top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

ปมดราม่าและปรากฏการณ์ราโชมอน


ปมดราม่า

“ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว?” บ่อยครั้งในชีวิตจริงของเรานั้นได้ประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ล้วนเป็นความจริงที่แตกต่างกันไปตามแต่มุมมองของผู้ร่วมเหตุการณ์ เช่น ประเด็นคดีดราม่าต่างๆ ที่เกิดขึ้นสังคมไทย ที่มีบุคคลหนึ่งออกมาอธิบายเรื่องหนึ่งตามสิ่งที่ตัวเองเห็น ตัวเองได้ยิน แต่ก็จะมีอีกบุคคลหนึ่งที่มาบอกเล่าในสิ่งที่ตัวเองประสบ และอีกหลายๆ คนก็ได้แสดงทรรศนะตามแต่ที่ตัวเองได้เผชิญมา ซึ่งเรื่องราวที่ทุกคนนั้นสื่อออกมานั้นบางจุดก็มีความคล้ายคลึงกัน แต่บางจุดก็อาจแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ในเชิงจิตวิทยา หรือในเชิงกฎหมายก็มีความพยายามศึกษาและให้ชื่อเรียกขานว่า ‘ปรากฏการณ์ราโชมอน’ หรือ ‘Rashomon Effect’ โดยได้รับอิทธิพลและเป็นการให้เกียรติต่อภาพยนตร์คลาสสิกของญี่ปุ่น เรื่อง ‘Rashomon’ ของผู้กำกับ ‘Akira Kurosawa’ ในปี ค.ศ. 1950 ที่นำเสนอเกี่ยวกับซามูไรและหญิงสาวผู้เป็นภรรยาที่ถูกฆาตกรรม/ฆ่าตัวตายปริศนาในป่าลึกโดยโจรป่า ซึ่งในที่สุดโจรป่าก็ถูกจับ และมีการสอบสวนขึ้น โดยพยานในเหตุการณ์ทุกคนได้ให้การที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่เรื่องราวที่พยานทุกคนเล่าออกมากลับดูน่าเชื่อถือและจูงใจผู้ฟังได้ดีทุกเรื่อง สุดท้ายหนังก็ได้ทิ้งปมปลายเปิดให้ผู้ชมได้คิดต่อว่าความจริงในเรื่องนี้คืออะไร? ‘ปรากฏการณ์ราโชมอน’ ในเชิงจิตวิทยา เห็นว่า เกิดจากความแตกต่างของขีดความสามารถในการรับรู้ (perception) ความทรงจำ (memory) การตีความ (interpretation) และรายงานบอกเล่า (report) ของบุคคล นั้นคือ เมื่อบุคคลได้รับรู้เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว บางคนอาจมีการเอาเหตุการณ์นั้นไปเทียบกับเหตุการณ์ในอดีตที่ตนเองเคยประสบและด่วนสรุปไปโดยไม่รู้ตัว จึงทำให้ขาดความครอบคลุมในเหตุการณ์ทั้งหมดไป บางคนอาจหลงลืม หรือจำได้ในเนื้อหาเฉพาะบางส่วนของเหตุการณ์เท่านั้น บางคนอาจตีความเอาจากบริบทแวดล้อมตามความรู้สึก หรือบริบทรอบข้างเพิ่มเติมจากสิ่งที่มันเกิดขึ้นดำเนินไปจริง และบางคนอาจมีความสามารถในการบอกเล่ารายละเอียดได้มาก หรือบางคนอาจไม่สามารถบอกเล่าอะไรได้อย่างชัดเจนออกมาได้เลย ดังนั้นความแตกต่างใน “ความจริง” ของแต่ละคนจึงเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ เพียงแต่เราได้ตระหนักมันหรือไม่....

