top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

รู้จักกับคนลักษณ์ 4 ในศาสตร์นพลักษณ์ ผู้โศกซึ้งที่ ‘อาจ’ ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า



“นพลักษณ์ (Enneagram)” เป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่ช่วยให้คนเราสามารถเข้าใจความแตกต่างหลากหลายของบุคลิกภาพมนุษย์ได้ โดยในศาสตร์นพลักษณ์จะจัดบุคลิกภาพของคนเราเป็น 9 แบบหลัก ในขณะที่ก็ไม่ได้แบ่งแยกแต่ละลักษณ์แบบขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากแต่ละคนก็อาจจะมีลักษณะของทุกลักษณ์ปะปนกันอยู่ในตนเอง เพียงแต่จะมีความเป็นลักษณ์ใดลักษณ์หนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา โดยทั้ง 9 ลักษณ์มีดังนี้

  • ลักษณ์ 1 ผู้ชอบความสมบูรณ์แบบ (The Perfectionist)

  • ลักษณ์ 2 ผู้ให้ (The Giver)

  • ลักษณ์ 3 ผู้ไขว่คว้าในความสำเร็จ (The Performer)

  • ลักษณ์ 4 ศิลปิน (The Romantics)

  • ลักษณ์ 5 นักคิด นักสำรวจ (The Observer)

  • ลักษณ์ 6 ผู้จงรักภักดี (The Guardian)

  • ลักษณ์ 7 นักผจญภัย (The Optimist)

  • ลักษณ์ 8 ผู้นำ (The Leader)

  • ลักษณ์ 9 ผู้รักสันติสุข (The Peacemaker)

ในบทความนี้จะขอหยิบยกเอาลักษณ์ 4 ในศาสตร์นพลักษณ์ขึ้นมากล่าวถึง เนื่องจากเป็นลักษณ์ที่มีลักษณะเด่นคล้ายคลึงกับอาการของโรคซึมเศร้า จึงเป็นลักษณ์ที่มีโอกาสมากที่สุดที่จะถูกคนอื่นหรือแม้แต่ตัวเองตัดสินว่าเป็นโรคซึมเศร้า ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วอาจจะเป็นหรือไม่เป็นโรคซึมเศร้าก็ได้


ลักษณะเด่นของลักษณ์ 4

ลักษณ์ 4 เป็นลักษณ์ที่ถูกจัดไว้ในกลุ่ม “ศูนย์ใจ” ลักษณะที่โดดเด่นของคนลักษณ์ 4 คือ ความเศร้า ความแปลกไม่เหมือนใคร และสภาพจิตใจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คนลักษณ์ 4 มักจะพาตัวเองให้เข้าหาความรู้สึกเศร้าอย่างอัตโนมัติและถูกดึงดูดด้วยความเข้มข้นของอารมณ์ความรู้สึกและใช้มันเป็นแรงบันดาลใจในการทำสิ่งต่าง ๆ มีความอ่อนไหวต่ออารมณ์มาก บางครั้งแค่ฝนตกหรือสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงก็อาจทำให้พวกเขาเศร้าได้


พวกเขาสามารถรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้เป็นอย่างดี แม้ว่าอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างเปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อย และมักจะรับรู้ความรู้สึกของคนที่อยู่ข้างหน้าได้เป็นอย่างดี มีภาพชีวิตที่มองว่าตัวเองมีปมด้อย เป็นผู้สูญเสีย เป็นเหยื่อ เป็นคนกลุ่มน้อย หรือไม่มีความสำคัญ ซึ่งเหล่านี้เป็นวิธีคิดหนึ่งที่พวกเขาใช้ในการป้องกันตัวเองเพื่อไม่ให้รู้สึกแย่มากไปกว่านี้ คนลักษณ์ 4 มักจะมองด้านที่เป็นอุดมคติของสิ่งที่อยู่ไกลจากตัวเองและใฝ่หาสิ่งเหล่านั้น


แต่หากสิ่งเหล่านั้นเข้ามาใกล้คนลักษณ์ 4 มากขึ้น พวกเขาก็จะพยายามที่จะผลักสิ่งที่ตัวเองมีออกไปและมองหาสิ่งที่ตัวเองขาดแทน

ลักษณ์ 4 จึงมักถูกเรียกว่า “ลักษณ์ศิลปิน” เพราะคนลักษณ์ 4 มักมีอารมณ์ติสต์ คาดเดาอารมณ์ได้ยาก เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าจะอยู่กับเหตุผลข้อเท็จจริง และมีอารมณ์อ่อนไหวไปตามจินตนาการของตนเอง


คนลักษณ์ 4 มักเป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะใช่ไหม?

สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็นจิตแพทย์แล้วค่อนข้างยากทีเดียวที่จะตัดสินว่าใครเป็นหรือไม่เป็นโรคซึมเศร้า นอกจากนี้ การมองผ่านศาสตร์นพลักษณ์ก็เป็นเพียงการมองผ่านกรอบ ๆ หนึ่งซึ่งในความเป็นจริงแล้วยังมีกรอบการมองบุคลิกภาพแบบอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น กรอบการมองตามเกณฑ์ DSM-5 กรอบการมองตามแบบทดสอบบุคลิกภาพแบบ MBTI กรอบการมองบุคลิกภาพแบบ DISC ฯลฯ จึงไม่ควรที่จะนำกรอบใดกรอบหนึ่งไปตัดสินว่าใครเป็นแบบไหน


และยิ่งไม่ควรใช้ในการตัดสินว่าใครดีหรือแย่ ป่วยหรือไม่ป่วย เพราะไม่ว่าจะเป็นคนลักษณ์ใดก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้เหมือนกัน จึงตอบได้ยากว่าในผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักจะเป็นลักษณ์ใดมากที่สุด โดยเฉพาะลักษณ์ 4 ซึ่งมีพื้นฐานบุคลิกภาพคล้ายคลึงกับคนเป็นโรคซึมเศร้า และสิ่งสำคัญก็อาจไม่ได้อยู่ที่การไปค้นหาว่าลักษณ์ 4 คนไหนเป็นโรคซึมเศร้าบ้าง แต่มันอยู่ที่ว่าคนเราจะใช้วิธีอะไรในการปรับตัวให้สามารถอยู่ร่วมกับคนลักษณ์ต่าง ๆ


และผู้ป่วยจิตเวชได้โดยตัวเองไม่ทุกข์และไม่สร้างความทุกข์ให้ใคร รวมไปถึงคนลักษณ์ 4 เองหรือผู้ป่วยเองก็จะต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ได้โดยไม่ทุกข์ทั้งเราทั้งเขาเช่นกัน ซึ่งความเข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลไม่ว่าจะผ่านกรอบมุมมองไหนก็จะเข้ามามีส่วนช่วยลดความขัดแย้งในความสัมพันธ์ได้มาก


จะอยู่ร่วมกับคนลักษณ์ 4 ยังไงไม่ให้ต่างฝ่ายต่างเป็นทุกข์?

คนลักษณ์ 4 เป็นคนที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความสัมพันธ์ บรรยากาศการทำงานร่วมกันที่อบอุ่น ชอบความสร้างสรรค์ ต้องการพื้นที่ที่ตัวเองได้แสดงออกอย่างไร้ข้อจำกัด และมักจะเอาใจใส่คนอื่นค่อนข้างมาก ในเรื่องของการทำงาน คนลักษณ์ 4 ชอบงานที่ให้อิสระกับตัวเอง รวมถึงงานที่ทำให้เขาได้ช่วยเหลือและเข้าใจคนอื่นได้


สำหรับคนอื่น ๆ แล้ว คนลักษณ์ 4 อาจจะดูเข้าใจยากไปสักหน่อย เช่น เวลาที่ใส่ใจเขามาก ๆ เขาก็จะรู้สึกรำคาญ แต่หากปล่อยให้เขาเป็นอิสระในพื้นที่ส่วนตัวบ่อย ๆ เขาก็จะคิดขึ้นมาว่าไม่มีใครรัก และด้วยความที่เป็นคนโศกซึ้งที่ถูกอารมณ์เศร้าดึงดูดเข้าไปได้ง่าย คนรอบข้างก็อาจจะรู้สึกเป็นห่วงว่าคนลักษณ์ 4 จะจมอยู่กับความเศร้ามากเกินไป


แต่อย่างไรก็ตาม บนความเป็นห่วงนั้นก็ต้องอย่าลืมว่า “คนทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบอารมณ์ของตัวเอง” ดังนั้น การไปช่วยคนลักษณ์ 4 แบกรับอารมณ์ทางลบก็อาจจะไม่ใช่วิธีช่วยเหลือที่ดีนัก และสถานการณ์อาจจะยิ่งยากไปกว่าเดิมหากคุณคาดหวังให้คนลักษณ์ 4 เปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลายเป็นคนสนุกสนาน ตลก ร่าเริง คิดบวกกับทุกเรื่องได้ เนื่องจากพื้นฐานบุคลิกภาพของพวกเขาไม่ได้เป็นแบบนั้น


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนลักษณ์ 4 อาจจะมีความคล้ายคลึงกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าและอาจจะไม่ได้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แต่หากคุณพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยร่าเริงก็กลายเป็นไม่ยินดียินร้ายกับอะไรเลย สิ่งที่เคยทำแล้วเครียดน้อยลงแต่ตอนนี้มันกลับช่วยลดความเครียดไม่ได้แล้ว ก็ขอให้อย่าละเลยสัญญาณเตือนนี้และรีบปรึกษาจิตแพทย์ก่อนที่อารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวจะพัฒนาไปเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงมากขึ้น


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] FB Live ลักษณ์ 4 เป็นซึมเศร้าหรือไบโพลาร์จริงหรือ? Retrieved from. https://www.facebook.com/enneagramthailand/videos/5400621466673451


[2] ลักษณ์ 4 ผู้โศกซึ้ง ลักษณะนิสัย โครงสร้างบุคลิกภาพ และลักษณ์ย่อย. Retrieved from. https://www.urbinner.com/post/enneagram-type-4


[3] ทำความรู้จักตัวเองกับ นพลักษณ์ (Enneagram) ศาสตร์โบราณกับความแตกต่างของมนุษย์. Retrieved from. https://psub.psu.ac.th/?p=7997



บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)

และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page