top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

จะรู้ได้ยังไงว่าตัวเองกำลัง “มองโลกในแง่ดี” หรือกำลัง “โลกสวย”?



หนึ่งในคำถามที่คนมักจะถามกันบ่อย ๆ ก็คือ “แบบนี้มันเป็นการมองโลกในแง่ดีหรือว่าโลกสวยกันแน่?” ซึ่งคนส่วนมากมักจะไปโฟกัสกันที่รูปแบบของประโยคมากกว่าที่จะโฟกัสที่ความรู้สึกระหว่างพูดประโยคนั้น ทำให้เกิดความสับสนระหว่างสองคำนี้ โดยเฉพาะหากคนที่มีข้อสงสัยใช้ความรู้สึกของตนเองเป็นหลักในการวัดว่าแบบไหนมองโลกในแง่ดีและแบบไหนโลกสวย ก็จะมีโอกาสสูงมากในการแยกแยะคลาดเคลื่อนไปจากความจริง


ก่อนที่จะชวนคุณวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างการมองโลกในแง่ดีกับการโลกสวยหลอกตัวเอง อยากชวนให้ทำความรู้จักกับการมองโลกในแง่ดีก่อน ดังนี้

  • การมองโลกในแง่ดี (Optimism) คือ การที่บุคคลสามารถมองเห็นลักษณะหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ในแง่ดี

  • Martin Seligman คือผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของจิตวิทยาเชิงบวก และได้กล่าวถึงการมองโลกในแง่ดีว่าเป็น “กระบวนการทางปัญญา” เกี่ยวกับความคาดหวังที่เป็นไปในทางบวก และมองว่าเหตุการณ์ที่เลวร้ายต่าง ๆ นั้นเป็นเพียงสิ่งชั่วคราวและมันไม่ได้เกิดขึ้นเสมอไป

  • การมองโลกในแง่ดี เป็นองค์ประกอบหนึ่งของต้นทุนจิตวิทยาเชิงบวก ซึ่งประกอบไปด้วย ความหวัง (Hope) การเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง (Efficacy) ความอึดฮึดสู้ (Resilience) และการมองโลกในแง่ดี (Optimism) โดยเรียกย่อ ๆ ว่า H-E-R-O

  • การมองโลกในแง่ดีจะช่วยลดการจดจ่ออยู่กับความคิดในแง่ลบของตนเอง


ส่วนคำว่า “โลกสวย” นั้นมีความแตกต่างไปจากการมองโลกในแง่ดี โดยผู้เขียนขอตีความคำว่าโลกสวยในที่นี้ว่ามันน่าจะตรงกับคำว่า “การมองบวกแบบเป็นพิษ (Toxic Positivity)” มากที่สุด ซึ่งมันมีลักษณะดังนี้

  • ปฏิเสธอารมณ์ทางลบ ไม่ยอมรับว่าตัวเองกำลังมีอารมณ์ทางลบเกิดขึ้น

  • ไม่เคารพประสบการณ์ทางอารมณ์ของคนอื่น ไม่เชื่อว่าสิ่งที่คนอื่นรู้สึกแตกต่างจากตนจะเป็นความจริง

  • ไม่สามารถรับรู้ถึงอารมณ์ที่แท้จริงตามธรรมชาติของตนเองได้

  • รู้สึกผิดเวลามีความรู้สึกที่เป็นทางลบ

  • ตำหนิคนอื่นที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกทางลบออกมา (Emotional Shaming)


ดังที่กล่าวไปแล้วว่าเราไม่สามารถใช้รูปแบบของประโยคเป็นตัวจำแนกได้ว่าประโยคแบบไหนมาจากการมองโลกในแง่ดีและประโยคไหนสะท้อนความเป็นคนโลกสวยหลอกตัวเอง เพราะรูปแบบของประโยคมีความเกี่ยวข้องกับภาษาและภาษานั้นตีความได้หลายแบบขึ้นอยู่กับว่าใครตีความรวมไปถึงบริบทของคนที่พูด ยกตัวอย่างเช่น

“ดีแล้วแหละที่เลิกกับผู้ชายคนนี้ไปได้ ต่อจากนี้จะได้เริ่มต้นใช้ชีวิตในแบบที่ควรจะเป็นสักที”


หากผู้พูดมีความรู้สึกไปในทางโล่งใจ และบริบทของผู้พูดคือแฟนเก่าเป็นคนที่มีพฤติกรรมรบกวนจริง ๆ เช่น เจ้าชู้ ติดการพนัน ก้าวร้าว ขี้หึงแบบไม่มีเหตุผล หรือรับรู้ได้ตั้งแต่ก่อนเลิกกันแล้วว่าความสัมพันธ์เป็นแบบ Toxic Relationship ประโยคนี้ก็จะเป็นการมองโลกในแง่ดี