มุมมองที่ต่างกัน

หากพูดถึงปัญหาที่เกิดจาก ‘ปรากฏการณ์ราโชมอน’ นี้ก็มีอยู่อย่างมากหลาย ทั้งการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นอย่างรุนแรง เช่น บ่อยครั้งที่การทำงานในองค์การต่างๆ ที่พนักงาน หรือผู้บริหารมักมีเรื่องบาดหมางใจ หรือไม่พอใจจากเรื่องเล็กๆ ที่มองกันคนละแบบ แต่เรื่องราวปัญหาเหล่านั้นกลับขยายวงใหญ่ และรุนแรงขึ้นจากการที่มีบุคคลอื่นซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงเริ่มแสดงความคิดเห็นในมุมมองและประสบการณ์ตนเอง ที่บังเอิญกลายเป็นการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไป ทำให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก ขาดความสามัคคี จนส่งผลกระทบต่อการทำงานโดยรวมขององค์กรไป หรือแม้แต่ประเด็นดราม่าที่พบเห็นกันในโลกออนไลน์ต่างๆ ที่มักมีผู้ที่นำเสนอความคิดเห็นจากมุมมองความเป็นจริงของตนเองจนเกิดการโต้เถียงอย่างเอาเป็นเอาตาย นอกจากนี้ยังอาจเป็นปัญหาในเชิงของจริยธรรม คุณธรรม ความยุติธรรมในสังคม เช่น ในการตัดสินคดีต่างๆ จำเป็นที่ต้องใช้หลักฐาน พยานที่มีความน่าเชื่อถือในการตีความ แต่ถ้าหากหลักฐาน และพยานนั้นขาดคุณภาพ หรือคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงแล้วก็อาจทำให้ผู้บริสุทธิ์เดือดร้อน หรือผู้ที่กระทำผิดลอยนวลต่อไปได้ จากในข้างต้นที่ได้กล่าวมาคล้ายว่า ‘ปรากฏการณ์ราโชมอน’ จะสร้างปัญหามากกว่าประโยชน์ แต่อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์นี้หากบุคคลตระหนักและนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมก็เกิดประโยชน์ไม่ใช่น้อย ทั้งการช่วยลดการที่บุคคลในกลุ่ม หรือทีมงานมีความคิดเห็นพ้องลู่ไปในทิศทางเดียวกันหมดโดยที่ไม่มีผู้เห็นต่าง หรือผู้เห็นต่างก็ไม่ยอมแสดงความคิดเห็นออกมา อาจเรียกได้ว่าเป็นการ ‘เออ.ออ.ห่อ.หมก’ (Group think) ในการทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงเพราะทั้งกลุ่มนั้นอาจหลงทาง หรือขาดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่ควรจะเกิดขึ้นจากการเห็นต่างได้ หลายท่านอาจเคยประสบกับความน่าเบื่อและรำคาญจากการถามเพื่อนว่า “กลางวันนี้ กินอะไรดี?” แต่ได้รับคำตอบกลับมาสั้นๆ ว่า “อะไรก็ได้” .......พอหันไปถามเพื่อนอีกคนก็ได้คำตอบว่า “นายสองคนกินอะไร เราก็กินแบบนั้นแหละ” (= ____ =) แต่หากมีใครสักคนที่พร้อมนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มโดยที่มีการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดแล้วในที่สุดสมาชิกของกลุ่มก็จะได้รับความสุขถ้วนหน้า นอกจากนี้‘ปรากฏการณ์ราโชมอน’ ยังมีส่วนช่วยในการลดอคติที่เกิดขึ้นโดยบุคคลไม่รู้ตัว จากการที่บุคคลสามารถฝึกฝนตนเองให้เปิดใจกว้างรับฟัง และทำความเข้าใจผู้อื่นตามมุมมองของเขาบ้าง หรือการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น จากการได้รับข้อมูลรอบด้านที่มีคุณภาพจะช่วยให้เราได้ตัดสินใจในสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

