค่ะ เพราะคนที่ทำคุณประโยชน์ให้คนอื่นมากมายก็มีคนรักที่จากไปเป็นไอดอล หรือเป็นแรงบันดาลใจที่จะทำให้เราช่วยเหลือคนอื่น ๆ ต่อไป


5. ใช้ชีวิตให้คุ้มค่าและมีความสุข

อย่าใช้ชีวิตโดยคิดว่า ใช้เผื่อคนรักที่จากไป แต่ขอให้ใช้ชีวิตเพื่อตัวคุณเอง เพราะชีวิตของใครก็ของคนนั้น เราใช้แทนกันไม่ได้ ชีวิตคุณเป็นของคุณ แม้ว่ามันจะไม่เหมือนเดิมเพราะสิ่งสำคัญในชีวิตหายไปก็ตาม แต่ขอให้ใช้ชีวิตให้มีความสุข และคุ้มค่า เพราะชีวิตไม่มีวันหมดอายุแจ้งเตือน จงใช้ก่อนหมดอายุนะคะ


iSTRONG เข้าใจ และเป็นกำลังใจให้ทุกท่านในทุกสถานการณ์เสมอนะคะ หากคุณคิดว่าไม่มีใครอยู่เคียงข้าง หรือไม่รู้จะระบายความทุกข์ในใจกับใคร ติดต่อมาหาเราได้เสมอนะคะ เรามีผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาที่พร้อมรับฟังทุกคนค่ะ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :


อ้างอิง : 1. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. (มปป.). ความเศร้าโศกเสียใจที่เกิดจากการสูญเสียและการตาย (Grief and Bereavement). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2566 จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generaldoctor/06052015-1333

2. ชนะศักดิ์ จิตมั่นคงธรรม. (มปป.). Stages of Grief 5 ระยะ ก้าวผ่านความสูญเสีย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2566 จาก https://www.manarom.com/blog/5_stages_of_grief.html

 

จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


Comentários


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page