top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

3 เรื่องอันตราย ที่ไม่ควรปล่อยให้คนแก่ติดโทรศัพท์มือถือ

ในยุคที่ใคร ๆ ต่างก็มีโทรศัพท์มือถือ และสัญญาณอินเตอร์เน็ตเป็นปัจจัยในการใช้ชีวิต จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าคนทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้สูงวัยหรือเรียกได้ว่าคนแก่ติดโทรศัพท์กันอย่างหนักหน่วง ซึ่งเราจะคุ้นเคยกันดีกับพฤติกรรมการส่งรูปภาพสวัสดีตามวันต่างๆ รวมถึงการส่งต่อความหวังดีโดยการแชร์สารพัดข่าวที่เห็นว่ามีประโยชน์ จากการแชร์ต่อๆ กันมา ซึ่งโดยส่วนมากผู้สูงวัยอาจยังไม่ได้เช็คมูลความจริงก่อนการแชร์ เราในฐานะลูกหลาน หากบอกกล่าวตักเตือนมากๆ เข้าก็จะไปกระตุ้นต่อมความน้อยใจของผู้สูงวัยเข้าไปอีก แต่รู้หรือไม่คะ ว่าการที่เราเฉยชากับพฤติกรรมที่เรียกว่าคนแก่ติดโทรศัทพ์ กลับยิ่งทำให้พวกท่านเสี่ยงต่อการเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่นับวันจะมาเหนือจนจับตัวยาก และยังเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า และโรคสายตาอีกต่างหาก

จากการศึกษางานวิจัยทางจิตวิทยาเกี่ยวกับคนแก่ติดโทรศัทพ์มือถือรวมถึงอินเตอร์เน็ต ก็ได้ความรู้ที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังค่ะ เริ่มจากประเด็นใหญ่ ๆ ที่คนทั่วทั้งโลก กำลังเข้าสู่ยุคผู้สูงวัยครองโลก หรือ Aging Society ทำให้คนในวัยทำงานต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในบ้าน ทำให้ไม่มีเวลามาใส่ใจดูแลผู้สูงวัยเท่าที่ควร หลายๆ บริษัทจึงเร่งพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถดูแลผู้สูงวัยแทนลูกหลานได้ หรือที่เรียกกันว่า Aging Technology ซึ่งก็รวมไปถึงพวกเทคโนโลยีการสื่อสารแบบโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตด้วยค่ะ และนั่นทำให้ผู้สูงวัยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารได้ง่าย และทำให้โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงวัยอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น Line หรือ Facebook ที่ตอนนี้กลายเป็น Application ยอดฮิตของพวกท่านไปซะแล้ว และจากข้อมูลของสำนักงานสถิติ เมื่อปี 2561 ก็ยังแสดงให้เห็นว่า ผู้สูงวัยชาวไทยมีการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ คิดเป็นร้อยละ 53.40 จากจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งถือว่าสูงมากทีเดียว



จากการที่ผู้สูงวัยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตได้ง่ายนี่เอง ที่ทำให้ผู้สูงวัยมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายต่อร่างกายและทรัพย์สินมากกว่าวัยอื่น ๆ ดังนี้



1.มีโอกาสถูกมิจฉาชีพหลอกลวงมากว่าช่วงวัยอื่น

ปัจจัยหนึ่งที่เอื้อให้ผู้สูงวัยถูกหลอกง่าย ก็เพราะไม่ทันต่อโลก ไม่ทันต่อเล่ห์คนร้ายที่มารยาและเล่ห์กลพัฒนามาไกลแล้ว และด้วยความที่เซลล์สมองเสื่อมไปตามวัยก็ยิ่งทำให้การคิด การวิเคราะห์ การตัดสินใจช้าลงไปอีก จึงทำให้ยากต่อการแยกแยะว่าอะไรจริง อะไรหลอก อีกทั้งเป็นวัยที่กลับไปขาดความอบอุ่นเหมือนช่วงวัยรุ่น ยิ่งทำให้จิตใจโอนอ่อนต่อคำพูดหวาน ๆ ต่อคนที่มาเอาใจ แม้จะไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า แต่ถ้าทักแชทมาถูกใจ ผู้สูงวัยก็พร้อมโอนไวเสมอ



