นักจิตวิทยาไขข้อข้องใจ เราผิดปกติหรือไม่ที่ไม่อินกับเทศกาลเลย
ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา หลายท่านคงตื่นเต้นและสนุกสนานไปกับการเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะเด็ก ๆ และวัยรุ่น ที่จะอินกับเทศกาลมากกว่าวัยอื่น ๆ แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่ไม่อินกับเทศกาลเลย เช่นดิฉันและสามีที่รู้สึกเฉย ๆ ในทุกเทศกาล และก็ได้ทราบว่าเพื่อน ๆ ในช่วงวัยเดียวกันหลายคนที่ไม่อินกับเทศกาล จนมีหลายคนสงสัยว่าเราผิดปกติหรือไม่นะ หรือเป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้าหรือไม่ หรือเรากำลังอยู่ใน “ภาวะสิ้นยินดี” ในบทความจิตวิทยานี้ดิฉันได้หาคำตอบมาให้เรียบร้อยแล้วค่ะ
โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้ให้ข้อสังเกตมาว่า คนที่ “ไม่อินกับเทศกาล” นั้น จะมีพฤติกรรมเด่น 5 พฤติกรรม ได้แก่
ไม่ชอบไปไหนมาไหนช่วงเทศกาล
แน่นอนว่าในช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดติดต่อกันยาว ๆ เช่น ปีใหม่ หรือ สงกรานต์ คนไทยก็มักจะออกเดินทางเพื่อกลับภูมิลำเนา และท่องเที่ยวต่างจังหวัด ทำให้รถติดมากแบบมหาศาล หรือถ้าเราเลือกการเดินทางแบบสาธารณะ เช่น เครื่องบิน รถไฟ รถโดยสาร ก็จะพบว่าราคาค่าตั๋วพุ่งมากแบบไม่สมเหตุสมผล ราคาแรงจนไม่กล้าจ่าย จนทำให้หลายคนไม่ชอบเดินทางในช่วงเทศกาล แต่จะเลือกท่องเที่ยว หรือกลับบ้านต่างจังหวัดหลังเทศกาลแทน
2. ไม่เข้าร่วมกิจกรรมตามเทศกาล
เมื่อถึงเทศกาลสำคัญเด็ก ๆ และวัยรุ่นจะมีความตื่นเต้นไปกับเทศกาลนั้น โดยมี “passion” ในการทำกิจกรรมอย่างมาก เช่น หาเสื้อผ้ามาใส่ให้เข้ากับเทศกาล แต่งตัวให้เหมาะสมกับเทศกาล ตกแต่งบ้าน หรือเข้าร่วมกิจกรรมตามเทศกาล แต่พอตัดภาพมาที่บางคน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในวัย 35+ จะไม่อินกับเทศกาล ไม่สนใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรม ไม่ยินดียินร้ายกับเทศกาล ยังคงมุ่งมั่นทำงานตามปกติโดยไม่สนใจว่าช่วงนั้นจะเป็นเทศกาลอะไร
3. ใช้ชีวิตตามปกติโดยไม่สนใจเทศกาล
ย้อนกลับไปสมัยเรายังเป็นเด็กที่มีความสดใส ยังไม่ถูกความโหดร้ายของโลกความจริงกลืนกินรอยยิ้ม เมื่อใกล้เทศกาลสำคัญเราจะมีความตื่นเต้นมากจนบ่อยครั้งก็นอนไม่หลับ เพราะต้องการให้วันนั้นมาถึงเร็ว ๆ ตื่นเต้นกับคุณชานต้าครอสที่มาแจกของขวัญที่โรงเรียน สนุกการหาของขวัญมาแลกกับเพื่อนในวันปีใหม่ แอบเขินในวันวาเลนไทน์ที่รวบรวมความกล้านำดอกไม้ไปให้คนที่แอบชอบ แต่พอผ่านวัน ผ่านเวลา ผ่านการใช้ชีวิตมาระยะหนึ่ง เราจะไม่อินกับเทศกาลแล้ว และใช้ชีวิตตามปกติเช่นทุกวันที่เคยใช้ให้หมด ๆ วันไป
4. เบื่อช่วงเทศกาล
ในช่วงเทศกาลปีใหม่หลายคนสนุกสนานกับเทศกาลมาก เพราะได้เจอเพื่อนเก่า พบปะญาติมิตรที่ไม่ได้เจอกันมานาน มีการดื่มฉลอง ร้องคาราโอเกะ มีการจุดพลุเมื่อถึงเวลาข้ามปี แต่ก็ยังมีหลาย ๆ บ้าน รวมถึงบ้านดิฉันด้วย จะเกิดความรู้สึกว่าเสียงแห่งความสนุกสนานนั้นรบกวนชีวิตอย่างมาก ทั้งเสียงรบกวนจากคนเมาร้องเพลง และจากพลุที่ทำให้ลูกนอนไม่ได้ ทำให้แมวตกใจวิ่งไปทั่วบ้าน และเกิดความรู้สึกเบื่อมากในทุกเทศกาลที่มีเสียงดัง เช่น ปีใหม่ และลอยกระทง จนอยากจะให้เทศกาลเหล่านั้นผ่านไปไว ๆ
5. เทศกาลก็แค่วัน ๆ หนึ่งเท่านั้น
สำหรับหลาย ๆ คน ช่วงเทศกาลคือวันพิเศษ และรู้สึกว่าเป็นวันที่แตกต่างจากวันอื่น ๆ มาก เพราะหลายเทศกาลเราได้เล่นสนุก หรือได้เที่ยวกับครอบครัว เช่น ปีใหม่ และ สงกรานต์ แต่กับอีกหลาย ๆ คน เทศกาลก็แค่วัน ๆ หนึ่ง ที่ต้องตื่นมาทำงานเหมือนเดิม ตื่นมาใช้ชีวิตเช่นเดิม ไม่ได้มีความพิเศษ หรือให้ความรู้สึกที่แตกต่างอะไร