แต่หากผู้พูดมีความรู้สึกเจ็บปวดหรือหดหู่ และบริบทของผู้พูดคือแฟนเก่านั้นเป็นคนที่ไม่ได้มีพฤติกรรมแย่อะไรเพียงแต่บุคลิกอาจจะแตกต่างกันมากจนทำให้ไปต่อไม่ได้ หากค้นลึกเข้าไปข้างในจิตใจของผู้พูดแล้วก็คือไม่อยากจะเลิกกับแฟนเก่าเลย ประโยคนี้ก็จะเป็นการมองแบบโลกสวยหลอกตัวเอง


ความแตกต่างอีกอย่างของสองคำนี้ก็คือ ผลกระทบและพฤติกรรมที่เกิดจากวิธีการคิดของตนเองที่มีต่อคนรอบข้าง คนที่มองโลกในแง่ดีมักไม่มีพฤติกรรมรบกวนคนอื่น แต่คนที่มองแบบโลกสวยหลอกตัวเองนั้นมักจะตรงข้าม เนื่องจากวิธีการมองโลกนั้นส่งผลต่ออารมณ์ คนที่มองโลกในแง่ดีมักมุ่งจัดการกับความเครียดแบบมุ่งจัดการปัญหา (Active Coping) ทำให้คนที่มองโลกในแง่ดีมักมีความเครียดน้อยกว่า ส่วนคนที่มองแบบโลกสวยหลอกตัวเองมักจัดการกับความเครียดแบบหลีกหนีปัญหา (Avoidance Coping) ทำให้เกิดความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัวเพราะไม่ได้ไปจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น


ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่ถูกเพื่อนร่วมงานนินทาในที่ทำงาน


คนที่มองโลกในแง่ดี จะมองว่าในคำนินทานั้นอาจจะมีความจริงปนอยู่ก็ได้ จึงกลับไปสำรวจทบทวนตนเอง หากพบว่าตนเองมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงพัฒนาจริง ๆ ก็แก้ไขปรับปรุงให้เป็นคนที่ดีขึ้น แต่หากพบว่าตนเองไม่ได้เป็นแบบที่ถูกนินทาก็ใช้ชีวิตปกติเหมือนเดิมต่อไป และอาจจะแอบรู้สึกขอบคุณในใจที่มีคนมากระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตนเอง

คนที่มองแบบโลกสวยหลอกตัวเอง จะเชื่อโดยทันทีว่า คนที่นินทาก็มีแต่พวกขี้แพ้ขี้อิจฉาทั้งนั้นแหละ ไม่เห็นจะต้องไปสนใจคนพวกนั้นเลย

ซึ่งหากพิจารณาให้ละเอียดมากขึ้น การมองแบบโลกสวยหลอกตัวเองนั้นมักจะมีรูปแบบประโยคทั้งที่พูดกับตัวเอง (Self-talk) และพูดกับคนอื่นเป็นไปในทางบวกคล้ายกับการมองโลกในแง่ดี แต่ความรู้สึกและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกลับมีเส้นบาง ๆ ที่มันคล้ายกับการมองโลกในแง่ร้าย


อยากเป็นคนมองโลกในแง่ดีไม่โลกสวยต้องทำยังไง?

  • ฝึก Mindfulness เช่น อยู่กับความจริงและอยู่กับปัจจุบัน ฝึกสมาธิภาวนา ฝึกหายใจ

  • ฝึก Gratitude เช่น เขียนสิ่งที่อยากขอบคุณอย่างน้อยวันละ 1 สิ่งต่อเนื่องกันทุกวัน

  • ฝึกโฟกัสกับอารมณ์ทางบวกด้วยการเขียนบันทึกอารมณ์ทางบวกของตนเองในแต่ละวัน


การมองโลกในแง่ดีนั้นส่งผลดีต่อสุขภาพจิตหลายประการ แต่ทั้งนี้ การที่คุณไม่ได้เป็นคนที่มองโลกในแง่ดีก็ไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นคนที่แย่หรือมองโลกผิด เพราะวิธีการมองโลกสัมพันธ์กับประสบการณ์ชีวิตส่วนบุคคล แต่หากคุณพบว่าการมองโลกของคุณนั้นมันส่งผลทำให้คุณเสียสุขภาพจิต ก็สามารถปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อปรับเปลี่ยนมุมมองให้คุณเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดีขึ้นได้ค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง:

[3] มองโลกในแง่ดี = ชีวิตดี = มีต้นทุนทางจิตวิทยา (ตอนที่ 3). Retrieved from https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/psy-cap-optimism


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page