คิดซ้ำ ๆ ทำเดิม ๆ เรากำลังเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) อยู่หรือเปล่านะ
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 คงทำให้หลายท่านทำอะไรซ้ำ ๆ กังวล เรื่องเดิม ๆ จนคิดว่า เอ๊ะ! เราเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) อยู่หรือเปล่านะ เช่น ล้างมือแล้วล้างมืออีกฉีดแอลกอฮอล์ซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ ทั่วทั้งตัว กังวลเรื่องเชื้อโรคและการเจ็บป่วยอยู่เสมอจนไม่กล้าที่จะออกจากบ้าน ซึ่งบทความจิตวิทยานี้มีคำตอบให้ค่ะ ว่าโรคย้ำคิดย้ำทำคืออะไร? อาการแบบไหนกันนะที่เข้าข่าย เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) แล้วจะมีวิธีรักษาได้อย่างไร? มาเริ่มกันเลยนะคะ
โรคย้ำคิดย้ำทำคืออะไร?
ตามตำราการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช หรือ DSM – V (The Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fifth Edition) ให้ข้อมูลไว้ว่า “โรคย้ำคิดย้ำทำ” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Obsessive – Compulsive Disorder หรือ OCD ที่หลายท่านได้ยินกันบ่อย ๆ ค่ะ ซึ่งเป็นโรคที่พัฒนามาจากความเครียด ความวิตกกังวลเรื้อรัง ที่สะสมมานานนั้นเอง โดยมีอาการสำคัญ 2 ประเภทอาการ ดังนี้ค่ะ
1. อาการย้ำคิด (Obsession)
คือ การคิดในเรื่องเดิมซ้ำ ๆ กังวลในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเวลานาน ไม่สามารถหยุดความคิดหรือความกังวลที่เกิดขึ้นมาได้ จนเกิดความกลัว ความเครียด และเกิดปัญหาในชีวิตตามมาค่ะ เช่น กังวลว่าตนจะติดเชื้อ COVID – 19 พอมีอาการเล็กน้อย เช่น จาม น้ำมูกไหล ไอ ก็วิตกกังวลอย่างหนักว่าตนป่วยเป็นโรค COVID – 19 แล้วจริง ๆ แล้วก็คิดไปไกลถึงขั้นว่าถ้าป่วยจะทำอย่างไร จะไปรักษาที่ไหน มีเงินพอที่จะสำรองจ่ายในการรักษาหรือไม่ จะนำเชื้อไปตออดคนในบ้านหรือไม่ แล้วถ้านำเชื้อไปติดคนในบ้านแล้วจะเป้นอย่างไร ฯลฯ คนที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ก็จะคิดและขยายวงความกังวลของเขากว้างขึ้น ๆ และทำให้เขาเครียดมากขึ้นตามไปด้วยค่ะ
2.อาการย้ำทำ (Compulsion)
คือ อาการต่อเนื่องมาจากอาการย้ำคิด เมื่อคิดหรือกังวลเรื่องใดเรื่องหนึ่งซ้ำ ๆ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ก็มักจะลงมือทำตามสิ่งที่ตัวเองคิดจริง ๆ แต่เป็นการทำเพียงบางสิ่งบางอย่างซ้ำ ๆ ทำไปเรื่อย ๆ เช่น กังวลเรื่องโรค COVID – 19 ก็ล้างมือซ้ำ ๆ ล้างมือนานมาก ขัดแรง ๆ ฟอกสบู่ซ้ำ ๆ จนมือฉีก มือลอก หรืออาบน้ำนานมากเป็นครึ่งวัน ฟอกสบู่ ขัดตัวแรง ๆ จนตัวแดง ผิวถลอกกันเลยทีเดียว ซึ่งนักจิตวิทยาก็มีความเป็นห่วงผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ในส่วนนี้อย่างมากเลยค่ะ เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตต่อผู้ป่วยได้
อาการแบบไหนที่เข้าข่ายโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD)
1. คิดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ มีความกังวลใจอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเวลานานมากกว่า 1 ชั่วโมงแล้ว แต่ก็ยังหยุดคิด หรือหยุดกังวลไม่ได้
2. ทำเรื่องเดิมซ้ำ ๆ เพื่อหยุดความกังวลของตนเอง เช่น ล้างมือนาน ๆ เพราะกลัวเชื้อโรค เดินไป เดินมารอบบ้าน เพราะกังวลเรื่องขโมย นับเงินที่มีอยู่ซ้ำ ๆ เพราะกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เป็นต้นค่ะ ซึ่งอาการดังกล่าวต้องทำติดต่อกันมากกว่า 1 ชั่วโมงขึ้นไป และมีอาการทุกวันเป้นเวลามากกว่า 1 สัปดาห์
3. อาการย้ำคิดย้ำทำ มีผลต่อการใช้ชีวิต หรือกล่าวอีกอย่างว่า อาการย้ำคิดย้ำทำนั้นทำให้ผู้ป่วยไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต เช่น ไม่สามารถตั้งสมาธิในการทำงานได้เพราะกังวลเรื่องอื่นอยู่ และหยุดความกังวลไม่ได้ หรือต้องเจ็บตัว หรือเสียสุขภาพ เพราะอาการย้ำทำ
4. โรคย้ำคิดย้ำทำ ส่งผลไปถึงความเชื่อของผู้ป่วย ซึ่งมีผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตตามมา เช่น ผู้ป่วยที่กังวลเรื่องเชื้อโรค มักจะขยายความกังวลไปถึงการรังเกียจสิ่งสกปรก จนเกิดความเชื่อว่าทุกสิ่งบนโลกนี้สกปรกไปเสียหมด ทำให้มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งสกปรก เช่น ใส่ชุด PPE ออกนอกบ้าน เช็ดตัวและของทุกอย่างด้วยแอลกอฮอล์ อาบน้ำเป็นเวลานานมาก เป็นต้น
โรคย้ำคิดย้ำทำมีวิธีรักษาอย่างไร?
นักจิตวิทยา และผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้แนะนำว่า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ควรเข้ารับการรักษา ก็คือ การทำจิตบำบัดแบบ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) ควบคู่ไปกับการรับประทานยาเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองอย่างสม่ำเสมอ โดยวิธีการทำจิตบำบัดแบบ CBT ก็คือ การบำบัดผู้ป่วยให้เปลี่ยนวิธีคิดให้มีความสมเหตุ สมผล เหมาะสมกับสถานการณ์ความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น มีการปรับความเชื่อให้เป็นไปตามความเป็นจริง รวมถึงลดพฤติกรรมย้ำทำ และลดพฤติกรรมที่นำไปสู่โรคย้ำคิดย้ำทำค่ะ ซึ่งการรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ด้วยวิธีการข้างต้นนั้น ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งอาการป่วยถึงจะดีขึ้นค่ะ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของตัวผู้ป่วย ครอบครัว และความสม่ำเสมอในการบำบัดเข้าช่วยอีกแรงด้วยค่ะ
โรคย้ำคิดย้ำทำนั้น ดูผิวเผินก็เหมือนจะเป็นพฤติกรรมปกติที่เรามักทำในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการล้างมือ การอาบน้ำ การทำความสะอาดสิ่งของ แต่ถ้าหากคุณผู้อ่านหรือคนใกล้ตัวมีความกังวลในเรื่องใดเรื่องหนึ่งผิดปกติเป็นเวลานาน ๆ หรือมีพฤติกรรมซ้ำ ๆ จนกระทบกับชีวิตประจำ ดังเช่นข้อมูลข้างต้นที่ได้นำเสนอไป แนะนำให้ลองขอคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาดูนะคะ หรือจะปรึกษานักจิตวิทยาผ่าน Istrong ก็ได้เช่นกันค่ะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
4 วิธีสังเกตว่าเราเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) หรือไม่ (https://www.istrong.co/single-post/__ocd)
อ้างอิง
[1] มาโนช หล่อตระกูล และปราโมทย์ สุคนิชย์. 2540. คู่มือการวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วยโรควิตกกังวล. ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: เอส ซี พรินท์.
[2] ศิริลักษณ์ ลอดทอน. มปป. โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder, OCD) [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2564 จาก https://www.doctorraksa.com/th-TH/blog/obsessive-compulsive-disorder.html
[3] โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน. 20 กรกฎาคม 2564. “โรคย้ำคิด ย้ำทำ” มีความคิดซ้ำ ๆ ยิ่งคิดยิ่งกังวลวลใจ คุณเข้าข่ายหรือไม่. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2564 จาก https://www.paolohospital.com
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก
บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 2 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต
Comments