ความขัดแย้ง

สุดท้ายนี้เราจะฝึกฝนตัวเองอย่างไรให้สามารถรับมือกับ ‘ปรากฏการณ์ราโชมอน’ ได้อย่างเหมาะสม? แม้ไม่มีสูตรสำเร็จที่ชัดเจน แต่อาจเริ่มต้นจากการ ฝึกการรับรู้ของตนเองให้มีความเฉียบคม เมื่อประสบกับเหตุการณ์ โดยพยายามแยกแยะรายละเอียดของเหตุการณ์ต่างๆ ว่าส่วนใดเป็นเนื้อที่ควรให้ความสำคัญ และควรจดจำให้ได้ตรงกับความเป็นจริงในขณะนั้น และส่วนใดที่เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ที่เป็นสิ่งเล็กน้อยมากจนแม้ตัดทอนไปก็ไม่กระทบต่อสาระสำคัญของเหตุการณ์นั้นโดยรวม เนื่องจากความสามารถในการตีความและการเก็บจำเหตุการณ์เฉพาะหน้าของบุคคลมีอยู่อย่างจำกัดซึ่งหากให้รับรู้และเก็บจำทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมด สิ่งเหล่านั้นจะรบกวนกันเองจนทำให้เราหลงลืม และจำเป็นต้องนำเอาการตีความ หรือการคิดขึ้นมาเอาเองจากความน่าจะเป็นเพิ่มเติมเข้ามาเสริมเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ แต่การตีความและการคิดขึ้นมาเอาเองนั้นเกิดความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงได้ เมื่อจำเป็นต้องตีความเหตุการณ์ต่างๆ ที่ตนเองประสบมาแล้ว มีสิ่งที่ต้องระมัดระวังและเตือนตนเองอยู่เสมอ คือ การมีอคติ ความลำเอียง คล้อยตาม เข้าข้างผู้อื่น และความอยากที่จะคิดเอาเองให้สมบูรณ์ สิ่งใดที่เรายังขาดในการอธิบาย ตีความเหตุการณ์นั้นบางครั้งก็ต้องยอมรับ และปล่อยให้ข้อมูลหรือพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ทำหน้าที่ของมันบ้างเพื่อเติมเต็มความจริงที่แท้จริงได้เติมเต็มตัวมันเอง สุดท้ายคือความสามารถในการสื่อสาร ซึ่งบุคคลควรจะต้องระมัดระวังในสิ่งที่ตนเองพยายามในการสื่อสาร ให้เป็นไปตามที่ตนเองได้ประมวลแล้วว่าตรงกับความเป็นจริงของเหตุการณ์มากที่สุด อย่าปล่อยให้คำพูด หรืออารมณ์พาไปจนกู่ไม่กลับ และหากว่าตนเองกลัวว่าจะหลงลืมรายละเอียดใดไปอาจหาตัวช่วย เช่น การบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร หรือเสียงเพื่อประกอบการกระตุ้นความจำของตนเองก็ได้ สรุป คือ 1) รับรู้ให้ถูก 2) แยกแยะให้เป็น 3) จำให้แม่น 4) ตีความให้ตรง 5) สื่อสารให้ดี ซึ่งเหมือนจะง่าย .... แต่ยากมากทีเดียว ดังนั้นหากบุคคลฝึกฝนสิ่งเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ จนกลายเป็นความสามารถติดตัวที่สามารถหยิบออกมาใช้ได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้น ก็จะสามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างมาก ที่สำคัญจะทำให้เรามองความจริง และไขปริศนาประเด็นดราม่าต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวได้อย่างทะลุปรุโปร่ง และความจริงที่มีเพียงหนึ่งเดียวก็จะกลายเป็น “ความจริงที่มีเพียงหนึ่งเดียว” จริงๆ ในที่สุด

 

ชาญ รัตนะพิสิฐ “ลุงพุงป่อง” 8 สิงหาคม 2560 เวลา 23.36 น.

 

References:

Heider, K. G. (1988). The Rashomon Effect: When ethnographers disagree. American Anthropologist, 90, 73–81. Roth, W. D., & Mehta, J. D. (2000). The Rashomon Effect: Combining positivist and interpretivist approaches in the analysis of contested events. Sociological Methods Research, 31, 131-173. Anderson, R. (2016). The Rashomon Effect and Communication. Canadian Journal of Communication, 41, 250–265. Hirst, W., & Echterhoff, G. (2008). Creating shared memories in conversation: Toward a psychology of collective memory. Social Research, 75, 183-216.

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page