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาก็ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความไม่อินกับเทศกาลนั้น ไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตใจ แต่เกิดมาจาก 3 สาเหตุหลัก ๆ คือ
1.เป็นการเปลี่ยนผ่านตามช่วงวัย
จากการเก็บสถิติทางจิตวิทยา พบว่า ผู้ที่ไม่อินกับเทศกาลส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 35 – 80 ปี เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่ผ่านความเหนื่อยล้า มีการใช้ชีวิตมาเป็นระยะเวลาหนึ่งซึ่งถือว่านานอยู่ และมีปัจจัยทางสังคมต่าง ๆ เช่น ภาวะกดดันทางเศรษฐกิจ ภาวะความเครียดในครอบครัว ความตึงเครียดในหน้าที่การงาน ส่งผลให้คนกลุ่มนี้เฉยชา เบื่อหน่าย และไม่อินกับเทศกาล
2. เป็นคนที่ต้องทำงานในช่วงเทศกาล
คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่อินกับเทศกาลโดยไม่เกี่ยวกับช่วงวัย คือ กลุ่มคนที่ต้องทำงานแม้จะเป็นวันหยุด หรือช่วงเทศกาล เช่น พนักงานให้บริการบนสายการบิน พนักงานบริการในร้านอาหาร พนักงานในสายงานการให้บริการต่าง ๆ ท่องเที่ยว อาหาร และการเดินทาง ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ไม่เคยได้หยุดในวันหยุดหรือเทศกาลเลย เพราะเป็นช่วงเวลาทองของธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ผู้คนเหล่านี้จึงเหนื่อยล้า และเกิดความรู้เป็นท้อที่ไม่ได้หยุดเหมือนคนอื่นเขา จึงค่อนข้างเบื่อหน่ายกับช่วงเทศกาล
3. มีความทรงจำอันเลวร้ายในช่วงเทศกาล
และกลุ่มสุดท้าย ผู้น่าเห็นใจที่สุด เพราะเป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์ที่เจ็บปวดจากการสูญเสียคนรัก หรือสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รักไปในช่วงเทศกาล ซึ่งตามสถิติประเทศไทย พบว่า ในช่วงเทศกาลใหญ่ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ จะมีการเกิดอุบัติเหตุเฉลี่ย 520 ครั้ง/วัน และมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 54 คน/วัน และจากสถิติสัตว์หายในช่วงเทศกาล พบว่า มีมากถึง 30 ตัว/วัน โดยเฉพาะในคืนส่งท้ายปี และช่วงเทศกาลลอยกระทง ซึ่งสัตว์ที่หายมากที่สุด คือ แมว และรองมาคือน้องหมา นั่นหมายความว่าในช่วงเทศกาลที่คนส่วนใหญ่มีความสุข แต่กลับมีคนกลุ่มหนึ่งต้องเศร้าโศกเสียใจ และต้องนึกถึงคนรัก หรือสิ่งที่รักที่ได้จากไปในช่วงเทศกาลของทุกปี จึงเป็นเหตุผลให้เขาเหล่านี้ไม่อยากให้ช่วงเทศกาลนั้นมาถึงนั่นเอง
ถึงแม้ว่าเราจะมีความรู้สึกที่หลากหลายแตกต่างกันไปในช่วงเทศกาล แต่ “เทศกาล” ก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนผ่าน และบ่งบอกว่าเราเติบโตขึ้นแล้วนะ สำหรับผู้ที่มีความสุขในช่วงเทศกาล ก็ขอให้คุณมีความสุข ความสดใสเช่นนี้เรื่อยไป แต่หากคุณรู้สึกไม่อิน และกังวลใจกับความไม่อินนั้นก็สามารถปรึกษาเราได้ รวมถึงผู้ที่เป็นทุกข์ใจและไม่รู้ว่าจะพูดคุยกับใคร iSTRONG ยินดีเคียงข้างเสมอนะคะ
และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง : เชียงใหม่นิวส์. (2567, 1 มกราคม). ไม่ “อิน” กับเทศกาล สัญญาณจากช่วงวัย – ความเครียด ไม่ตื่นเต้น ไม่อยากทำกิจกรรม เพราะเหนื่อยมานาน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2567 จาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=684155057224213&set=a.528239872815733
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments