การตระหนักรู้ที่เจ็บปวดจากหิมาลัย
ยิ่งเจ็บปวด ยิ่งตระหนัก
ยิ่งมีจำกัด ยิ่งเห็นคุณค่า
ถ้าคุณเอาแต่พร่ำบ่นโมโหโกรธาการประปาการไฟฟ้าเมื่อ "น้ำไม่ไหลไฟดับ" แทนที่จะเห็นคุณค่าของสองสิ่งนั้น ให้อ่านเรื่องนี้
ถ้าคุณยังไม่รู้สึกตระหนักถึงความสำคัญของ "การกินอยู่อย่างพอเพียง" ให้อ่านเรื่องนี้
ถ้าคุณยังไม่เคยตระหนักถึงความสำคัญของ "ลมหายใจ" ให้อ่านเรื่องนี้
และถ้ายังนึกภาพไม่ออก...
แววมีเรื่องจาก "หิมาลัย" มาเล่าให้อ่านกันค่ะ
ที่หิมาลัย ประเทศเนปาล ทรัพยาการพื้นฐานมีอยู่อย่างจำกัด จากทั้งด้วยโครงสร้างพื้นฐาน เช่นเขื่อนไม่มีไว้สำหรับเก็บกักน้ำ เมื่อน้ำไม่มี ก็เป็นเหตุทำให้ปัจจัยที่จะมาอำนวยความสะดวกพื้นฐานเช่นไฟฟ้าก็มีไม่เพียงพอไปด้วย ขนาดที่เมืองหลวงเอง ไฟฟ้ายังต้องกระจายและแบ่งกันใช้เป็นช่วงเวลา ทำให้เราต้องวางแผนการทำกิจกรรมต่างๆในเวลาที่กำหนดไว้จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ
นี่คือแค่สิ่งเล็กๆสิ่งแรกที่ทำให้เราได้เรียนรู้กับการเริ่มต้นที่หิมาลัยนี้
เราใช้เวลาเทรกกันทั้งหมดกว่า10 วัน แต่ละวันเราเดินกันด้วยระยะทางกว่า 10-20 กม. ไต่ระดับความสูงจากกว่า 1000 เมตรไปจนถึงเกินกว่า 4000 เมตร
ยิ่งสูง...เราก็ยิ่งต้องสู้กับความลำบาก
เช่นเดียวกัน
ยิ่งสูง...เราก็เรียนรู้มากขึ้น
ที่นั่น เมื่อระดับความสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ความจำกัดของทรัพยากรต่างๆก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว แม้ว่าบ้านเรือนที่พักจะดูสะดวกสบายอยู่บ้างก็ตาม แต่สิ่งที่ดูท้าทายและยากลำบากไม่เคยเปลี่ยนคือ ระบบการขนส่งหรือโลจิสติก
ลูกหาบ หรือ Porter - ไม่มีเขาเราไม่ถึงฝั่ง
ในการปีนเขาสิ่งที่เราต้องการความช่วยเหลืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ "ลูกหาบ หรือ Porter" คนเหล่านี้ต้องแบกสัมภาระของนักปีนเขาอย่างน้อย 20 กก. ต่อคน เดินขึ้นเขาลงเขาจนจบทริปกว่า 10 วันเช่นเดียวกับเราที่แค่แบกกล้องและของใช้จำเป็นแค่ 5 กก. ก็จะแย่อยู่แล้ว บางคนผอมแห้งแรงน้อยแต่ต้องแข็งแรงเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว บางคนอายุยังน้อย ต้องหาเงินไปเพื่อเรียนหนังสือโดยมีเป้าหมายที่จะไปได้ไกลกว่าการเป็นลูกหาบ ถ้าหากเลือกเกิดได้ พวกเขาคงอยากเกิดมากับความเบาสบายมากกว่านี้แน่นอน
ข้าวและอาหาร - กินอย่าให้เหลือ
ข้าวสาร และวัตถุดิบต่างๆถูกขนส่งโดยม้าและล่อ พวกมันต่างต้องเดินรอบแล้วรอบเล่าขึ้นภูเขาด้วยเพื่อนำไปเป็นอาหารในแต่ละมื้อให้กับเรา อาหารที่นี่จานมหึมาที่ชาวบ้านอยากให้เรากินอิ่มเพื่อที่จะมีพลังงานอย่างเพียงพอในการไปถึงจุดหมาย แต่มันใหญ่เกินไปสำหรับชาวไทยตัวเล็กๆอย่างเรา เรากินกันหมดบ้างเหลือบ้างในวันแรกๆ
แต่มีอยู่วันหนึ่งขณะกำลังกินข้าว...เราหันไปมองถนนแคบๆเล็กๆที่มีล่อหรือม้ากำลังขนส่งเสบียง เรากลับต้องก้มหน้าน้ำตารื้น...พวกมันขนสิ่งของเครื่องใช้ ข้าวปลาอาหารมากมายเหลือเกิน พวกมันคงหนักมากเพราะดูได้จากสายตาและอาการ...สำคัญมากไปกว่านั้คือ กีบเท้าพวกมันมีบาดแผลและร่องรอยของเลือด!