2.ถูกทำร้ายจิตใจจากเกรียนคีย์บอร์ดได้สูงกว่าวัยอื่น

ด้วยมโนคติของคนยุคผู้สูงวัยที่เคารพกันตามระบบอาวุโส ที่ยิ่งแก่ต้องยิ่งได้รับความเคารพ แต่กับเด็กรุ่นใหม่ ที่ถือว่าทุกคนเสมอภาคกันโดยไม่จำกัดเพศและวัย ทำให้เด็กรุ่นใหม่บางคนก็ก้าวข้ามช่องว่างระหว่างวัยไปใช้ภาษาที่ส่อเสียด ก้าวร้าว ล้อเลียน และสารพัดจะสรรหาวิธีกลั่นแกล้งผู้สูงวัยที่มีความเปราะบางทางจิตใจสูง ซึ่งผู้สูงวัยบางท่านเพียงแค่ไปคอมเมนต์แตกต่างจากคนอื่น ๆ ก็ถูกบรรดาเกรียนคีย์บอร์ดลากมาถล่มกลางโซเชียล การที่ถูกทำร้ายจิตใจเช่นนี้สร้างบาดแผลให้แก่ผู้สูงวัยอย่างมาก เพราะเป็นวิธีที่รับมือได้ยาก และหากลูกหลาน ไม่รีบเข้าไปพูดคุยก็อาจทำให้พวกท่านกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งทางเรามีบทความจิตวิทยาที่น่าสนใจเรื่อง “7 วิธีรับมือกับคำพูดบั่นทอนจิตใจจากคนใกล้ตัว” แนะนำสำหรับคุณผู้อ่านที่หาวิธิป้องกันในประเด็นดังกล่าวนะคะ



3.มีโอกาสหลงเชื่อข้อมูลผิด ๆ มากกว่าวัยอื่น

ผู้สูงวัยหลายท่าน พยายามจะเล่นโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตเพื่อให้ใกล้ชิดกับลูกหลานมากยิ่งขึ้น และหลายครั้งก็แสดงออกด้วยการแชร์ข้อมูลที่คิดว่าเป็นประโยชน์ ที่คิดว่าทันสมัยเข้าไปในไลน์กลุ่ม หรือไลน์ส่วนตัวของลูกหลาน โดยบ่อยครั้งไม่ได้เช็คก่อนแชร์ว่าข่าวหรือข้อมูลพวกนั้นจริง แท้ อย่างไร และหนักไปกว่านั้นผู้สูงวัยหลายท่านเชื่ออย่างสนิทใจว่าทุกข้อมูลในโลกออนไลน์คือเรื่องจริง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นผู้สูงวัยในบ้านเชื่อว่าน้ำมันกัญชาคือยาทิพย์ที่รักษาได้ทุกโรค หรือกลัวเรื่องดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกจนโลกแตก และประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นเปราะบางที่ทำให้ผู้สูงวัยและลูกหลานทะเลาะกันบ่อยที่สุด




ดังนั้นแล้ว เพื่อปกป้องคนแก่ติดโทรศัพท์ให้พ้นภัยอินเตอร์เน็ต ผู้เขียนก็มีข้อแนะนำตามนี้ค่ะ


1.คอยดูแลยอดเงินในบัญชีธนาคาร หรือลบ Application Mobile Banking ออกจากโทรศัพท์มือถือของผู้สูงวัย เพื่อป้องกันการโอนด่วน โอนไวในทุกกรณี


2.แอบส่องพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างใกล้ชิด ทั้ง Facebook ทั้ง Line หากมีพฤติกกรมเสี่ยง น่าสงสัยให้รีบพูดคุยกับผู้สูงวัย และรีบดูแลอย่างใกล้ชิด


3.หากผู้สูงวัยถูกทำร้ายจิตใจจากโลกโซเชียล ให้พวกท่านงดการเล่นโทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต และการรับสื่อออนไลน์ทุกอย่าง รวมถึงใช้เวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับผู้สูงวัยให้มากยิ่งขึ้น แต่ถ้าหากเห็นว่าสภาพจิตใจไม่ดีขึ้น ขอให้รีบพาพวกท่านมาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาโดยเร็วค่ะ


4.หากิจกรรมให้ผู้สูงวัยทำ เพราะเหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้พวกท่านติดโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตก็เพราะเหงา ไม่มีเพื่อน ดังนั้น หากเราหาสมาคม ชมรมที่ถูกใจให้ผู้สูงวัยเข้าร่วม ก็อาจเบี่ยงเบนความสนใจ และจะทำให้พวกท่านได้ใช้เวลาที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาตัวเองอีกด้วย



ทั้งนี้ หากคุณผู้อ่านต้องการหาไอเดียเกี่ยวกับการคลายเหงาให้ผู้สูงวัยเพิ่มเติม สามารถอ่านได้ที่บทความจิตวิทยา “4 วิธีคลายความเหงาสำหรับชาวสังคมก้มหน้า” ได้เลยค่ะ

 

iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว


บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)


และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย


 

อ้างอิง :

1. สำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชฑูต ณ กรุงวอชิงตัน. 2561. เทคโนโลยีสำหรับผู้สูงวัย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2562 จาก http://ost.thaiembdc.org

2. สำนักงานสถิติแห่งชาติ. 2561. ผู้สูงวัย....ในยุคดิจิตัล. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2562 จาก www.nso.go.th

3. Theerapat Charoensuk. 6 เมษายน 2015. 5 เหตุผล ที่ทำไมคนแก่เล่นโซเชียลแล้วอันตราย กว่าเด็ก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2562 จาก https://petmaya.com

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page