หลังจากนั้นทุกมื้อเราเลยสั่งมาแบบกินกันคนละครึ่งจาน
ขอบคุณข้าวทุกจานอาหารทุกเม็ด
น้ำใช้ไฟฟ้า - อาบน้ำทั้งน้ำตา
อาบน้ำอย่างประหยัดน้ำ ประหยัดพลังงาน
ปกติเมือเราอาบน้ำโดยเฉพาะน้ำอุ่นเราจะรู้สึกสบาย และมีความสุข แต่หากเพื่อนๆได้มีโอกาสเห็นม้าหรือล่อที่นำแก๊ซขึ้นมาใช้ผลิตน้ำร้อนแบบที่แววได้เห็นแล้ว แววค่อนข้างมั่นใจว่าว่าอย่างน้อยเราจะรู้สึกเศร้าใจว่าสิ่งที่ทำให้เรากินอิ่ม นอนหลับ รู้สึกสัมผัสสบาย มันมาจากความลำบาก ความเจ็บปวดของอีกหลายๆชีวิต หรืออาจเศร้าใจจนกระทั่งอาจจะอาบน้ำทั้งน้ำตา..แบบแวว
อากาศที่ใช้หายใจ - หายใจกันตาย
เราไม่มีวันรู้คุณค่าของอากาศหากเรายังไม่เคยขาดมัน
ที่ความสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อากาศย่อมเบาบางลงเรื่อยๆ คนที่ร่างกายมีออกซิเจนละลายอยู่เยอะก็ถือว่าโชคดีไป แต่บางคนต้องยอมแพ้ระหว่างทางไปสู่จุดหมายเพราะทนกับสภาวะนั้นไม่ไหวซึ่งเป็นการดีหากจะยอมรับและหันหลังกลับ ส่วนพวกที่สองจิตสองใจ ใจแข็งแต่กายไม่สู้อาจต้องเจอกับสภาะขาดอากาศจนหมดสติ หรือเลวร้ายกว่านั้นคือจบชีวิตที่นั่น
แววโชคดีที่เป็นคนกลุ่มแรก แต่ได้มีโอกาสเห็นคนสองกลุ่มหลังสัมผัสกับความรู้สึกที่ว่า "เมื่ออากาศมีอยู่อย่างจำกัด เมื่อนั้นมันจะมีค่ามากมาย มีความหมายมากกว่าสิ่งอื่นใดในชีวิต"
เลิกหายใจทิ้ง เอาลมหายใจมาทำประโยชน์ให้กับตัวเองและผู้อื่น
นี่คือตัวอย่างที่มันกระแทกใจแวว เจ็บปวดทำให้ตระหนัก มีจำกัดทำให้เห็นคุณค่า - ที่หิมาลัยมันแสดงให้เราเห็นชัดว่า เราตัวเล็กนิดเดียวเมื่อเทียบกับธรรมชาติ เราจะขอบคุณที่ธรรมชาตินั้นอนุญาตให้เราอยู่บนโลกใบนี้ อัตตาของเราจะลดลงไปโดยปริยาย
และทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เชื่อมต่อถึงกันทั้งนั้น - Everything is Connected!
แววถึงเชียร์ให้เพื่อนๆออกเดินทาง โดยเฉพาะสถานที่ๆมีธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ เพราะเราจะเรียนรู้สิ่งที่เราไม่ได้พบเจอบ่อยนักที่สอนโดยธรรมชาติ
แต่หากว่าเราไม่ต้องรอการออกเดินทาง หรือรอให้สูญเสียแล้วจึงจะตระหนัก เรามาเริ่มต้นทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งนับตั้งแต่วันนี้เลยดีกว่ามั้ย?
เหมือนกูรูทางด้านจิตวิญญาณ และการพัฒนาตัวเองหลายๆท่านสอนในเรื่อง Power of Gratitude ว่า ให้ขอบคุณ และเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่เสมอในทุกๆวันหลังตื่นนอน
ตอนนี้ลมหายใจจากอากาศที่เราใช้นั้น ทิ้งไปเฉยๆ หรือได้ทำบางสิ่งบางอย่างที่มีประโยชน์ มีคุณค่าต่อตนเองและผู้อื่นกัน
น้ำที่เราอาบเราปล่อยให้มันไหลทิ้งเฉยๆตอนที่เราแปรงฟัน และถูสบู่หรือไม่
ไฟที่เราใช้เปิดทิ้งสิ้นเปลืองเมื่อเราไม่ได้ใช้งานจริงๆหรือเปล่า
เราเคยขอบคุณที่มีธรรมชาติ ที่มีคนทำสิ่งนี้ให้เราได้ใช้บ้างหรือเปล่า
ร่วมกันลงมือทำสิ่งเล็กๆในวันนี้ และทุกๆวัน ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อคนรุ่นหลัง เพื่อสังคม ประเทศชาติ เพื่อโลกของเรา
จากประสบการณ์ตรงและบางช่วงบางตอนของ Power of Gratitude by Depak Chopra.
อรวรรณ พรหมศร
Yorumlar